Fed Zone ระวัง..สิ้นสุดดอกเบี้ยขาขึ้น

Fed Zone ระวัง..สิ้นสุดดอกเบี้ยขาขึ้น

ในที่สุด เศรษฐกิจและตลาดการเงินที่ผันผวน ก็ส่งผลกระทบกับนโยบายการเงิน

การ “กลับลำ” ของธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด กลายเป็นเรื่องที่เซอร์ไพรส์นักวิเคราะห์ทั้งตลาดมากที่สุดในช่วงต้นปีนี้ไปเป็นที่เรียบร้อย

เพราะในการประชุมนโยบายการเงินของเฟดครั้งล่าสุด เฟดเลือกที่จะไม่ทนรับแรงกดดันจากทั้งปัญหาการค้าระหว่างประเทศ การเมืองสหรัฐ และตลาดทุนที่ผันผวน ด้วยการปรับนโยบายการเงินไปแทบทั้งหมด

มุมมองที่สะท้อน “ความเข้มงวด” ในเดือนธันวาคม ถูกแทนที่ด้วย “ความอดทน” ที่จะไม่รีบปรับนโยบายการเงินไปจากปัจจุบัน เปรียบเสมือนการส่งสัญญาณว่า การขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้ได้มาถึงจุดสิ้นสุด

สิ่งที่เราต้องรู้ให้ทันคือ “อะไรกำลังจะเกิดขึ้น” กับตลาดเงินตลาดทุน

ส่วนตัวแล้ว ผมเองก็แปลกใจไม่ต่างกับนักวิเคราะห์สำนักอื่น แต่ก็มองว่าการกลับลำครั้งนี้ ส่งผลให้ทั้งเศรษฐกิจและตลาดการเงินน่าสนใจไปอีกแบบ

ยิ่งถ้าเราย้อนดูตลาดทุนหลังจบรอบการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในอดีต สี่ครั้งหลังสุด (1989 1995 2000 และ 2006) ยิ่งจะพบว่าการเปลี่ยนแปลงแต่ละครั้ง มีทั้งความเหมือนและต่างกันในหลายมิติ ขณะที่ครั้งนี้ก็มีความน่าสนใจในหลายแง่มุม

มองจากฝั่งเศรษฐกิจ การหยุดขึ้นดอกเบี้ยในอดีตมักเป็นสัญญาณลบ

เพราะการหยุดขึ้นดอกเบี้ยมัก “เกิดหลัง” จากเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ขาลงแล้ว และสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาทุกครั้งจึงเป็นภาพที่เศรษฐกิจสหรัฐไม่สามารถกลับสู่ช่วงขยายตัวดีได้

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตที่กำลังอยู่ในช่วงขยายตัว (55 จุด) จะพลิกลงไปอยู่ในช่วงหดตัว (45 จุด) ต่อเนื่องติดกันอย่างมากถึงสองปีหลังจากเฟดขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้าย

แต่ครั้งนี้ การหยุดขึ้นดอกเบี้ยกลับ “เกิดก่อน” ที่เศรษฐกิจจะมีปัญหา

ด้วยภาวะปัจจุบันที่ตลาดแรงงานสหรัฐยังขยายตัวต่อเนื่อง เงินเฟ้อก็ไม่สูง เศรษฐกิจอาจชะลอตัวลงบ้าง แต่ก็ยังห่างไกลจุดที่ต้องกังวลเรื่องภาวะถดถอยอยู่มาก การหยุดขึ้นดอกเบี้ยจึงดูไม่ได้น่ากลัวเหมือนครั้งก่อน ๆ

กลับมาที่ตลาดเงิน การขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายมักเป็นสัญญาณบวก

ที่ชัดเจนที่สุดคือตลาดตราสารหนี้ ในอดีตบอนด์ยิลด์สหรัฐอายุ 10 ปีจะปรับตัวลงทุกครั้งในช่วงสองปีหลังที่การขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายผ่านพ้นไปแล้ว (เฉลี่ยราว 1.0%) หมายความว่าการกลับลำของเฟดสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนในตลาด

เพราะแม้เฟดอาจไม่ลดดอกเบี้ยลงทันที แต่โอกาสในการขึ้นดอกเบี้ยก็จะอยู่ในระดับต่ำ ยิ่งถ้าครั้งไหนการขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายตามมาด้วยปัญหาเศรษฐกิจ ตลาดก็จะเลือกพักเงินไว้ในบอนด์ด้วยความหวังว่าดอกเบี้ยจะกลับเป็น “ขาลง” ในอนาคต ซึ่งมุมมองและเหตุผลเหล่านี้เหมือนในปัจจุบันไม่ผิดเพี้ยน

ส่วนฝั่งหุ้นเอง ต้องตอบคำถามเพิ่มเติมว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยกำลังจะเกิดขึ้นตามหรือไม่

ในอดีต ปีที่ดีที่สุดคือ ปี 1995 หลังจากจบรอบของดอกเบี้ยขาขึ้นแต่เศรษฐกิจสหรัฐไม่พบกับภาวะถดถอย ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นถึง 27% ในปีถัดมา ในอีกมุมหนึ่ง ปี 2000 คือปีที่แย่ที่สุด เนื่องจากเกิดวิกฤติดอทคอมในสหรัฐ ส่งผลให้ S&P500 ปรับตัวลงถึง 12% ในช่วงหนึ่งปีหลังจากที่เฟดหยุดขึ้นดอกเบี้ย

สุดท้าย ตลาดทุนแต่ละประเทศจะมีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น เมื่อการขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายผ่านไปแล้ว

ในทางทฤษฎีเมื่อปาร์ตี้ใหญ่จบ นักลงทุนทั่วโลกก็จะทยอยลดความสนใจในสินทรัพย์ฝั่งสหรัฐลงตามลำดับ

ในทางปฏิบัติก็เช่นกัน เปรียบเทียบความสัมพันธ์ (Correlation) ระหว่างหุ้นไทยและสหรัฐ ในช่วงหนึ่งปีก่อนและหลังการขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้าย พบว่าความสัมพันธ์จะลดลงจากระดับ 0.57 เหลือ 0.45

ดังนั้น ต่อให้หุ้นสหรัฐจะรีบาวด์แรง หุ้นไทยก็อาจไม่ได้ขยับตามการเปิดรับความเสี่ยงเท่ากับในช่วงก่อนหน้า แต่ในทางกลับกัน ถ้าเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัว หุ้นสหรัฐร่วง ก็ไม่ได้หมายความว่า หุ้นไทยจะอ่อนไหวตามเช่นกัน

เมื่อเรารู้อย่างนี้แล้วก็ต้องปรับตัวให้เท่าทัน ตลาดที่เป็น Risk On หรือ Risk Off อาจไม่สำคัญต่อตลาดการเงินเท่ากับการเมืองหรือเศรษฐกิจในประเทศ

แม้ผมจะมองว่าการกลับลำของเฟดเป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมายและเป็นเรื่องเซอร์ไพรส์แรกของปี แต่ผมเชื่อว่าปีนี้ก็จะเป็นอีกหนึ่งปีที่เราต้องปรับตัวให้เร็ว รับการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลา

และจงมั่นใจว่านโยบายการเงินจะไม่ใช่เรื่องสุดท้ายที่เราต้องประหลาดใจในปีนี้แน่นอน