กฎหมายเกี่ยวกับการดูแลผลประโยชน์คู่สัญญา (1)

กฎหมายเกี่ยวกับการดูแลผลประโยชน์คู่สัญญา (1)

ในช่วงที่ผู้เขียนเริ่มทำงานใหม่ ๆ กฎหมายเกี่ยวกับการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา กล่าวคือ พระราชบัญญัติการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ. 2551

(พ.ร.บ.การดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาฯ) เพิ่งจะมีผลใช้บังคับ และได้รับความสนใจจากทั้งผู้ที่เป็นนักกฎหมายและผู้ที่อยู่ในวงการธุรกิจ เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่กฎหมายไทยมีการออกกฎหมายเพื่อควบคุมการดำเนินการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาโดยบุคคลที่สาม

การดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาโดยบุคคลที่สาม หรือที่รู้จักในนาม Escrow Agent คือการแต่งตั้งบุคคลที่สามขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ดูแลการปฏิบัติตามสัญญาของคู่สัญญาในสัญญาต่างตอบแทน เช่น เมื่อผู้ซื้อจะวางเงินดาวน์จองซื้อบ้านหรือคอนโดที่ยังสร้างไม่แล้วเสร็จ ผู้ซื้ออาจกังวลว่าสุดท้ายแล้วโครงการจะสร้างเสร็จหรือไม่ หรือสร้างแล้วจะตรงตามแบบที่โฆษณาไว้หรือไม่ ดังนั้น แทนที่ผู้ซื้อจะจ่ายเงินดาวน์ให้โครงการ หากมีการตั้งบุคคลที่สามมาเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา บุคคลดังกล่าวก็จะเป็นผู้รับเงินดาวน์แทนโครงการ และเมื่อโครงการก่อสร้างเสร็จถูกต้องตามสัญญาจึงจะได้เงินในส่วนนี้ไป แต่หากไม่เสร็จผู้ซื้อก็สามารถขอเงินดาวน์คืนได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าโครงการจะไม่มีเงินคืน และไม่ต้องไปฟ้องร้องเป็นคดีความให้เกิดความยุ่งยากแต่อย่างใด

จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นได้ว่า บุคคลที่จะมาเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาได้นั้นจะต้องมีความน่าเชื่อถือและน่าไว้วางใจเพียงพอที่จะมาดูแลทรัพย์สินของคนอื่น พ.ร.บ. การดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาฯ จึงกำหนดไว้ว่าผู้ที่จะทำหน้าที่นี้ได้จะต้องมีใบอนุญาต และเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติตามที่ พ.ร.บ. การดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาฯ กำหนดไว้ นอกจากนี้ยังมีการกำหนดรูปแบบ และรายละเอียดของสัญญาดูแลผลประโยชน์ รวมถึงหน้าที่ โทษทางปกครองและโทษทางอาญาในกรณีที่ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาปฏิบัติผิดหน้าที่อีกด้วย

ภายหลังจากที่ พ.ร.บ. การดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาฯ ใช้บังคับมาเป็นระยะเวลาหนึ่งก็ทำให้เห็นว่ากฎหมายดังกล่าวยังมีข้อบกพร่องบางประการอยู่ ซึ่งทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ อาทิเช่น พ.ร.บ. การดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาฯ ใช้บังคับกับเพียงสัญญาต่างตอบแทนที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งมีหน้าที่โอนหรือส่งมอบทรัพย์สิน หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ และคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งมีหน้าที่ในการชำระเงิน แต่ไม่รวมถึงสัญญาต่างตอบแทนประเภทอื่น เช่น สัญญาก่อสร้าง หรือสัญญาจ้างบริการ ซึ่งจริงๆ แล้วก็อาจจะนำระบบนี้มาใช้ในการคุ้มครองประโยชน์ของคู่สัญญาได้ในทำนองเดียวกับการซื้อขายทรัพย์สิน แต่แทนที่จะเป็นการคุ้มครองการโอนกรรมสิทธิ์หรือส่งมอบ ก็เป็นการคุ้มครองการปฏิบัติตามสัญญาในส่วนอื่น เช่น การให้บริการตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญา นอกจากนี้ยังมีความไม่ชัดเจนของรายการที่ต้องมีในสัญญาดูแลผลประโยชน์ เนื่องจากว่า พ.ร.บ. การดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาฯ กำหนดว่า ในสัญญาจะต้องมีทั้งรายการ ระยะเวลาในการส่งมอบทรัพย์สิน และเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้และการส่งมอบเงินของคู่สัญญา จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่าคู่สัญญาจะต้องตกลงให้ผู้ดูแลผลประโยชน์รับผิดชอบเรื่องการส่งมอบเงินในทุกธุรกรรมเลยหรือ แล้วถ้าไม่มีข้อตกลงในส่วนนี้ผลจะเป็นอย่างไร

ปัญหาอีกประการหนึ่งคือ พ.ร.บ. การดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาฯ ไม่มีบทบังคับให้คู่สัญญาต้องใช้ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา แต่เป็นเรื่องที่ต้องตกลงกันเองระหว่างคู่สัญญา ซึ่งหากเป็นกรณีที่เป็นธุรกรรมระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจขนาดใหญ่ ผู้บริโภคดังกล่าวก็อาจจะไม่มีอำนาจต่อรองมากพอที่จะขอให้ผู้ประกอบธุรกิจใช้ประโยชน์จาก พ.ร.บ. การดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาฯ นี้

ปัญหาและข้อบกพร่องดังกล่าวเป็นที่รับรู้และมีความพยายามจะแก้ไขมาโดยตลอดจนกระทั่งเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา สนช. ก็ได้มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. การดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาฯ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. การดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาฯ ฉบับปัจจุบัน ในครั้งหน้าเราจะมาพิจารณากันว่าร่างฯ ดังกล่าวจะช่วยแก้ไขข้อบกพร่องที่มีอยู่ได้หรือไม่ แล้วพบกันใหม่โอกาสหน้า สวัสดีค่ะ

 โดย... 

ภูริตา ธนโชคโสภณ

บริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด

[email protected]