เรียนรู้ไอเดีย ‘จีน’ แก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5

เรียนรู้ไอเดีย ‘จีน’ แก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5

ไทยน่าจะเดินตามรอยจีนในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศอย่างเข้มงวด

หลังจากผ่านพ้นวันแห่งความรักซึ่งตรงกับ 14 ก.พ. บางคนอาจเห็นมุก “ความรักก็เหมือนอากาศ รู้ว่ามีแต่มองไม่เห็น” แต่ถ้ารู้ว่าอากาศที่มองไม่เห็นช่วงนี้เต็มไปด้วย “ฝุ่นพิษ” ก็อาจไม่อยากมีความรักก็เป็นได้

ที่กล่าวถึงฝุ่นพิษ เพราะปัญหาคุณภาพอากาศย่ำแย่กลับมาหลอกหลอนหลายพื้นที่ในบ้านเราอีกครั้งเมื่อวานนี้ (14 ก.พ.) โดยเฉพาะเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร หลังก่อนหน้านี้เกิดกระแสตื่นตัวเป็นวงกว้างจนภาครัฐต้องขยับรับมือกันพักใหญ่และหน้ากากเอ็น 95 ขายดีจนขาดตลาด ก่อนเงียบหายไปเมื่อคุณภาพอากาศเริ่มดีขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์หลังสุด

ทว่า ข้อมูลคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ ณ เวลา 12.00 น. ของวันที่ 14 ก.พ. พบว่า ปริมาณฝุ่นละอองเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลา 07.00 น. โดย 13 พื้นที่มีฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน (50 มคก./ลบ.ม.) ขณะที่พื้นที่ส่วนใหญ่มีคุณภาพอากาศปานกลาง ก่อนที่สถานการณ์จะดีขึ้นในช่วงบ่าย และคาดว่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในวันนี้ (15 ก.พ.) มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นในบางพื้นที่ จากการดำเนินมาตรการเพื่อลดฝุ่นละอองของหน่วยงานต่าง ๆ อย่างเข้มข้น

เท่านั้นยังไม่พอ กรมควบคุมมลพิษยังพบว่า ในวันเดียวกัน คุณภาพอากาศใน 3 จังหวัดภาคกลาง (ปทุมธานี สมุทรสาคร และสมุทรปราการ) และ 7 จังหวัดภาคเหนือ (เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน แพร่ พะเยา และตาก) อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ

อันที่จริง ไทยน่าจะเดินตามรอยจีนในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศอย่างเข้มงวด เมื่อปีที่แล้ว รัฐบาลจีนทุ่มงบประมาณมหาศาลในการแก้ปัญหาฝุ่นพิษจนปริมาณฝุ่นในกรุงปักกิ่งลดลงอย่างเห็นได้ชัด

ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เป็นภัยเงียบคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกจำนวนมากในแต่ละปี ทำให้เมืองหลวงและเมืองใหญ่ของหลายประเทศ ออกมาตรการต่างๆ เพื่อรับมือกับปัญหานี้ เริ่มจากกรุงปักกิ่งและเมืองใหญ่ทั่วจีนที่แก้ปัญหาเรื่องนี้มา 5-6 ปีแล้ว และถือว่าประสบความสำเร็จด้วยดี เนื่องจากดำเนินการอย่างต่อเนื่องและจริงจังทั้งในภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาชน มีบทลงโทษขั้นรุนแรงสำหรับผู้ก่อมลพิษทางอากาศ 

ขณะที่ฟากวิชาการยังพยายามคิดค้นตัวช่วยใหม่ ๆ เพื่อป้องกันฝุ่นพิษนี้ ล่าสุด คณะนักวิทยาศาสตร์จีนได้พัฒนาหน้าต่างอัจฉริยะสามารถดักฝุ่น PM 2.5 ในอาคารให้ลดลงเหลือระดับปลอดภัยได้ในเวลาไม่ถึงนาที อีกทั้งยังใช้งานง่ายและมีราคาถูกเมื่อเทียบกับหน้าต่างดักฝุ่นแบบเก่า

หน้าต่างอัจฉริยะนี้เป็นผลงานของคณะนักวิทยาศาสตร์ที่นำโดยอาจารย์คนหนึ่งในมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีน และตีพิมพ์ในวารสาร “ไอไซเอินซ์” (iScience) วัสดุที่ใช้เป็นไนลอนขนาดนาโน สามารถลดปริมาณฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ได้ถึง 99.65% ลดความเข้มข้นของฝุ่น PM 2.5 จาก 248 มคก./ลบ.ม. เหลือ 32.9 มคก./ลบ.ม. ซึ่งเป็นระดับปลอดภัยได้ภายในเวลาเพียง 50 วินาที

ตาข่ายที่ทอจากไนลอนนาโนนี้ยังเคลือบด้วยสีที่สามารถเปลี่ยนไปตามอุณหภูมิ จึงปรับสีไปตามแสงสว่างภายในอาคาร อีกทั้งยังมีราคาถูก สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ และนำไปใช้กับพื้นที่ใหญ่ๆ ได้ง่าย สะดวกกว่าวัสดุดักฝุ่นแบบเก่า ตาข่ายไนลอนนาโนขนาด 7.5 ตร.ม. ราคาเพียง 100 หยวน (ประมาณ 464 บาท) ใช้เวลาติดตั้งเพียง 20 นาที ส่วนการล้างทำความสะอาดเพียงแค่แช่ในเอทิลแอลกอฮอล์หรือเอทานอลนาน 20 นาทีเท่านั้น

ส่วนในฮ่องกง ได้เปิดใช้หอคอยฟอกอากาศขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งอยู่ริมถนนบายพาส เซ็นทรัลหว่านไจ๋ เมื่อปลายเดือนที่แล้ว โดยใช้งบประมาณก่อสร้าง 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง และจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 11,000 ตันต่อปี หรือเท่ากับความสามารถดูดซับของต้นไม้ทั้งหมดในสวนสาธารณะวิกตอเรียพาร์ค 26 สวนรวมกัน

สำหรับมาตรการระยะสั้น ทางการจีนได้จำกัดการใช้รถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง กำหนดพื้นที่และเวลาที่ห้ามรถยนต์ส่วนตัววิ่งเข้าเมือง กำหนดทะเบียนเลขคู่และเลขคี่ สำหรับบางพื้นที่และบางเวลา ปรับปรุงอุตสาหกรรมรถยนต์ให้เปลี่ยนจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงมาเป็นใช้ไฟฟ้า กำหนดค่ามาตรฐานของน้ำมันให้สูงขึ้น ส่วนระยะยาว ได้ออกคำสั่งย้ายโรงงานอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษสูงออกไปจากเมืองใหญ่ให้ไปอยู่ในพื้นที่ห่างไกล

การแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในกรุงปักกิ่งที่ได้ผลในเวลาอันรวดเร็วเพราะเปลี่ยนให้ใช้รถประจำทางเป็นรถขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า 90-95% ควบคุมราคาสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันฝุ่น เช่น หน้ากากอนามัย ต้องมีราคาไม่แพง โดยรัฐบาลให้เงินอุดหนุนให้บริษัทเอกชนผลิตหน้ากากออกมาจำหน่ายในราคาไม่แพง เพื่อไม่ให้หน้ากากขาดตลาด

ข้อมูลองค์การอนามัยโลก หรือดับเบิลยูเอชโอ (WHO) ระบุว่า มลพิษทางอากาศถือเป็นภัยสุขภาพอันดับ 1 ในปีนี้ และคาดว่า ประชาชนในโลกทุก 9 ใน 10 คน หายใจเอามลพิษเข้าไปทุกวัน และอากาศสกปรกเป็นสาเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 7 ล้านคนต่อปี

แน่นอนว่า ปัญหามลพิษทางอากาศไม่อาจแก้ไขได้ภายในเร็ววัน แต่หากจะทำอย่างยั่งยืน ต้องอาศัยมาตรการที่จริงจังของรัฐบาลและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม ซึ่งแม้เป็นเรื่องไม่ง่ายนักแต่ก็อาจเป็นไปได้