เจาะลึก “เสื้อกั๊กเหลือง” ที่ฝรั่งเศส (3)

เจาะลึก “เสื้อกั๊กเหลือง” ที่ฝรั่งเศส (3)

มีการเปรียบเทียบที่น่าฟังว่า คนอเมริกันที่เลือกนายทรัมป์ก็ดี คนอังกฤษที่เลือกออกจากสหภาพยุโรป ( Brexit )ก็ดี ล้วนมีความรู้สึกนึกคิดแนวเดียว

กับกลุ่ม เสื้อกั๊กเหลือง” ของฝรั่งเศสนั่นเอง เป็นกลุ่มคนทางภูมิศาสตร์เศรษฐกิจสังคมการเมืองที่ร่วมกันโดยไม่จำเป็นต้องอยู่ในอาชีพเดียวกันหรือพื้นที่ภูมิศาสตร์เดียวกัน เพียงแต่ขนบและ “จินตนาการ” ทางการเมืองของคนฝรั่งเศสทำให้เกิดปรากฏการณ์แบบเสื้อกั๊กเหลืองขึ้นมาเป็นรูปธรรมทางการเมืองจับต้องได้ที่สุด

กลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองในฝรั่งเศสจะไปทิศทางไหน ?

หลังจากชุมนุมต่อเนื่องทุกเสาร์ตั้งแต่กลาง พ.ย. ปีที่แล้วบนถนนและที่สาธารณะ โดยเฉพาะย่านการค้ามีร้านรวงมากๆ ของเมือง ครั้งล่าสุด 9 ก.พ.เป็นครั้งที่ 13 “องก์ที่ 13 ” มากันประมาณ 51,000 คนทั่วประเทศซึ่งลดลงจากครั้งที่แล้ว เฉพาะ ที่กรุงปารีสมีมา 4,000 คน

ทว่าตอนนี้ประเด็นไม่อยู่ที่จำนวนคนมาชุมนุมอย่างเดียว แต่อยู่ที่ความต้องการและความรู้สึกนึกคิดของกลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองซึ่งส่ง-รับสารสนั่นไปทั่วประเทศและทั่วโลกแล้ว (อย่างที่นายเอดูอวา ฟิลลิป นายกฯฝรั่งเศสว่า ต้องหูหนวกถึงจะไม่ได้ยิน)

กลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองคือใครกัน มี จินตนาการทางการเมืองอย่างไร ต้องการและคิดอะไรอยู่ ? บอกอะไรบ้างไม่เพียงในสังคมฝรั่งเศสแต่ในสังคมโลกด้วย

อย่างที่ดาเนียล ตาร์ตาโควสกี้ ผู้เชี่ยวชาญความเคลื่อนไหวทางสังคมการเมืองฝรั่งเศส ในศตวรรษที่ 20 ตั้งข้อสังเกตไว้ตั้งแต่เสาร์ที่ 4 จากพฤติกรรมวิถีการชุมนุมว่า กลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองเป็นเพียง อาการ ของวิกฤติที่จะ ยั่งยืน” ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นการแสดงออกความโกรธความคับแค้นใจในชีวิตความเป็นอยู่ที่เดือดร้อนทนไม่ไหวและสะสมมานานแล้วโดยผู้บริหารบ้านเมืองไม่สนใจจะฟัง ไม่เห็นหัวพวกเขา ก็เลยต้องแสดงออกบอกกัน(แรงๆ)อย่างนั้น

กลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองก่อหวอดในต่างจังหวัดและดำเนินต่อเนื่อง ประเด็นนี้สำคัญมากจากที่ผ่านมาการชุมนุมทางการเมืองนับแต่ ค.ศ. 1798 เป็นต้นมาจะเกิดขึ้นที่เมืองหลวงเป็นหลัก ในครั้งนี้เมื่อกลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองได้เริ่มเข้าเมืองหลวงเสาร์ที่ 3 ของการชุมนุมโดยต่างคนต่างมาตามแบบฉบับดั้งเดิมของเสื้อกั๊กเหลืองที่มากันอย่างอิสระตามเครือข่ายโซเชียลมีเดีย ไม่มีหัวหน้า ไม่มีการจัดตั้งเป็นกิจลักษณะ ไม่ชูอุดมการณ์การเมืองอะไรในแนวซ้าย-ขวา เข้าล็อคระบบการเมืองรัฐสภาประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่จัดกันว่า “มั่นคง” เข้ารูปเข้ารอยแล้ว ปรากฎว่าเมื่อถึงกรุงปารีสหาได้ไปยังสถานที่พื้นที่อำนาจการเมืองทางรัฐสภา หรือทางบริหารทำเนียบประธานาธิบดีแต่อย่างใด แต่ตรงดิ่งไปพื้นที่ศูนย์กลางการเงินการบริโภคการท่องเที่ยวบันเทิงใจสุดหรู ได้แก่ย่านถนนชองป์เซลีเซ่ และประตูชัย ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ของคนอีกชั้นชนหนึ่งคือเป็นคนชั้นผู้นำ ( l'elite ) ของสังคมที่อยู่คนละโลกกับพวกเขาที่รายได้กำลังซื้อต่ำมีชีวิตอยู่ชายขอบตกขอบของสังคม

ด้วยความโกรธอัดอั้นเหลือทนที่เดือดร้อนมานานและผู้นำทอดทิ้งไม่เข้าใจไม่รับฟัง จึงเกิดความรุนแรงอย่างไม่ได้มีใครไปชี้แนะจัดตั้งให้ พากันทำลายร้านรวงขโมยข้าวของเผารถในพื้นที่ซึ่งตาม “จินตนาการ” ทางการเมืองของพวกเขาเป็นแหล่งที่อยู่ที่แสดงตัวของอำนาจ

พฤติกรรมดังกล่าวยังมีมาจนถึงวันนี้ ในต่างจังหวัดที่ต่อมามีชุมนุมที่สำนักงานมณฑลเขตต่างๆ ด้วยแต่ก็ควบคู่ไปกับการชุมนุมบนถนนและศูนย์การค้าการบริโภคด้วยเสมอ รวมทั้งทุบทำลายข้าวของเผารถ โดยฝ่ายตำรวจก็มีบาดเจ็บและใช้อาวุธปราบจลาจลเต็มขั้น ผู้ชุมนุมบาดเจ็บรุนแรงถึงขั้นเสียดวงตาก็มี ครั้งล่าสุดมีคนมือขาดด้วย จับผู้ชุมนุมป็นพันแต่ก็ปล่อยไปเป็นส่วนใหญ่ มีควบคุมตัวไว้บ้าง

กลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองประกอบด้วยกลุ่มประชาชนคนทำงานอาชีพอิสระทั่วๆไป งานบริการ ลูกจ้างและคนงาน พอกล่าวรวมๆได้ว่าเป็นพวกมนุษย์เงินเดือนซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่ใหญ่มากของสังคม เป็นกลุ่มที่ “ตกขบวน” กระบวนการโลกานุวัตรมากที่สุดคือขยับขึ้นก็ไม่ได้ มีแต่ถูกทิ้งให้ตกต่ำลง เช่นรายได้กำลังซื้อตกลงเรื่อยๆ รับความอยุติธรรมทางสังคมเต็มๆโดยเฉพาะการได้ประโยชน์จากเงินภาษี (ซึ่งพวกเขาไม่ได้ต่อต้านการเก็บภาษี) คำถามใหญ่คือทำไมจึงตกคืนมาถึงพวกเขาในรัฐบริการอย่างไม่ยุติธรรมเลยในทุกด้าน

พวกเขาเห็นว่ามีแต่คนรวยและคนในเมืองที่ได้แล้วได้อีกไม่ว่าจะในเรื่องปฎิรูปภาษี การสร้างงานและรายได้ คมนาคม สาธารณสุข สถานศึกษา ส่วนคนจนและคนรอบนอกเมืองหลวงโดยเฉพาะหมู่บ้านเล็กๆห่างตัวเมือง มีแต่จะยุบหน่วยงานรัฐบริการลงไปเรื่อยๆเพราะคนน้อยไม่รู้จักโวยวายและยังไงเสียงก็ไม่ดังพอ

เสื้อกั๊กเหลืองจำนวนมากบอกว่าที่ต้องขับรถก็หาใช่เพราะอยากมีรถ แต่เพราะพื้นที่อยู่อาศัยไม่มีและไม่สะดวกใช้บริการขนส่งสาธารณะเหมือนคนในเมืองหลวงเมืองใหญ่ การที่ประธานาธิบดีอยากเป็นผู้นำโลกรณรงค์เรื่องโลกร้อนแล้วมาขึ้นราคาน้ำมันอย่างไม่ดูตาม้าตาเรือส่งผลถึงพวกเขาอย่างจัง 

จนกลายเป็นไม้ขีดก้านแรกจุดประกายเกิดกลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองนั่นอย่างไร

ทีนี้เอาละสิ กลุ่มคนประสบปัญหาคล้ายๆกันทั้งเกษตรกรและมนุษย์เงินเดือนอาชีพต่างๆ รวมทั้งแพทย์ พยาบาล ครู ทนายความ ฯลฯ ทั้งเรื่องใช้รถ เรื่องรายได้กำลังซื้อตกต่ำ เรื่องขาดแคลนรัฐบริการ เช่นแพทย์ การศึกษา เบี้ยวัยชรา ฯ พากันสนับสนุนกลุ่มเสื้อกั๊กเหลือง เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงนอกลู่การเมืองระบบรัฐสภาประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งตัวแทนที่พวกเขาเห็นว่าล้าสมัยไม่ทันการณ์และเต็มไปด้วยการฉ้อฉล

คุณดาเนียล บอกว่า ความรู้สึกทั้งหมดนี้ เมื่อบวกกับ“จินตนาการ”ทางการเมืองของคนฝรั่งเศสที่มีทุนเดิมอยู่ว่าเป็นชาติที่สร้างมรดกการปฏิวัติ ค.ศ. 1789 ให้แก่โลก และเมื่อใดประชาชนชุมนุมบนถนนก็จะชนะและสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ทำให้เกิด “จินตนาการ” ที่ฮึกเหิมมากๆเป็นพลังขับเคลื่อนยกกำลังสอง ทั้งๆที่ในความเป็นจริงวิถีชุมนุมบนท้องถนนใช้การไม่ได้มาตั้งแต่ขึ้น ค.ศ. 2000 ที่พลังสหภาพแบบเดิมๆได้ค่อยๆสิ้นมนต์ขลังมาจนถึงจุดจบ

ณ ขณะนี้ กลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองเริ่มแบ่งเป็นสองแนวทาง คือแนวดั้งเดิม ขอชุมนุมแบบเดิมไปเรื่อยๆ ด้วยข้อเรียกร้องและจุดยืนดั้งเดิมที่มีแต่แรก ปฏิเสธการร่วมและแก้ระบบโน่นนิด นี่หน่อย รวมทั้งการเสวนาแห่งชาติที่รัฐบาลกำลังทำอยู่นั่นด้วยว่าจะไม่มีผลอะไร ด้านความรุนแรงก็ต้องจัดการเพราะอยากชุมนุมโดยสันติและตำรวจก็ต้องหยุดวิธีรุนแรง ส่วนอีกแนวเห็นว่าที่สุดแล้วจะชุมนุมถึงเมื่อไรและจะได้อะไรขึ้นมา ควรเข้าสู่ระบบการจัดสรรอำนาจอย่างที่เป็นอยู่ เริ่มด้วยการมีตัวแทนโดยจะเข้าสู่การเลือกตั้งผู้แทนสภายุโรปที่กำลังจะมีขึ้น คนแรกที่แสดงตัวเปิดเผยเป็นหญิงอาชีพผู้ช่วยพยาบาล วัย 32 เลี้ยงลูกด้วยตัวคนเดียว ชื่อ อินกริด เลอลาเวสเซอร์

แต่แรกๆ คุณอิงกริด ก็ได้ออกหน้าไปพูดที่ั่นั่นที่นี่ในบรรยากาศที่ถกเถียงอย่างหนักเป็นการภายในเรื่องสองแนวทางดังกล่าวโดยมวลชนก็ได้ฟังด้วยทางโซเชียลมีเดีย แต่ล่าสุดต้นก.พ. หลังออกรายการเล่าเรื่องขบวนการเสื้อกั๊กเหลืองทาง BMFTV ได้ค่าจ้างครั้งละ 150 ยูโร (ประมาณหกพันบาท) เธอก็ถูกขู่ประทุษร้ายจนเธอขอหยุดรายการ ฝ่ายแนวทางแรกได้บอกเธอและอีกหลายคนที่เสนอจะเป็น ตัวแทนเข้าระบบการจัดสรรอำนาจอย่างที่เป็นอยู่ว่า เชิญไปได้ตามสบาย แต่ว่าช่วยถอดเสื้อกั๊กเหลืองออกด้วย. (ตอนต่อไปเกี่ยวกับ วิกฤติศรัทธาเศรษฐกิจการเมืองของกลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองที่มีต่อประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งตัวแทนและกลุ่มประชากรแบ่งตามภูมิศาสตร์เศรษฐกิจสังคมยุคโลกานุวัตร )