เหรียญสองด้านของเทคโนโลยีดิจิทัล

เหรียญสองด้านของเทคโนโลยีดิจิทัล

ในระหว่างการเตรียมข้อมูลเรื่องแนวโน้มเทคโนโลยีดิจิทัล สำหรับ ปีพ.ศ. 2562 ของผู้เขียน ได้พบบทความชิ้นหนึ่งจาก web ของ BBC NEWS

บทความนี้มีเนื้อหาที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะได้กล่าวถึงแนวโน้มการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ ซึ่งแน่นอนว่ามันมีสองด้าน ทั้งด้านบวกและด้านลบ จึงขอนำมาเรียบเรียงเผยแพร่ให้ท่านได้ตระหนักและรับรู้เฉพาะเหรียญในอีกด้านหนึ่งที่เป็นด้านลบ ด้านมืด เพื่อเตรียมตัวรับผลกระทบที่ท่านอาจจะคาดไม่ถึงจากการใช้เทคโนโลยีก็เป็นได้

การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในปัจจุบัน จะอยู่บนเทคโนโลยีพื้นฐานสำคัญ 3 ประการคือ 1) Artificial Intelligence, AI เราจะเห็นการนำเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติและระบบปัญญาประดิษฐ์มาใช้มากขึ้นในรูปแบบผู้ช่วยดิจิทัล (digital assistant) เช่น chat bot สำหรับงานบริการลูกค้า ระบบจดจำใบหน้าและวัตถุต่าง ๆ ที่นำไปประยุกต์ใช้งานได้มากมาย ไปจนถึงผู้ช่วยรังสีแพทย์ในการวิเคราะห์ภาพจากอุปกรณ์ MRI, CT-Scan และอื่นๆ เป็นต้น 2) Internet of Things, IOTs การนำเอาข้อมูลปริมาณมหาศาลมาประมวลผล วิเคราะห์ และตัดสินใจ ทั้งข้อมูลจากภายในองค์กรจากระบบงานหลักอย่าง ERP ร่วมกับข้อมูลจากภายนอกองค์กรโดยเฉพาะจาก social networks ตลอดจนการการนำข้อมูลจากอุปกรณ์ IoTs ต่างๆ มาประมวลผลร่วมกัน ทำให้เห็นความสัมพันธ์ ความเป็นเหตุเป็นผลแบบที่เราไม่เคยทราบมาก่อน คือสิ่งที่เราคุ้นเคยกับคำว่า big data analytics ร่วมกับระบบควบคุมและจัดสรรทรัพยากรจำพวก smart ทั้งหลาย เช่น smart city, smart grid, smart farming เป็นต้น และ 3) blockchain นอกเหลือจากการประยุกต์ใช้กับเงินดิจิทัลแล้ว blockchain ยังมีแนวโน้มการประยุกต์ใช้อีกหลายแบบ โดยเฉพาะการเปลี่ยนโลกไปสู่ระบบเศรษฐศาสตร์แบบแบ่งปันโดยไม่ต้องใช้คนกลาง เป็นต้น

เราจะเห็นได้ว่าข้อมูลมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในโลกดิจิทัล แต่หากข้อมูลตกไปอยู่ในมือของผู้ไม่หวังดี และนำไปใช้ในทางที่ผิด ย่อมเป็นเหรียญอีกด้านหนึ่งของเทคโนโลยี  เช่น Fake News เกิดจากการนำเทคโนโลยี AI ที่เรียกว่า deep learning กับการสังเคราะหภาพคน (เรียกเป็นคำใหม่ว่า “deepfake”) โดยการตัดต่อหรือจำลองภาพใบหน้าคนหนึ่งไปใส่ในภาพของอีกคนหนึ่ง และปัจจุบันก้าวไกลไปถึงทำเป็นภาพเคลื่อนไหว จำลองปากและเสียงให้เคลื่อนไหวตามคำพูดใดๆ ก็ได้ตามต้องการ เมื่อเร็วๆ นี้สำนักข่าวซินหัวของจีนได้เผยแพร่คลิปผู้ประกาศข่าว AI ที่ประกาศข่าวเป็นภาษาอังกฤษได้อย่างแนบเนียน และยากที่สายตาคนธรรมดาทั่วๆ ไปจะแยกแยะ

เทคโนโลยีนี้กำลังพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว อีกทั้งต้นทุนในการสร้างก็ต่ำลงมาก ทำให้อาจมีผู้ไม่หวังดีสามารถสร้างข่าวลวงให้ผู้นำประเทศหนึ่งประกาศสงคราม หรือสร้างข่าวลวงโฆษณาชวนเชื่อหวังผลทางการเมือง ฯลฯ บทความของ BBC จึงกล่าวว่า หากเราไม่สามารถไว้ใจในสิ่งที่เห็นและสิ่งที่ได้ยินอีกต่อไปแล้ว มันก็คือ “the end of truth as we know it?” นั่นเอง

เรื่องที่สองความปลอดภัยทางไซเบอร์ เรากำลังเผชิญความท้าทายในรูปแบบใหม่ๆ โดยเฉพาะ IoTs ได้เปิดช่องโหว่ทางด้านความปลอดภัยให้กว้างขึ้น ทำให้ผู้ไม่ประสงค์ดีมีช่องทางโจมตีได้ง่าย นอกจากนี้ยังมีการใช้เทคโนโลยี AI มาสร้างมัลแวร์ (AI-powered malware) ทำให้การป้องกันยากเป็นทวีคูณ นอกจากนั้น เรายังต้องเผชิญกับผู้ไม่หวังดีในระดับประเทศ (state-sponsored hackers) ซึ่งมีความรู้ความชำนาญในระดับสูง จะกลายเป็นภัยคุกคามที่น่ากลัวอย่างยิ่ง และแน่นอนที่เป้าหมายในการโจมตีก็คือระบบโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ เช่นระบบ smart grid ที่ควบคุมการจ่ายกระแสไฟฟ้า ระบบโทรคมนาคม อันมี IoTs เป็นส่วนประกอบสำคัญในปัจจุบัน หรือโจมตีระบบการเงิน การธนาคารของประเทศ หากระบบโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญเช่นนี้ล่มแล้ว จะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ เป็นสงคราม เป็นการรบในโลกยุคใหม่ที่ไม่ต้องใช้อาวุธ แต่การรบกันทางโลกไซเบอร์ (cyber warfare) นั่นเอง

นอกเหนือจากภัยด้านมืดของเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบในวงกว้างระดับประเทศแค่ 2 ประการข้างต้นแล้ว เรายังต้องเผชิญภัยในระดับปัจเจกบุคคล เช่น การหลองลวงทาง social networks ภัยจากมิจฉาชีพที่ขโมยข้อมูลส่วนบุคคลของเราไปปลอมแปลงเป็นตัวเรา ฯลฯ ล้วนเป็นความเสี่ยงที่แต่ละท่านต้องใช้สติ การระแวดระวัง การรู้เท่าทัน และการป้องกันตนเองจากภัยคุกคามกันอย่างสุดความสามารถ เราคงไม่ต้องปฏิเสธการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพราะนอกจากข้อดีของเทคโนโลยียังมีมากแล้ว เรายังเป็นผู้ควบคุมและเป็นผู้เลือก ดังนั้นเราต้องเลือกใช้เทคโนโลยีจากผู้ให้บริการที่มีความรับผิดชอบ และมีความน่าเชื่อถือสูงสุดเท่านั้น และอย่ากดปุ่ม “ยอมรับ” โดยไม่ได้อ่านข้อความที่ยาวมาก ๆ นั้นโดยง่าย

เอกสารอ้างอิง: Wall, Matthew (2019), Tech trends 2019: ‘The end of truth as we know it?’. BBC NEWS. Retrieved from https://www.bbc.com/news/business-46745742

โดย... 

ดร.ทนุสิทธิ์ สกุณวัฒน์

[email protected]