จุดแข็งอินเตอร์

จุดแข็งอินเตอร์

อยากโกอินเตอร์ต้องมีจุดแข็ง

ผมมีโอกาสได้พูดและเขียนถึง Strengths-Based Leadership มาหลายปี หัวใจของมันคือการพัฒนาด้วยการเน้นจุดแข็งแทนการโฟกัสที่จุดอ่อน

ใครมีโอกาสได้อ่านหนังสือ Now Discover Your Strengths หรือ Strengths Finder 2.0 ของ Gallup และ Marcus Buckingham คงพอจำได้ว่า การทำงานแบบเจาะจุดแข็งเชื่อว่ามนุษย์พัฒนาได้ดีกว่าในสิ่งที่เราทำได้ดีอยู่แล้ว ไม่ใช่สิ่งที่ธรรมชาติของเราไม่ถนัด โดยผู้เขียนกล่าวถึงจุดแข็ง 34 ประการที่แยกย่อยไว้ ซึ่งเมื่อเราทำแบบประเมินออนไลน์แล้ว ระบบจะบอกว่า Top 5 จุดแข็งของเราคืออะไร

“อย่าเสียเวลาสร้างสิ่งที่เขาขาด แต่จงดึงสิ่งที่เขามีออกมาใช้” Don’t waste time putting in what isn’t there. Try to pull out what is there. That is difficult enough.

สูตรที่ผมเคยเขียนไว้ในหนังสือ “ผู้นำสมองใคร ๆ ก็เป็นได้” คือ F à A+ à C กำจัดจุดตาย เน้นจุดแข็ง อย่ามัวสนใจจุดอ่อน

การโกอินเตอร์ยิ่งต้องใช้หลักนี้เป็นพิเศษ หากเราไม่สามารถหาและสร้างจุดแข็งให้กับตัวเองได้ โอกาสที่คนจะลงทุนจ้างเราออกไปอยู่ต่างประเทศยิ่งน้อย

เพราะอย่าลืมว่า การจ้างเราออกไปเป็น Expat หมายความว่าธุรกิจนั้น ๆ ไม่สามารถหาคนอื่นในประเทศทดแทนได้ จึงต้องใช้คนนอกประเทศเข้าไปทำ อย่างตอนผมไปอยู่ KL บริษัทก็ต้องยื่นหนังสือไปที่รัฐบาลเพื่อชี้แจงว่าทำไมต้องจ้างผม

ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีกมากมายที่ตามมา ทั้งค่ากินอยู่ ค่าโรงเรียนลูก ค่ารถ ซึ่งโดยทั่วไป Expat Package จะรวมสิ่งเหล่านี้ไว้หมด (ใครสนใจอ่านเพิ่มเติมได้ที่ตอน Expat ในหนังสือ เส้นทางแห่งผู้นำ ครับ)

งั้นแบบฝึกหัดในตอนนี้สำหรับคนที่เริ่มมองเส้นทางอินเตอร์ของตัวเอง ลองมองสิ่งเหล่านี้ครับ

1. จุดแข็งของเราอยู่ตรงไหน คืออะไร แล้วเริ่มพัฒนาสิ่งนั้น

อย่างผมทำเรื่องสมองกับผู้นำ Brain-Based Leadership เพราะตอนนั้นยังไม่มีใครสนใจจุดนี้มากนัก ผนวกกับการที่ผมเป็นนักวิทยาศาสตร์โดยประวัติ สามารถจับเรื่องวิทย์กับเรื่องศิลป์มาประสานกันได้อย่างที่คนอื่นลอกเลียนลำบาก

2. ระวังการพัฒนาจุดแข็งที่แคบเกินไป

หากคุณมองตลาดอินเตอร์ ต้องคิดเผื่อไว้ด้วยว่าจุดแข็งมันกว้างพอที่จะครอบคลุมความต้องการนอกประเทศ เช่น แม้จะสอนเรื่องการสื่อสาร Communication ได้ดี มันอาจยากที่จะขยายผล เพราะการสื่อสารใคร ๆ ก็ทำกัน งั้นต้องมองเรื่องที่กว้างและไกลเกินกว่าการพัฒนาสกิลทั่ว ๆ ไป

3. เร่งสร้าง Content เป็นของตนเอง

จุดนี้สำคัญมาก ผมมีเวลาเพียง 45 นาทีในการนำเสนอว่าเหตุใดบริษัทควรเลือกผม การมีหนังสือในชื่อตัวเอง 2-3 เล่มช่วยในการสร้างความน่าเชื่อถือ (แม้จะไม่มีใครอ่านออกก็ตาม) CEO ถามผมว่า สิ่งที่เขียนและเล่ามานั้นผมคิดเองใช่ไหม คำตอบอย่างเต็มปากในวันนั้นว่าใช่ เป็นสาเหตุสำคัญในการที่ทำให้ผมได้มาอยู่ตรงนี้

4. รู้และปิดจุดอ่อนอย่าให้เป็นจุดตาย

จุดอ่อนของผมคือภาษาอังกฤษ จะอย่างไรผมก็ไม่สามารถพูดแบบเจ้าของภาษาได้ ตอนมาใหม่ ๆ 6 เดือนแรก ยังต้องคิดไปพูดไปเพราะกลับไปทำงานเมืองไทยมากว่า 10 ปีไม่ได้ใช้เลย วิธีสู้ของผมคือการเขียนบทความภาษาอังกฤษในเดือนแรก (เพราะเขียนง่ายกว่าพูด) ทุกสัปดาห์เพื่อให้ CEO เห็นว่าจุดอ่อนตรงนี้ไม่ใช่จุดตาย

5. อย่าหยุดพัฒนาต้องปรับตัวตามบริบท

หากใครติดตามคอลัมน์ของผมมา คงสังเกตได้ว่าช่วงหลังนี้ผมลดเรื่อง Brain-Based ลงไปค่อนข้างมาก และมาเน้นเรื่องการ Leading-Out-of-Thailand ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบทเรียนอะไรจากสมองสู่ผู้นำ เขียนไปเยอะแล้วในหนังสือ 3 เล่มแรก

แต่ที่สำคัญกว่าคือ จุดแข็งที่ผมเคยใช้เพื่อให้ได้โอกาสนี้ พอออกมาในเวทีใหญ่แล้วมันไม่ได้เป็นจุดแข็งที่ใช้ได้ดีอีกต่อไป บนเวทีอินเตอร์มีผู้เชี่ยวชาญด้าน Brain อีกมากมายหลายคน แค่เพื่อนอาจารย์ด้วยกันที่นี่ก็มีหัวข้อการสอนเช่น Decision Making หรือ Coaching ที่ชนกันหลายเรื่อง

ผมจึงผันตัวเองมาเน้นเรื่องการพัฒนาภาวะผู้นำในบริบทของ West และ East ซึ่งคนอเมริกันหรือออสเตรเลียไม่สามารถพูดได้เต็มปากเหมือนผม รวมถึงการเน้นเรื่อง Leadership ในยุค 4.0 หรือ Open Source Era ซึ่งเป็นจุดแข็งของงานวิจัยและสถาบันที่นี่

งั้นหากอยากลองพัฒนาตนเองในระดับอินเตอร์ ลองหยุดพิจารณา ถามตัวเองว่า “จุดแข็งของเราคืออะไร?” และ “มันมีค่าเพียงพอไหมกับสิ่งที่บริษัทต้องชดเชยให้ในฐานะ Expat?”

คำตอบที่ได้จะบอกคุณเองครับว่าควรเดินต่อไปทางไหนดี