Slowbalisation: สโลว์กาภิวัฒน์

Slowbalisation: สโลว์กาภิวัฒน์

หลังจาก 2 ผลการเลือกตั้งช็อคโลกในปี 2016 (อันได้แก่ Brexit และทรัมป์) ผู้นำทางความคิดหลายท่าน รวมทั้งผู้เขียนเคยได้เตือนไว้ว่า

โลกกำลังเผชิญกับกระแส ต่อต้านโลกาภิวัฒน์ ที่อาจนำไปสูู่มหาสงครามการค้าที่รุนแรงเหมือนยุุค 1930 ที่แต่ละประเทศตั้งกำแพงภาษีถึง 50-60% โดยเฉลี่ย และทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำรุนแรง และเป็นหนึ่งในชนวนของสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้

แม้ว่าภาพดังกล่าวไม่ได้เห็นชัดเจนทันที (ทรัมป์ขึ้นภาษีจีนแค่ 10% และ 25% ขณะที่เศรษฐกิจจีนถึงจะแย่ลงแต่ก็ไม่ได้ตกต่ำรุนแรง) แต่ก็กำลังเกิดขึ้นช้าๆ เหมือนกบถูกต้มในน้ำที่กำลังจะเดือด ซึ่งภาพเหล่านี้ตรงกับแนวคิด Slowbalisation หรือ “สโลว์กาภิวัฒน์” หรือกระแสการเปิดเสรีการค้า บริการ แรงงาน และ เงินทุนเคลื่อนย้าย ที่แม้ไม่ถึงกับ “กลับทิศ” ในทันทีแต่ก็เริ่มลดลง ซึ่งแนวคิดนี้ Adjiedj Bakas นักอนาคตศาสตร์ ชาวเนเธอร์แลนด์ได้ตั้งไว้ในปี 2015

หลักฐานได้แก่ 12 มาตรวัดโลกาภิวัฒน์ที่นิตยสาร Economist ได้ทำขึ้นนั้น 8 ใน 12 เริ่มเห็นสัญญาณเสี่ยงมากขึ้น โดยทุกมาตรวัดมีจุดสูงสุดที่ปี 2007 (ปีก่อนเกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์) ก่อนจะตกต่ำต่อเนื่องในปัจจุบัน

8 มาตรวัดนั้นได้แก่ (1) สัดส่วนการค้าต่อ GDP โลก (จาก 61% เหลือ 58%) (2) การนำเข้าสินค้าระดับกลางเพื่อไปผลิตต่อ (จาก 19% เหลือ 17%) (3) สัดส่วนกำไรของบริษัทข้ามชาติต่อบริษัทจดทะเบียนทั่วโลก (จาก 33% เหลือ 31%) (4) การลงทุนโดยตรง (FDI) ทั่้วโลกต่อ GDP โลก (จาก 3.5% เหลือ 1.3%) (5) สัดส่วนสินเชื่อจากธนาคารต่างประเทศทั่วโลกต่อ GDP โลก (จาก 60% เหลือ 36%) (6) สัดส่วนเงินทุนเคลื่อนย้ายต่อ GDP โลก (7% เหลือ 1.5%) (7) จำนวนของเศรษฐกิจที่ขยายตัวเร็วกว่าสหรัฐ (88% เหลือ 50%) และ (8) ยอดขายต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียนใน S&P's 500 (จากประมาณ 48% เหลือ 42%)

มีเพียง 4 มาตรวัดที่ยังบ่งชี้ว่ากระแสโลกาภิวัฒน์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นั่นคือ (1) ปริมาณการส่งสินค้าทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ (2) ปริมาณผู้อพยพถาวรเข้าสู่ประเทศพัฒนาแล้ว (3) ปริมาณการรับส่งของมูลทางอินเตอร์เนท (Bandwith) ระหว่างประเทศ และ (4) รายได้ของสายการบินจากนักท่องเที่ยวทั่วโลก

ภาพดังกล่าวบ่งชี้ถึงนัยยะ 4 ประการ คือ

(1) การค้าโลกกำลังลดลงต่อเนื่อง  เนื่องจากหลายประเทศเริ่มผลิตสินค้าเองได้ ขณะที่ความเสี่ยงสงครามการค้าก็จะยิ่งนำไปสู่ Trade diversion หรือการเบี่ยงเบนทางการค้าและการผลิตทั่วโลก

(2) การลงทุนของบริษัทและสถาบันการเงินข้ามชาติกำลังลดลง เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันกับผู้เล่นท้องถิ่นได้ นอกจากนั้น นโยบายภาษีของรัฐบาลชั้นนำ ก็กีดกันการลงทุนในต่างประเทศเช่นกัน

(3) ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ (Growth divergence) ของประเทศร่ำรวยกับยากจนจะมากขึ้น แต่

(4) กระแสโลกาภิวัฒน์ด้านเทคโนโลยีและด้านการท่องเที่ยวจะยังมีมากขึ้น

สำหรับผู้เขียนแล้ว แนวคิด "สโลว์กาภิวัฒน์" นี้ ตรงกับภาวะ "New Normal" ที่เคยเขียนไว้ในปี 2016 และยิ่งไปกว่านั้น ภาวะสโลว์กาภิวัฒน์นี้จะยิ่งทำให้ภาวะ New Normal อันได้แก่ “โตต่ำ ค้าน้อย โภคภัณฑ์ถูก และผลตอบแทนการลงทุนลดลง” นั้นโหดร้ายยิ่งขึ้น ดังนี้

(1) เศรษฐกิจโลกโตต่ำ ผลจากภาวะสังคมสูงวัยทั่วโลกนั้น จะยิ่งรุนแรงขึ้นจากภาวะโลกาภิวัฒน์ที่น้อยลง เนื่องจากโลกาภิวัฒน์หรือการเปิดเสรีทางการค้า บริการ เงินทุน และแรงงานนั้นจะทำให้ทรัพยากรและการผลิตเคลื่อนย้ายจากที่ๆ มีประสิทธิภาพต่ำไปยังสูงตามหลักความสามารถในการแข่งขันเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) ฉะนั้น การปิดกั้นภาวะเสรีดังกล่าวจะทำให้เกิด Trade Diversion หรือการบิดเบือนทางการผลิตและการค้า ทำให้ประสิทธิภาพลดลงและต้นทุนสูงขึ้น กดดันให้เศรษฐกิจขยายตัวต่ำลง

(2) การค้าโลกยิ่งลดน้อยลง เดิมทีการค้าโลกที่ลดน้อยลงเป็นผลจากประเทศต่าง ๆ เริ่มหันมาผลิตเองในประเทศมากขึ้น และใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTB) แต่ผลจากสโลว์กาภิวัฒน์นี้จะยิ่งเป็นตัวเร่งให้การค้าบิดเบือนมากขึ้น และทำให้การค้าโดยรวมของโลกยิ่งลดลง

นอกจากนั้น เมื่อเศรษฐกิจเติบโตขึ้น ทำให้ความต้องการ บริการที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย (Non-Tradable) แทนที่ สินค้า” (ที่สามารถค้าขายหรือ Tradable ได้) เพิ่มขึ้น ทำให้การค้าโลกแบบปกติ (Traditional) ลดลง แต่การค้าแบบ e-commerce เพิ่มขึ้น

(3) ราคาโภคภัณฑ์จะถูกลงและผันผวนมากขึ้น โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการซื้อหรือ Demand ที่จะลดลงตามสภาพเศรษฐกิจ และผลจากความผันผวนที่มากขึ้นตามความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์โลก (Geopolitical Risk) ที่มากขึ้น หลังจากกระแสกีดกันทางเศรษฐกิจนำมาสู่การเผชิญหน้าทางการเมืองที่มากขึ้น และ

(4) ผลตอบแทนในการลงทุนต่ำลงและผันผวนขึ้น เดิมทีแนวคิดนี้เป็นผลจากการลดดอกเบี้ยต่ำ ทำให้ผลตอบแทนที่ไร้ความเสี่ยง (Risk-free Rate) ลดลง ขณะที่การอัดฉีดสภาพคล่องโลกที่มากขึ้น ก็กดให้ผลตอบแทนในความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น (Risk Premium) ลดลงเช่นกัน ภาพเหล่านี้จะยิ่งรุนแรงขึ้นเมื่อกระแสสโลว์กาภิวัฒน์ทำให้ความเสี่ยงเชิงนโยบายและภูมิรัฐศาสตร์มีมากขึ้น (โดยในหลักทางการเงิน จะนำไปสู่เส้นผลการลงทุนที่มีประสิทธิภาพสูงสุดหรือ Efficient Frontier เส้นใหม่ที่ให้ผลตอบแทนลดลงเมื่อเทียบกับความเสี่ยงเดิม (Lower risk-adjusted return))

ภาวะ New Normal ทั้งสี่จะมีนัยยะต่อเศรษฐกิจ 3 ประการ ดังนี้

(1) ภาวะ VUCA หรือ ความผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน และอึมครึม จะยิ่งมีมากขึ้น ผลจากการเผชิญหน้าทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการทหารที่มีมากขึ้น และจะนำไปสู่สงครามการค้าที่เปลี่ยนแปรเป็นสงครามเทคโนโลยี (Trade war to tech war) การตอบโต้ทางภาษีนำเข้า (Tariff Retaliation) การเผชิญหน้าทางการทหาร และแนวนโยบายเศรษฐกิจโลกที่แตกต่าง

(2) กระแสภูมิภาคนิยม (Regionalism) จะทดแทนโลกาภิวัฒน์ โดยหลังจากทั้งสหรัฐและจีนประกาศขึ้นภาษีสินค้าระหว่างกัน ทำให้ระบบห่วงโซ่อุปทานโลก (Global supply chain) เปลี่ยนไป โดยผู้ผลิตมีแนวโน้มที่จะหา Supplier รวมถึงตลาดส่งออกในภูมิภาคเดียวกันมากขึ้น

(3) ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของแต่ละบุคคลจะมีมากขึ้น ผลจากความสามารถด้านเทคโนโลยี (Technological Literacy) ที่แตกต่างกัน เนื่องจากในโลกอนาคต ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะมีมากขึ้นและจะทำลาย (Disrupt) การทำงานรูปแบบเดิม ทำให้แรงงานที่ไม่สามารถควบคุมเทคโนโลยีในการทำงานได้จะถูกเลิกจ้าง ทำให้เกิดผู้ชนะและผู้แพ้ในระบบเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) อย่างชัดเจน โดยผู้แพ้จะไม่พอใจ (discontent) นำไปสู่การประท้วง เกิดปัญหาทางการเมือง นำไปสู่ภาวะ VUCA อีกครั้ง เป็นดั่งวงจรอุบาทว์

สโลว์กาภิวัฒน์กำลังเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ แต่ผลของมันน่าสะพรึงกลัวไม่แตกต่างกับมหาวิกฤตเศรษฐกิจยุค 1930 แม้แต่น้อย

ท่านผู้อ่าน เตรียมตัวรับมือแล้วหรือยัง

[ บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่ ]