การสร้าง Agile Organization

การสร้าง Agile Organization

กระแสของความเป็น Agile Organization ได้ถูกจุดขึ้นมาจากการที่องค์กรจะต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น

โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมได้นำเสนอตัวอย่างคุณลักษณะขององค์กรที่เป็น Agile มาให้พิจารณาในหลายๆ มุมมอง ก็ได้เจอคำถามกลับขึ้นมาว่าถ้าอยากจะทำให้องค์กรของตนเองมีความ Agile นั้นจะต้องเริ่มจากที่ใด? บางท่านอาจจะคิดว่าถ้าอยากจะให้องค์กรมีความคล่องตัว ยืดหยุ่น และ Agile นั้นก็จะต้องเริ่มต้นจากการปรับโครงสร้างองค์กร ปรับกระบวนการและขั้นตอนในการทำงานต่างๆ ให้กระชับขึ้น ก็จะทำให้องค์กร Agile แล้ว แต่จริงๆ การที่องค์กรจะมีความ Agile ได้นั้นไม่ได้เริ่มจากโครงสร้าง หรือ กระบวนการทำงาน แต่ต้องเริ่มจากผู้นำ วัฒนธรรม และบุคลากรในองค์กร

บทบาทของผู้นำในองค์กรที่ Agile นั้นจะต้องเปลี่ยนไปจากนิยามของผู้นำแบบเดิม ที่ในความเข้าใจแบบดั้งเดิมนั้น ผู้นำคือ ผู้บังคับบัญชาที่ทำหน้าที่ในการวางแผน สั่งการ ชี้นำ และควบคุม แต่เมื่อองค์กรจะต้องมีความ Agile นั้น บทบาทและลักษณะของผู้นำแบบเดิมจะไม่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แต่จะต้องเป็นผู้นำที่เป็นทั้งผู้รับใช้ เป็นโค้ช โดยมีหน้าที่ ทำให้บุคลากรในองค์กรมีทักษะ ความรู้ ความสามารถที่เหมาะสมกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างและเอื้อให้เกิดการทำงานร่วมกันเป็นทีมมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็จะต้องเปิดโอกาสให้บุคลากรได้มีอิสระในการริเริ่ม การคิด การตัดสินใจ เพื่อให้สามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วขึ้น

เมื่อบทบาทของผู้นำเปลี่ยนจากผู้ชี้นำเป็นผู้รับใช้และผู้สนับสนุนแล้ว สิ่งที่ต้องตามมาคือวัฒนธรรมและค่านิยมในการทำงานภายในองค์กรก็จะต้องปรับให้มีความเหมาะสมกับความคล่องตัวที่จะต้องเกิดขึ้นด้วย เมื่อองค์กรจะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายนอกที่รวดเร็วแล้ว การบริหารงานในรูปแบบที่มุ่งเน้นใน กฎ ระเบียบ เต็มไปด้วยขั้นตอนการทำงาน มุ่งเน้นการตรวจสอบและเต็มไปด้วยทัศนคติระแวงว่าบุคลากรจะทำผิดกฎ จะทำให้องค์กรไม่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ทันแน่ๆ ดังนั้นในทางกลับกัน องค์กรที่ Agile นั้น จะต้องเน้นที่ค่านิยมในการทำงานที่ให้ความสำคัญกับความเชื่อใจและไว้วางใจกันระหว่างทีมและเพื่อนร่วมงาน เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อภาวการณ์ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและคล่องตัว

เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น วัฒนธรรมที่สำคัญอีกประการขององค์กรที่ Agile คือการเป็นองค์กรที่มุ่งเน้นที่ลูกค้า (Customer-focused) ที่ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงในปัจจัยภายนอกมากกว่าเพียงแค่การให้ความสำคัญต่อมุมมองภายในองค์กรเท่านั้น

สุดท้ายปัจจัยที่สำคัญที่สุดสำหรับการเป็นองค์กรที่ Agile คือตัวบุคลากรภายในองค์กรเอง เนื่องจากในองค์กรที่ Agile นั้น บุคลากรจะต้องเข้าใจในบทบาทหน้าที่การทำงานของตนเอง มีอิสระในการคิดริเริ่ม การตัดสินใจ การปรับตัวให้สามารถก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ดังนั้นบุคลากรในองค์กรที่เป็น Agile นั้นจะต้องเป็นบุคลากรที่มีความตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะพัฒนา ริเริ่ม สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ อีกทั้งกล้าที่จะก้าวข้ามความคุ้นชินแบบเดิมๆ (Comfort Zone) ที่คุ้นเคย

รากฐานที่สำคัญของบุคลากรที่เหมาะสมคืออยู่ที่การพัฒนาบุคลากรขององค์กรที่มีความ Agile บุคลากรในองค์กรเหล่านี้จะต้องได้รับโอกาสในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และสำหรับองค์กรเหล่านี้ การเรียนรู้ถือเป็น DNA ที่สำคัญขององค์กรเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ผ่านความสำเร็จหรือความล้มเหลว

นอกจากนี้ การเรียนรู้ของบุคลากรในองค์กรที่ Agile นั้นยังเน้นการเรียนรู้ที่หลากหลายผ่านทางรูปแบบต่างๆ ดังนั้นมักจะพบว่าในองค์กรที่ Agile นั้นบุคลากรจะมีการสับเปลี่ยน หมุนเวียนตำแหน่งอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่หลากหลายและอีกทั้งทำให้กล้าที่จะอออกจากความคุ้นชินแบบเดิมๆ อยู่ตลอดเวลา

จะเห็นได้ว่าการทำให้องค์กร Agile ได้นั้น ไม่ได้เริ่มจากการปรับโครงสร้างองค์กร แต่จะต้องเริ่มจากบทบาทของผู้นำที่เปลี่ยนไป การสร้างวัฒนธรรมในการทำงานที่เหมาะสม และสำคัญสุดคือตัวบุคลากรนั้นเอง