ก้าวตามเก้าเทคโนโลยียุค 4.0

ก้าวตามเก้าเทคโนโลยียุค 4.0

พร้อมหรือยังที่จะออกแบบแนวทางการทำงานใหม่ๆ ทบทวนกระบวนการทำงานแบบเดิมๆ เรียนรู้เทคโนโลยี และทดลองนำมาประยุกต์ใช้ให้มากขึ้น

ยกระดับปรับกระบวนทัพให้ทันสมัยจาก 2.0 (ใช้แรงงานคนเป็นหลัก) สู่ 3.0 ที่คนควบคุมสั่งการเครื่องจักรอัตโนมัติ ควบคู่ไปกับระบบสารสนเทศที่รายงานสถานะและผลลัพธ์ได้ในทันที

ส่วนองค์กรใดที่เป็น 3.0 ก็อาจลองขยับปรับตัวไปสู่ 4.0 ที่มุ่งเน้นการเชื่อมโยงข้อมูลผ่านโครงข่ายไร้สายและอินเทอร์เน็ต การควบคุมระยะไกล การตรวจติดตามสถานะ และการเชื่อมโยงคำสั่งทั้งซัพพลายเชน (ตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำ) พร้อมระบบการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีความหลากหลายและต้องการความรวดเร็วสูง ซึ่งทั้งหลายทั้งมวลนี้ทำได้ด้วยการใช้เทคโนโลยีใหม่ที่ทันสมัย (new solutions to old problems)

เมื่อพูดถึงเทคโนโลยีซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับองค์กรแบบก้าวกระโดดแล้ว อาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มคือ เทคโนโลยีแนวนอน และเทคโนโลยีแนวตั้ง โดยเทคโนโลยีแนวตั้งหมายถึงเทคโนโลยีเฉพาะด้านที่พัฒนาและสร้างคุณค่าให้กับบางสาขาโดยเฉพาะ อาทิ เทคโนโลยีทางการแพทย์ เทคโนโลยีอาหาร เทคโนโลยีการเกษตร เทคโนโลยีการก่อสร้าง เทคโนโลยีการสื่อสาร เทคโนโลยีอวกาศ เป็นต้น ในขณะที่เทคโนโลยีแนวนอนเป็นเทคโนโลยีสามัญทั่วไป ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับระบบงานและวิธีการทำงาน ตลอดจนข้อมูลข่าวสารต่างๆ จากเดิมที่เป็น Information technology แต่ปัจจุบันมันกว้างไกลกว่านั้นและไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่าจะต้องใช้คอมพิวเตอร์เป็นอุปกรณ์หลักในการติดต่อสื่อสาร หากแต่เป็นอุปกรณ์ใดๆก็ได้ เพราะต่อไปนี้อุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆจะมีสมองกลเล็กๆช่วยประมวลผลอะไรบางอย่างได้เอง Digital Technology จึงเป็นเหมือนยาสามัญประจำองค์กร ที่ไม่มีไม่ได้แล้ว

ถ้าองค์กรใดอยากจะก้าวต่อไปอย่างสง่างาม คงเป็นไปได้ยากที่จะเพิกเฉยหรือมองข้ามความสำคัญของ Digital Technology และเก้าเทคโนโลยีที่จะมีบทบาทอย่างมากทำให้องค์กรที่เน้นระบบงานมาตรฐาน (Standard) กลายเป็นองค์กรที่ชาญฉลาด (Smart) ขึ้นมาทันที เรียนรู้แล้วเลือกใช้ให้เหมาะสมกับความจำเป็นขององค์กร ดังนี้

  1. หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Autonomous Robot) มีทั้งที่นำมาทดแทนคน ในงานเสี่ยงภัยและมีอันตรายสูง งานที่ต้องใช้แรงและกำลังมากซี่งอาจทำได้ยากเพราะความเหนื่อยล้าของคน งานซ้ำๆที่ต้องการความเที่ยงตรงแม่นยำสูง โดยการพัฒนาคนให้มีศักยภาพและความสามารถในการโปรแกรมสั่งการ และควบคุมอุปกรณ์เหล่านี้ให้ทำงานสอดประสานกัน จึงไม่แปลกถ้าคนจะทำงานร่วมกับหุ่นยนต์แบบเข้ามือกัน (CoBot)
  2. ระบบจำลองสถานการณ์ (Simulation) การดำเนินการใดๆที่มีความเสี่ยง และอาจเกิดผลได้ในหลากหลายรูปแบบตามเงื่อนไข สถานการณ์ และตัวแปรมากมายที่อาจควบคุมไม่ได้ทั้งหมด การสร้างแบบจำลองเพื่อประเมินสถานการณ์ เพื่อกำหนดรูปแบบและวิธีการรับมือล่วงหน้าเป็นสิ่งที่ควรทำและจำเป็นมากขึ้นในอนาคต เพราะคนไม่สามารถควบคุมทุกอย่าง
  3. การบูรณาการระบบองค์กรทุกทิศทาง (Vertical and Horizontal Integration) การใช้ ERP ในกระบวนการทำงานหลัก (Core process) ที่ให้ความสำคัญกับการบัญชีและการเงินโดยลำพังอาจไม่เพียงพอ เมื่อระบบงานใหม่จะต้องครอบคลุมระบบงานย่อยๆอื่นๆ รวมถึงระบบสนับสนุนต่างๆเข้าไว้ด้วยกันด้วย ระบบองค์กรที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเงิน อาทิ HRD Strategy CRM และอื่นๆจะต้องเชื่อมโยงเข้าหากัน
  4. อินเทอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง (Internet of Thing) หรือ M2M (Machine to Machine) เมื่ออุปกรณ์ต่างๆมีชีวิต เชื่อมโยง สื่อสาร และรายงานสถานะของตัวเองแบบเรียลไทม์ จึงไม่ใช่แค่ Anywhere anytime แต่เพิ่มเติมด้วย any devices
  5. ความปลอดภัยไซเบอร์ (Cyber Security) เมื่อโลกจริงและโลกเสมือนเริ่มเข้าใกล้และกลายเป็นโลกเดียวกัน รหัส (Code) จึงกลายเป็นกุญแจสำคัญในการเข้าออก ความมั่นคงปลอดภัยในระบบจึงต้องได้รับการดูแลป้องกันหลายชั้นมากขึ้น
  6. การประมวลผลผ่านคลาวด์ (Cloud computing) ทุกวันนี้ผู้คนมากมายเข้าถึงและดึงข้อมูลมาใช้ประโยชน์ โดยที่ไม่ต้องสนใจว่าข้อมูลจัดเก็บที่ใด Server ตั้งอยู่ที่ไหน ศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีผู้เชี่ยวชาญดูแลเฉพาะ ช่วยให้องค์กรเล็กๆอย่าง SMEs เบาใจได้ ในราคาที่ไม่มีทางทำได้เอง
  7. การขึ้นรูปแบบผลิตอย่างรวดเร็ว (Additive manufacturing) ลองนึกถึงการขึ้นรูปชิ้นงานแบบรวดเร็ว การผลิตจำนวนน้อย ความยืดหยุ่นในการปรับแก้แบบ และการประหยัดวัตถุดิบ 3D Printing จากวัสดุต่างๆที่เลือกได้ตามต้องการจึงเป็นทางเลือกจากทางหลักเดิมๆ
  8. ระบบเสมือนจริงและความจริงเสมือน (Augmented / Virtual Reality) เมื่อเดินไปสำนักงานขายอาคารชุดซักแห่ง เพื่อดูห้องตัวอย่างที่จัดวางเฟอร์นิเจอร์ไว้แล้ว จะดีกว่าไหมถ้าเราสามารถมองเห็นห้องตัวอย่างที่สามารถเปลี่ยนแบบห้องได้หลากหลาย มองวิวออกมานอกหน้าต่างแล้วเหมือนวิวจริงที่มองออกมาจากห้องชั้น 30 ในทิศตะวันตก หรืออื่นๆตามที่เราคิดฝันไว้
  9. การวิเคราะห์ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ (Data analytics / AI) ทุกวันนี้เราจะเห็นผู้ค้าสามารถสร้างผู้ช่วยในการขาย การตอบคำถาม และให้ข้อมูลตามที่ร้องขอจากลูกค้าได้เอง ผ่านเฟสบุค ไลน์ และช่องทางออนไลน์ต่างๆ ด้วยการสร้างชุดคำถาม-คำตอบ และคลังความรู้ใหม่ๆตลอดเวลาด้วย ChatBot พื้นฐานที่จะทำให้เราเข้าใจคำว่า AI

 

หลากหลายเทคโนโลยีที่กล่าวมาข้างต้น ใช้งานได้จริงและมีการใช้เพิ่มมากขึ้นในทุกวัน บางอย่างฟรีในระดับเริ่ม สามารถเรียนรู้ สร้าง และใช้งานได้ภายในครึ่งวัน บางอย่างเสียเงินแต่สามารถทำงานแทนคนได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเราที่จะต้องก้าวจากโลกเดิม สู่โลกใหม่ที่จินตนาการไม่มีที่สิ้นสุด