รถเมล์ “ด่วนนรก” และรูปแบบธุรกิจ​​

รถเมล์ “ด่วนนรก” และรูปแบบธุรกิจ​​

รถเมล์สายหนึ่งจะเป็น “ด่วนนรก” หรือ “หวานเย็น” หากดูเผินๆ ก็จะเห็นว่าขึ้นอยู่กับคนขับ แต่ถ้าพิจารณาไปไกลหน่อยก็จะเห็นว่า

 รูปแบบของการทำธุรกิจซึ่งสร้างระบบการจ้างคนขับนั่นแหละคือคำอธิบาย อีกหลากหลายปัญหาก็เช่นเดียวกันมีที่มาจากปัจจัยภายนอกอื่นๆ ซึ่งถ้าแก้ไขไม่ตรงจุดมันก็ไม่เกิดผล

รถเมล์ “หวานเย็น” บางสายในกทม.ที่จอดทุกป้ายและคอยคนอยู่นานนั้น บางคันเมื่อขึ้นไปแล้วอาจเห็นเปลเด็กผูกอยู่ก็ไม่ต้องแปลกใจ เพราะมันเป็นธุรกิจของครอบครัว แม่เป็นคนเก็บเงิน พ่อเป็นคนขับ น้องเมียเป็นลูกมือ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะรูปแบบของการทำธุรกิจ(business model) ซึ่งมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของคนขับอีกต่อหนึ่ง

รถเมล์ หวานเย็นนั้นเป็นรถเมล์ที่เรียกว่า รถร่วมบริการซึ่งหมายความว่าไม่ใช่รถเมล์ที่ ขสมก. เป็นเจ้าของ หากเป็นรถของเอกชนที่เข้ามาร่วมวิ่ง โดยรับเงินเหมาเป็นค่าจ้างรายวันจาก ขสมก. ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงต่อมาจากประวัติศาสตร์ของการวิ่งรถกันมายาวนานและมักจะได้วิ่งในเส้นทางดีๆ ในเมืองที่คนขึ้นมาก ส่วนสายชานเมืองนั้นมีคนน้อย ขสมก.ก็วิ่งกันไป

เจ้าของ “รถร่วมบริการ” ก็มักจะเหมาอีกต่อหนึ่งให้คนขับรับไป เจ้าของรถร่วมก็ได้กิน ค่าต่างเช่น สมมุติต้องจ่ายค่ารถวิ่งให้ขสมก.วันละ 1,000 บาทต่อคัน ก็เอามาเหมาให้คนขับไปในราคา 2,000 บาท เจ้าของก็รับไปสบาย ๆ 1,000 ต่อวันต่อคัน

คนขับเมื่อรับงานมาก็ต้องวิ่งให้ได้รายได้เกินวันละ2,000บาทต้องลดต้นทุนให้มาก(เอาเมียและน้องมาช่วย) จอดแช่เย็นรับคนทุกป้ายจนรถติดกันเป็นแพ business modelจึงกำหนดพฤติกรรมของเขาเยี่ยงนี้

สำหรับรถเมล์ "ด่วนนรกนั้น business model คือคนขับได้รายได้จากจำนวนเที่ยวที่วิ่งในแต่ละวัน ยิ่งวิ่งเร็วได้เที่ยวมากในแต่ละวันเท่าใดก็ได้เงินมากขึ้นเพียงนั้น (อาจได้ส่วนแบ่งจากรายได้บ้าง แต่ค่าเที่ยวอาจมากกว่าจนไม่สนใจส่วนแบ่งรายได้) รถเมล์ที่วิ่งก็มีทั้งของขสมก.และของรถร่วมบริการ

สำหรับขสมก.นั้น เหตุที่ business model คือการให้เงินต่อเที่ยวก็เพราะโยงไปสู่กับบรรลุตัวชี้วัดขององค์กรว่าจะต้องวิ่งได้จำนวนเที่ยวเท่าใดในแต่ละเดือน หากวิ่งไม่ถึงจำนวนเที่ยวที่ตั้งเป้าไว้ก็จะมีผลกระทบต่อการขึ้นเงินเดือนหรือโบนัสของผู้บริหารงาน ทีมงาน ตลอดจนสมาชิกทั้งองค์กร

“รถร่วมบริการ”มีส่วนสร้างรถเมล์ “ด่วนนรก” นั้นก็อาจมาจากเงื่อนไขเพิ่มเติมของการได้รับหรือรักษาสิทธิในการวิ่งจากขสมก. เช่นต้องวิ่งได้กี่เที่ยวต่อวัน ทั้งนี้ก็เพราะต้องการได้สถิติมาช่วยประกอบตัวชี้วัด เพราะผลงานสุดท้ายขององค์กรนั้นนับรวมกันหมด มิได้แยกเป็นชนิดของรถที่วิ่ง

การที่ใช้จำนวนเที่ยวที่วิ่งเป็นตัวชี้วัดนั้นก็เพราะจำนวนผู้โดยสารมิได้อยู่ในอำนาจของขสมก. ผู้คนจะขึ้นมากน้อยไปผูกโยงกับการเกิดขึ้นของรถไฟฟ้า โครงการการก่อสร้างระดับการติดขัดของการจราจรฯลฯ จำนวนเที่ยวที่วิ่งคือสิ่งที่อยู่ในขอบเขตปฏิบัติการของขสมก.โดยตรง

การที่รถติดกันมากเพราะรถ “หวานเย็น” กับที่ผู้คนตายและพิการมากเพราะ “ด่วนนรก” จึงมีสาเหตุมาจาก business modelเป็นสาเหตุหลัก (คล้ายกับแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุหลักของอุบัติเหตุระหว่างปีใหม่ ไม่ว่าขับรถเร็ว หลับใน ทำผิดกฎจราจร ฯลฯ) สำหรับ “ด่วนนรก”นั้นอาจจะมีปัจจัยอื่นประกอบ เช่น ค่านิยมในการขับรถสไตล์ “ทันใจ” ของคนขับสายเหล่านี้ ระยะทางของสายที่ยาวมีทั้งติดขัดและวิ่งได้(เมื่อมีโอกาสวิ่งก็ปล่อยเต็มที่) อารมณ์อันหงุดหงิดเพราะระยะทางยาวไกล การไม่เอาจริงในการบังคับใช้กฎเกณฑ์ของขสมก. อิทธิพลของเจ้าของรถ “ร่วมบริการ” ทำให้ขสมก.ไม่กล้าเอาจริงฯลฯ

พฤติกรรมของมนุษย์ในเรื่องอื่นๆ ก็ไม่ต่างไปจากเรื่องรถเมล์ที่กล่าวมา business modelเป็นเช่นไร พฤติกรรมก็ตามมาเช่นนั้น ควันดำที่ปล่อยออกมาอย่างมากมายนั้นมักมาจากรถเมล์ชนิด ร่วมบริการเนื่องจากมิใช่รถของขสมก.เอง การจัดการแก้ไขปรับปรุงก็ทำได้ยากอีกทั้งหากสั่งไม่ให้วิ่งเลยชาวบ้านก็จะเดือดร้อนไปตามๆ กัน อิทธิพลของเจ้าของรถเหล่านี้ที่ครอบงำและ ช่วยเหลือ (ขสมก.มีหนี้ท่วมตัวมายาวนาน จึงต้องพึ่งรถเมล์จากเอกชนในลักษณะนี้) การบังคับให้ต้องเปลี่ยนรถเมล์ใหม่เพื่อขจัดควันดำเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ได้ง่าย

ถ้าขสมก.ไม่ขาดทุนสะสมมหาศาลมาตั้งแต่แรกตั้งเมื่อคราวโอนรถเมล์เอกชนมาเป็นของ ขสมก.ในพ.ศ. 2518 ขสมก.เองก็คงจะทำงานได้เหมือนรถเมล์ของรัฐในเมืองอื่นๆ คือเป็นเจ้าของเองทั้งหมด business modelลักษณะปัจจุบันมีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการทำให้การสูดควันพิษของคนกทม.เป็นงานอดิเรกแบบบังคับ

ในเรื่องการใช้น้ำและไฟฟ้าถ้าต้องการช่วยให้ประชาชนได้ใช้ในราคาถูก business modelก็เป็นไปในลักษณะไม่ต้องการได้กำไรโดยรัฐให้เงินอุดหนุนส่วนที่ขาดทุน สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือการใช้น้ำและไฟฟ้ากันอย่างสนุกสนานอย่างขาดเหตุผล เพราะมันแสนถูก ทางด่วนก็เช่นกัน หากมันถูกมาก(เพราะรัฐช่วยออกเงินให้บางส่วน) การจราจรที่ติดขัดอยู่ข้างล่างก็จะย้ายไปอยู่บนทางด่วนด้วย(ช่วยกันติด) ในทางตรงกันข้ามถ้ารัฐยอมให้เก็บในราคาสูง เพราะ business modelคือการแสวงหาค่าสัมปทานสูงรถวิ่งบนทางด่วนก็จะมีน้อยรถข้างล่างติดกันสาหัสและไม่มีกี่คันนักที่พอจะมีเงินจ่ายค่าทางด่วนที่ราคาสูง

business modelแบบที่กสทช.ต้องการค่าสัมปทานสูงนี้แหละที่ทำให้ดิจิทัลทีวีบ้านเรา พังพินาศเพราะมีไม่กี่รายที่สามารถจ่ายค่าสัมปทานได้ โอกาสที่จะสร้างประโยชน์ในด้านการเรียนรู้สำหรับประชาชนและเยาวชนจึงสูญเสียไปอย่างน่าเสียดาย

สำหรับรถไฟฟ้าหลากสายที่จะทำให้การเดินทางสะดวกขึ้นอีกมากในเวลา 2-3ปีข้างหน้าหากbusiness modelเป็นไปในรูปของการหารายได้ให้รัฐเป็นโดยมองข้ามประโยชน์ที่จะเกิดแก่ประชาชน การลดมลพิษในอากาศ การประหยัดพลังงานจากการจราจรโดยการใช้รถยนต์ที่ลดน้อยลง ความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว การลดต้นทุนในการประกอบการ ฯลฯ รถไฟฟ้าก็อาจมีคนขึ้นแน่นในช่วงเร่งด่วนเช้าเย็น ส่วนตอนกลางวันนั้นว่างเปล่าและสูญเปล่าเพราะสัมปทานราคาสูงก็หมายถึงราคาตั๋วที่สูงไปด้วย รัฐควรพิจารณาbusiness modelที่ให้เงินอุดหนุนราคาตั๋วเพื่อให้มีราคาไม่สูงเกินไปจนกลุ่มฐานะเศรษฐกิจล่างเข้าไม่ถึง

การเข้าใจสาเหตุของปัญหาอย่างแท้จริงก็เท่ากับว่าได้แก้ไขปัญหาไปได้แล้วครึ่งหนึ่งในหลายกรณีกติกาที่กำหนดขึ้นมาเพื่อการดำเนินการในเชิงธุรกิจมักเป็นต้นน้ำของความปวดหัวเสมอ