จุดอ่อนในการขับเคลื่อน ผลิตภาพการผลิตไทย

จุดอ่อนในการขับเคลื่อน ผลิตภาพการผลิตไทย

ทั้งๆที่ทุกคนต่างรู้ว่า “ผลิตภาพ” เป็นทั้งตัวชี้วัด และเป็นทั้งหนทางในการพัฒนา แต่ทำไมประเทศไทยยังไปไม่ถึงไหนเสียที?

ในช่วงที่การเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของโลก กำลังอยู่ในช่วงที่วุ่นวาย สับสน และดูเหมือนว่ากำลังเคลื่อนตัวย้ายฝั่งมาสู่เอเชีย เป็นอีกครั้งที่หลายคนเชื่อว่าทั้ง 3 ประเด็นดังกล่าวเกิดการย้ายขั้ว แบ่งข้าง และจะเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่จากผลของความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โครงสร้างทางเศรษฐกิจ โครงสร้างทางสังคม และดุลอำนาจทางการเมืองของโลกกำลังเป็นที่จับตามอง ว่าจะไปจบหรือเกิดดุลยภาพใหม่ที่จุดใดสภาวะไหน เป็นอีกครั้งที่ท้าทายนักคิด นักวิชาการ นักอนาคตศาสตร์ และนักพัฒนาทั้งหลาย

 

สำหรับประเทศไทยคำว่า ผลิตภาพ หรือ Productivity มีการกล่าวถึงหลายครั้งหลายคราโดยนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ นักอุตสาหกรรมชั้นแนวหน้าที่เชื่อในเรื่องความได้เปรียบในการแข่งขัน แม้แต่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหลายฉบับที่ผ่านมาจนถึงฉบับล่าสุด ทั้งๆที่ทุกคนต่างรู้ว่า “ผลิตภาพ” เป็นทั้งตัวชี้วัด (measure) และเป็นทั้งหนทางในการพัฒนา (mean) แต่ทำไมประเทศไทยยังไปไม่ถึงไหนเสียที ทั้งๆที่ผลการจัดอันดับความสามารถการแข่งขันไม่ว่าจะเป็น IMD หรือ WEF ก็ล้วนแต่มีปัจจัยด้านประสิทธิภาพและผลิตภาพเป็นหัวข้อใหญ่ จนกระทั่งทุกวันนี้เรากำลังหันไปให้ความสำคัญกับ Innovation Driven Growth  ทั้งๆที่ Productivity Driven Growth เรายังไม่ไปถึงไหน กลายเป็นว่าเรามีโจทย์ใหญ่ 2 ข้อที่ต้องผลักดัน

 

ความจริงถ้าไม่มี Productivity เป็นพื้นฐานแล้ว Innovation ก็ไม่ยั่งยืน ผมได้มีโอกาสอ่านบทความที่เรียบเรียงเนื้อหาจากแหล่งต่างๆที่เชื่อถือได้ นำมาสรุปใหม่ให้กระชับในชื่อว่า “ผลิตภาพการผลิตของไทย กับจุดอ่อนในการขับเคลื่อน” ของคุณพัชรศรี แดงทองดี นักวิจัยของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ที่ได้ฉายให้เห็นข้อมูลสำคัญที่บ่งบอกอดีต อธิบายปัจจุบัน และยังสามารถทำนายอนาคตได้อีกด้วย ผมจะขอข้ามเนื้อหาด้านเทคนิคตลอดจนวิธีการวัด โดยนำข้อสรุปที่น่าสนใจมาถ่ายทอดแทน ดังนี้

 

โดยทั่วไปเวลาเราพบเจอคำว่าผลิตภาพ หรือการแสดงผลของผลิตภาพในแต่ละประเทศนั้น มักจะอ้างถึงผลิตภาพแรงงาน (Labor productivity) โดยอาจประมาณการมาจาก GDP ต่อกำลังแรงงานในประเทศ แต่มีการวัดอีกแบบหนึ่งซึ่งเป็นผลของการวัดผลิตภาพการผลิตรวม(จากทุกปัจจัย) หรือ total factor productivity (TFP) ซึ่งไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างผลผลิตกับปัจจัยการผลิตที่ใช้(ในเชิงปริมาณ) อาทิ ที่ดิน ทุน แรงงาน เท่านั้น หากแต่ยังให้สะท้อนคุณภาพของการใช้ทรัพยากร ด้วยการให้คุณค่ากับการจัดการ ตลอดจนเทคโนโลยีที่ใช้ งานศึกษาที่ผ่านมาพบว่าปัจจัยที่จะส่งผลให้ผลิตภาพการผลิตรวมสูงขึ้นได้มี 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่

กลุ่มแรก ประสิทธิภาพของปัจจัยการผลิต ซึ่งหมายถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในกระบวนการผลิต การพัฒนาทักษะแรงงานคน การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและการให้บริการ รวมถึงการบริหารจัดการภาครัฐ

กลุ่มที่สอง การสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและบริการ ซึ่งมาจากการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม การศึกษาและวิเคราะห์ตลาด และการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า เป็นต้น

 

จากการคำนวณขององค์การเพิ่มผลผลิตแห่งเอเซีย (Asian Productivity Organization : APO) โดยใช้ข้อมูลจากบัญชีประชาชาติที่จัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม (NESDB) เป็นข้อมูลพื้นฐานในการคำนวณ ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วง 30 กว่าปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากปัจจัยทุนเกินครึ่งหนึ่ง หรือ ประมาณร้อยละ 2.81 หรือ (ร้อยละ 54.0) ของการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยโดยรวม ในขณะที่ปัจจัยแรงงานมีส่วนเพียงร้อยละ 0.61 (ร้อยละ 11.8)  และจาก TFP ประมาณร้อยละ 1.76 (ร้อยละ 33.9) ซึ่งสอดคล้องกับวิกฤตการขาดแคลนแรงงานทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยหากพิจารณาในแต่ละช่วงเวลาจะพบว่าการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจไทยปัจจัยหลักมาจากปัจจัยทุนเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นเพียงช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เท่านั้นที่ปัจจัยหลักของการขยายตัวของเศรษฐกิจมาจากค่า TFP จึงอาจกล่าวได้ว่าปัจจัยทุนเป็นปัจจัยหลักในการเพิ่มอัตราการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจไทย

 

ปัจจัยที่ทำให้อันดับการแข่งขันของไทยไม่สามารถไปสู่ระดับต้น ๆ ได้ คือ ปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ซึ่งปัจจัยนี้ประกอบด้วยปัจจัยย่อย 5 ด้าน ได้แก่ 1) โครงสร้างพื้นฐานจำเป็น 2) โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี 3) โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ 4) การศึกษาและสาธารณสุข และ 5) สิ่งแวดล้อม แทบไม่ต้องพูดอะไรต่อ ทุกคนก็คงเข้าใจตรงกันว่าทิศทาง นโยบาย และเป้าหมายของไทยควรจะเป็นเช่นไร พวกเราทุกคนคงต้องเพิ่มการมีส่วนร่วมมากขึ้น

 

ในมุมมองของผมเมื่อมองออกไปในอนาคตกับนโยบาย 4.0 เทคโนโลยีทั้งส่วนที่เป็นฮาร์ดแวร์ (หุ่นยนต์ แขนกล ระบบอัตโนมัติ เซนเซอร์ IoT หรือแม้แต่เทคโนโลยี 5G) และซอฟท์แวร์ (AI, Machine learning, Deep learning และ Data analytics) โดยมีคนและโครงสร้างพื้นฐานเป็นกลไกสำคัญ เพราะเมื่อโครงสร้างไม่พร้อม คนไม่มีความรู้ความสามารถเพียงพอ สุดท้ายก็ต้องรอนำเข้าทุกสิ่งทุกอย่างจากประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะฮาร์ดแวร์ที่เราต้องนำเข้าแทบจะเกือบทั้งหมด ถ้าจะขยับขับเคลื่อนอุตสาหกรรมต่างๆไปสู่ 4.0

 

ตอนนี้ผู้ให้บริการเทคโนโลยีรายใหญ่ของโลกไม่ว่าจะเป็น เยอรมัน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เกาหลี และจีน ต่างเข้ามาสร้างความสัมพันธ์กับหน่วยงานระดับนำของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน บริษัทชั้นนำเริ่มลงทุนให้กับบริษัทต่างชาติมายกระดับ (upgrade) ระบบการผลิตของตนเอง แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือเม็ดเงินจำนวนมากที่จะต้องไหลออก จากการนำเข้าเทคโนโลยี ทุกวันนี้ในระดับภาคการศึกษาและการฝึกอบรมที่เกี่ยวกับ IoT มีการนำเข้าบอร์ดควบคุม แผงวงจร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ทั้งที่เข้ามาเป็นชุดคิท เป็นชิ้นส่วน และที่มาแบบสำเร็จรูป ในแง่นักพัฒนาในประเทศคงได้สร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆจากอุปกรณ์ดังกล่าว แต่ในแง่ผู้ใช้ทั่วไปตามบ้าน เราจะได้เห็นยอดนำเข้าอุปกรณ์สำเร็จรูปที่เรียกว่า smart home เข้ามาอย่างมากมายจากการสั่งผ่านช่องทาง e-commerce