โลกาภิวัฒน์ วิถีทุน โลกสมัยใหม่: ตะวันออก ตะวันตก (ตอนที่ 4)

โลกาภิวัฒน์ วิถีทุน โลกสมัยใหม่: ตะวันออก ตะวันตก (ตอนที่ 4)

จนกระทั่งเมื่อมีการศึกษาและวิจัยกันใหม่โดยใช้หลักฐานทางโบราณคดีมาช่วย ในกรณีของกรีกหรือโรมัน ความเชื่อเดิมๆ ตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 20

เช่นแนวคิดของนักประวัติศาสตร์เยอรมัน นอกจาก Karl Bucher ก็ยังมี Sombart และ Weber ที่เชื่อว่าเศรษฐกิจสังคมโบราณ เช่น กรีก เมื่อเกือบ 3 พันปีมาแล้ว ไม่มีอะไรที่น่าศึกษาในบริบทของประวัติศาสตร์ทุนนิยมได้เลย ในกรณีของกรีก (หรือของโรมันก็เช่นกัน) Weber เชื่อว่าเนื่องจากกรีกเป็นสังคมเกษตรส่วนใหญ่ ใช้แรงงานทาส เป้าหมายหลักผลิตเพื่อยังชีพ การค้าที่มีและระบบตลาดก็มีขอบเขตจำกัดอยู่ในหมู่ชนชั้นนำ คนมีฐานะ และการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีก็มีน้อยเช่นเดียวกับการผลิตทุกอย่างที่ต้องการช่างฝีมือ ความสำคัญของทุนมีไม่มาก

ในกรณีของกรีก หลักฐานและความรู้ใหม่ในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา พอจะสรุปได้ว่าความเชื่อแบบเดิมนั้นเป็นมายาคติ ถ้าเราใช้ความหมายของทุนนิยมให้กว้างขึ้นตาม 4 องค์ประกอบที่เราใช้ ในความเป็นจริงเศรษฐกิจของกรีก โดยเฉพาะในช่วงตั้งแต่ 800 ปีก่อนคริสตกาลเต็มไปด้วยพลวัติ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เศรษฐกิจสังคมโบราณจะมีลักษณะเหมือนทุนนิยมสมัยใหม่ซึ่งเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะการจัดองค์กรของหน่วยผลิต(Firm) แต่การค้นพบใหม่นี้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่าเราสามารถเปรียบเทียบเศรษฐกิจของกรีกยุคโบราณได้กับวิวัฒนาการของสังคมและเศรษฐกิจมองจากมิติระยะยาว เช่น โดยเฉพาะของยุโรปในช่วง 1 พันปี ก่อนคริสตกาลถึง ค.ศ. 1700 ก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งโครงสร้างเศรษฐกิจหรือที่มาของ GDP ส่วนใหญ่ยังอยู่ที่ภาคเกษตร ในบริบทของการเปรียบเทียบลักษณะนี้ เศรษฐกิจของกรีกยุคโบราณ รวมทั้งยุคทองในช่วง 500 ปีก่อนคริสตกาล เป็นสังคมและเศรษฐกิจที่มีพลวัติแน่นอน

อะไรคือหลักฐานและความเป็นเหตุเป็นผล

  1. ในด้านความเจริญเติบโตของประชากร รายได้และการบริโภค

ประชากรของกรีกมีลักษณะการเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงต่อเนื่องหลายร้อยปี โดยเฉพาะช่วง 400 ปีก่อนคริสตกาล เศรษฐกิจสมัยโบราณจะยั่งยืนต่อเนื่องได้ในระยะยาว สมรรถนะการผลิตโดยเฉพาะที่มีลักษณะเป็นการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพ ประสิทธิภาพของการใช้ที่ดินและแรงงานแม้จะเป็นแรงงานทาส คือเป็น Intensive Growth ไม่ใช่ Extensive Growth ที่มาจากการเพิ่มเพียงปัจจัยการผลิต ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอันเกิดจากนวัตกรรมสามารถไปด้วยกันได้กับการใช้แรงงานทาสอย่างเข้มข้น ภายใต้บริบทของการมีสถาบันหลายอย่างของสังคมกรีก ซึ่งส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจให้แก่เอกชนในการลงทุนและขยายการผลิต การค้าทางไกล

ข้อมูลทางโบราณคดี การตั้งถิ่นฐานการอยู่อาศัย การเพิ่มขึ้นของประชากรโดดเด่นมาก ในช่วง 1 พันปี 750 ปี ก่อนคริสตกาลถึง ค.ศ. 300 ประชากรเพิ่มขึ้น 4 เท่า (หลัง ค.ศ. 300 ประชากรจะเริ่มลดลง) แปลกมากที่ 3 พันปีมาแล้ว กรีกมีประชากรมากกว่าช่วงปลายศตวรรษที่ 19 การผลิตและการบริโภคต่อหัวสูงขึ้น ความรุ่งเรืองและมาตรฐานชีวิตที่ดีขึ้น เช่น การบริโภคสินค้าสาธารณะไม่พบในที่อื่น เช่น ห้องสมุดและที่อาบน้ำสาธารณะ น้ำพุ สวนสาธารณะ สนามเล่นกีฬา ส่วนสินค้าเอกชน ตั้งแต่ที่จำเป็นและกึ่งฟุ่มเฟือยคนส่วนใหญ่ก็เข้าถึงพบจากซากโบราณ เช่น ของใช้ในบ้าน ผลิตภัณฑ์เซรามิค กลอนประตู บ้านขนาดใหญ่ หลังคา กระเบื้อง นักวิชาการ Ober 2010 คำนวณรายได้ต่อหัวน่าจะโตอยู่ในช่วง 0.07% - 0.14% ต่อปี เขาคิดว่าไม่พบปรากฎการณ์เช่นนี้ในที่อื่นจนถึงเมื่อยุโรปหลังยุคกลาง โดยเฉพาะเนเธอแลนด์และอังกฤษ ระหว่างศตวรรษที่ 15-18 หลักฐานจากเรืออับปางที่เพิ่มขึ้นมากหลังช่วง 700 ปีก่อนคริสตกาลซึ่งมีช่วงสูงสุดประมาณ 300 ปีอยู่ในช่วง 200 ปีก่อนคริสตกาลถึงคริศตวรรษ 100 บ่งชี้ถึงความสำคัญของปริมาณการค้าระหว่างประเทศกับต่างประเทศ

  1. โครงสร้างทางสถาบัน

กรีกในช่วงนี้มีระบบการเมืองการปกครองที่ต่างจากอาณาจักรใน เมโสโปเตเมีย ก่อนหน้า เช่น บาบิโลน เปอร์เซีย ซึ่งเป็นระบบรัฐราชการความสัมพันธ์เป็นแบบแนวดิ่ง อำนาจอธิปไตยเป็นของกษัตริย์ แต่นครรัฐของกรีกหรือ Polis มีลักษณะเป็นสังคมแนวนอนระหว่างประชาชนที่เป็นพลเมือง เช่น นครรัฐ Athens (แต่ก็มีความหลากหลาย เช่น นครรัฐ Sparta ที่ปกครองโดยคณะบุคคลจำนวนน้อย) การตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆ อยู่ที่สภาพลเมือง กำเนิดของนครรัฐมีวิวัฒนาการจนนำไปสู่ดุลยภาพที่นำมาซึ่งเสถียรภาพและความเสมอภาค ระหว่างแกนกลางหรือ Core ของนครรัฐกับชายขอบ นครรัฐจึงเป็นหน่วยทางการเมืองมากกว่าเป็นรัฐที่เน้นพื้นที่หรือพรหมแดน นครรัฐอาจจะมีเป็นพันแห่ง เคยลุกลานรบราฆ่าฟันกัน อย่างไรก็ตาม แต่ละนครรัฐไม่สามารถทำลายเพื่อนบ้าน มีช่วงหนึ่งกรีกถูกเปอร์เซียรุกราน แต่กรีกไม่เคยถูกรุกรานจากภายนอก (จนกระทั่งเมื่อโรมันมายึดครอง) จนสามารถรักษาดุลยภาพทางอำนาจแบบเดิมของแต่ละนครรัฐ ภายในนครรัฐเกิดความสัมพันธ์แบบเท่าเทียมกันระหว่างผู้ปกครองกับประชาชนโดยเฉพาะที่เป็นพลเมือง เป็นอะไรที่ต่างจากที่อื่นในโลกและยุโรปในขณะนั้นและในเวลาต่อมา

ช่วงของกรีกยุคคลาสสิกและยุค Helenis จึงไม่มีองค์รัฐถาธิปัตย์ที่มีเอกลักษณ์พิเศษคือไม่ใช่ประเทศหรือนครรัฐที่มีกษัตริย์หรือชนชั้นขุนนางไม่กี่ตระกูลปกครองคนยากจนหรือชาวนาซึ่งถูกกดขี่ ไม่มีปากมีเสียงเหมือนที่เราพบที่อื่นในโลก แต่ประชาชนที่เป็นพลเมืองมีจิตสำนึกเกี่ยวกับตนเองเป็นชนชั้นกลางที่มีฐานะเป็นชาวนาเกษตรกร มีความสามารถที่จะตรวจสอบชนชั้นปกครอง แม้ในบริบทประชาธิปไตยสมัยใหม่นี่อาจจะไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม แต่พลเมืองกรีกมีพัฒนาการเป็นลักษณะเฉพาะ ที่เป็นเช่นนี้เพราะชาวนาของกรีกมีขีดความสามารถทั้งทางเศรษฐกิจและทหารที่ชนชั้นนำต้องพึ่งเพื่อรักษานครรัฐ ชาวนากรีกจึงมีระบบสัญญาทางสังคมหรือทางการเมืองกับผู้ปกครองภายในนครรัฐจนกลายเป็นสถาบันหรือกติกาในการเล่นเกมส์ Rule of Game

กฎหมายและประกาศต่างๆ ที่ออกมามีการอภิปรายตรวจสอบก่อนเป็นกฎหมายออกมาใช้กับทุกคน ทำให้ดุลยภาพทางอำนาจมีลักษณะที่อำนาจทางการเมืองจะไม่เป็นของใครคนเดียวหรือกลุ่มคนเล็กๆ เผด็จการทรราชเมื่อเกิดขึ้นในที่สุดจะอยู่ได้ไม่นาน ระบบอำนาจเสมอภาคเท่ากันจะกลับมาในที่สุด นักปรัชญากรีกท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า “ประชาชนต้องต่อสู้ปกป้องกฎหมายเหมือนกับที่เคยปกป้องรักษากำแพงเมือง” ในบริบทของภาษาการเมืองสมัยใหม่โลกของนครรัฐของกรีกเป็นการปกครองโดยหลักนิติรัฐ นิติธรรม ซึ่งเป็นพื้นฐานพัฒนาการส่งเสริมให้เกิดโครงสร้างแรงจูงใจดีต่อความเจริญเติบโต การค้าการลงทุนซึ่งก็คือการมีระบบให้ความมั่นคงต่อกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของบุคคลรวมทั้งสัญญาเมื่อมีการผิดสัญญาก็ไปที่ศาล การค้าทั้งภายในและภายนอกจึงเติบโตและเป็นหัวใจของความมั่งคั่งของนครรัฐกรีกในยุคทองของกรีก กรีกเสื่อมสภาพหลังถูกครอบครองโดยจักรวรรดิ์โรมัน ซึ่งนำมาซึ่งการผูกขาดทางอำนาจและทางเศรษฐกิจการเพิ่มขึ้นของความไม่เท่าเทียมกันเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้กรีกเข้าสู่ภาวะชะงักงันในที่สุด ในส่วนชีวิตและเศรษฐกิจของชาวเมืองนั้นการศึกษาในอดีตมักจะให้ความสำคัญน้อยไปของเมืองในยุคโบราณ เศรษฐกิจของ เมโสโปเตเมีย ความเป็นเมืองมีมาแต่โบราณ เมืองคือศูนย์กลางของการค้า

กรณีของกรีกเมืองยิ่งมีความสำคัญมากมันมากับความสัมพันธ์ระหว่างศาสนา เช่น ศาสนาคริสต์ ครอบครัวและการมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของบุคคล