ล้มรถไฟฟ้าความเร็วสูง! “ข้าไม่ได้ เอ็งก็อย่าได้”

ล้มรถไฟฟ้าความเร็วสูง!  “ข้าไม่ได้ เอ็งก็อย่าได้”

เกือบสองเดือนนับแต่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ให้เอกชนผู้สนใจยื่นแผนลงทุนก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

 เมื่อ 12 ธันวาคม 2561 ในรูปแบบการลงทุนแบบ ppp คือเอกชนลงทุนก่อสร้างแล้วรัฐผ่อนชำระคืนเมื่อโครงการเสร็จสิ้นแล้ว

รฟท. ได้เรียกเอกชนรายแรกที่ยื่นข้อเสนอเรียกผลตอบแทนจากรัฐต่ำสุดมาเจรจาเงื่อนไข นั่นคือกลุ่ม ซีพี แต่การเจรจายืดเยื้อ เพราะข้อเสนอหรือเงื่อนไขที่กลุ่มซีพีเสนอในโครงการนี้ “ยาก” ที่คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกเอกชนผู้เข้าลงทุนจะยุติได้ เพราะกรรมการบางคนเกรงว่าข้อเสนอของเอกชนที่เสนอเรียกผลตอบแทนจากรัฐในเชิงตัวเลขงบประมาณจะต่ำ แต่ข้อเสนอนั้นอาจจะเข้าข่ายไม่ชอบด้วยเงื่อนไขการประมูลได้

มีรายงานว่าติดขัดกันถึง 11 เงื่อนไข ทำให้การเจรจาถูกผลัดออกไปหลายรอบ แต่ที่เป็นหัวข้อใหญ่จริง คือการประกันผลกำไร การรับประกันอัตราดอกเบี้ยต่ำและการชำระเงินของภาครัฐทันทีที่เริ่มก่อสร้าง มิใช่โครงการเสร็จแล้ว ทำให้เงื่อนไขเหล่านี้เป็นอุปสรรคในการเดินหน้าเจรจาต่อระหว่างกรรมการคัดเลือกกับเอกชนหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยอมถอย

แต่ถ้าคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกทั้ง 7 คน อันประกอบด้วย วรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่า รฟท. (ประธาน),ภูษิต ชัยฤทธิ์พงศ์ ผู้แทนคมนาคม,ธาริศร์ อิสระยั่งยืน ผู้แทนอีอีซี,วิเชียร สุดรุ่ง ผู้แทนอัยการสูงสุด,กนกรัตน์ ขุนทอง ผู้แทนสำนักงบประมาณ,พิมเพ็ญ ลัดพลี ผู้แทน สบน.และสุจิตต์ เชาวน์ศิริกุล ผู้แทน รฟท. กรรมการและเลขานุการ ยอมถอยและไปกระทำผิด TOR ที่ประกาศไว้ก่อนการยื่นซองประมูล ก็อาจจะเข้าข่ายปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

จึงมีข่าวว่ามีการวิ่งเต้นที่จะให้มีการล้มประมูลครั้งนี้เสีย แล้วให้ รฟท. เขียน TOR ใหม่เพื่อเปิดประมูลรอบใหม่ หากเป็นดังนั้นนอกจากการเกิดขึ้นของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบินจะล่าช้าเพราะ “แท้ง” เสียตั้งแต่ก่อนเกิด เอกชนรายอื่นก็อาจจะยื่นฟ้องคณะกรรมการพิจารณาและ รฟท. ที่คิดล้มการประมูลครั้งนี้

จงอย่าให้ใครนินทาได้ว่า คณะกรรมการและ รฟท. ช่วยเหลือใครโดยไม่ถูกต้องเพราะมีประกาศิตจากใครบางคนว่า “ถ้าข้าไม่ได้ เอ็งก็หวังว่าอย่าได้” ทั้ง รฟท.และคณะกรรมการอย่าเอาเกียรติและศักดิ์ศรีที่ท่านมี มาทิ้งไว้เพียงแค่นี้ จงทำสิ่งที่ถูกต้อง!