“จุดบอดผู้นำไทยและผู้นำโลก” 4 ประการ

“จุดบอดผู้นำไทยและผู้นำโลก” 4 ประการ

ผู้นำไม่ว่าจะเป็นผู้นำประเทศ ผู้นำชุมชน ผู้นำองค์กรหรือแม้กระทั่งผู้นำครอบครัว ล้วนเป็นบทบาทที่ซับซ้อน และถูกคาดหวังสูง

ต้องอาศัยการมีวิสัยทัศน์ การคิดเชิงกลยุทธ์ การมองภาพแบบบูรณาการและความเข้าใจในด้านอื่น ๆ อีกมาก ซึ่งความสามารถที่กล่าวมาทั้งหมดของผู้นำนี้ไม่ได้เป็นข้อบ่งชี้ว่า หากมีความสามารถด้านใดด้านหนึ่งอย่างโดดเด่นจะทำให้ได้รับความร่วมมือ ความน่าเชื่อถือหรือคะแนนนิยมจากคนหมู่มากได้

เดล คาร์เนกี ผู้นำด้านการพัฒนาศักยภาพบุคลากร ด้านการวิจัยภาวะผู้นำ และให้คำปรึกษาทางธุรกิจระดับโลกมากว่า 106 ปี งานวิจัยล่าสุด “Leadership Blind Spots จุดบอดผู้นำไทยและผู้นำโลก” จากการสำรวจผู้คน 3,300 คน ใน 4 ทวีป กว่า 14 ประเทศทั่วโลก ที่มีอายุ 21 ปีขึ้นไป ผ่านแบบสอบถามออนไลน์ พบปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อนระดับประเทศหรือองค์กร หรือ “4 จุดบอดใหญ่ของผู้นำที่มีผลต่อศักยภาพรวมของทั้งสังคมและองค์กร นั่นคือ การไม่ฟังอย่างตั้งใจ ขาดการชื่นชมอย่างจริงใจ ไม่เสมอต้นเสมอปลาย และไม่ยอมรับผิด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดวิกฤติศรัทธา ลดความน่าเชื่อถือและทำลายความจงรักภักดี โดยมีเพียง 17% ของคนทั่วโลกเท่านั้นที่พึงพอใจกับผู้นำในปัจจุบันของตน 

นอกจากนี้ ผู้นำที่แก้ไขจุดบอดทั้ง 4 กลับทำให้ความพึงพอใจของผู้อื่นเพิ่มเป็น 36% หรือกว่า 2 เท่า งานวิจัยระบุว่า 4 จุดบอดสำคัญนี้ หากผู้นำตระหนักจะเป็นโอกาสและเป็นหนทางสู่การเป็นสุดยอดผู้นำที่คนทั่วโลกและประเทศไทยต้องการนั่นคือ จริงใจ ยอมรับผิด ชื่นชมและรับฟัง

สรุป คือ พฤติกรรมของผู้นำที่นำไปสู่การได้รับความนิยมและความร่วมมือ ตลอดจนการมีส่วนร่วมของคนในองค์กร ชุมชน หรือแม้แต่ในครอบครัวในระดับสูงได้ผู้นำเหล่านั้นล้วนต้องมีพฤติกรรมใน 4 ข้อต่อไปนี้

  1. ผู้นำที่ได้ยกย่องชื่นชมผู้อื่นอย่างจริงใจ85% ของผู้ตอบแบบสอบถามจากทั่วโลก ระบุว่า การเห็นคุณค่าและได้รับการยอมรับจากผู้นำ นำมาซึ่งความต้องการในการทำงานให้ผลงานออกมาดีที่สุด และ 76% ระบุอีกว่า ผู้นำที่กล่าวคำยกย่องชมเชยและยอมรับในคุณค่าและความสามารถอย่างจริงใจ จะเป็นแรงบันดาลใจและแรงผลักดันในการทำงานมากกว่าผู้นำที่มุ่งผลงานเพียงอย่างเดียว ดังนั้น “การมองหาจุดดีและชื่นชมในจุดแข็ง หลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์ ประณามผู้อื่น เป็นพฤติกรรมที่ผู้นำควรปฏิบัติเพื่อให้เกิดการยอมรับและความร่วมมืออย่างแท้จริง ผู้นำที่ทำเช่นนี้ได้จะได้รับการนับถือมากกว่าการใช้วิธีทำลายความน่าเชื่อถือของอีกฝ่าย
  2. ผู้นำต้องนำความผิดพลาดมาเป็นบทเรียนความผิดพลาดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุก ๆ คนไม่เว้นแม้แต่ผู้นำ งานวิจัยจากเดล คาร์เนกี เผยว่า 81% ระบุว่าผู้นำจะเป็นแรงบันดาลใจให้เขาได้เมื่อยอมรับผิดในสิ่งที่เกิดขึ้น แม้บางครั้งอาจจะไม่ใช่ความผิดของตนโดยตรงแต่อยู่ในสายบังคับบัญชาหรือองค์กรของตน ซึ่งความจริงใจนี้จะนำมาซึ่งความน่าเชื่อถือ การให้โอกาสและความศรัทธาจากผู้อื่น เดล คาร์เนกี ชี้ว่าเมื่อเกิดความผิดพลาด ผู้นำควรตระหนักได้ว่าเราต้องรับผิดชอบ 100% ยอมรับ เรียนรู้จากความผิดพลาดและนำมาซึ่งการรับมือกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
  3. ผู้นำต้อง รับฟัง เคารพและเห็นคุณค่า งานวิจัยชี้ว่า กว่า 2 ใน 3 ของพฤติกรรมของผู้นำที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจต่อผู้อื่นได้คือ การรับฟังอย่างจริงใจและการเคารพในความแตกต่าง โดยยึดถือในหลักความเท่าเทียมและเป็นธรรม เดล คาร์เนกี แนะว่าการคำนึงถึงส่วนรวมโดยไม่ละเลยกลุ่มคนส่วนน้อย เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและจำเป็นมาก ดังนั้นผู้นำต้องคิดให้รอบด้านและครอบคลุม อาทิ การกำหนดนโยบายด้านใดด้านหนึ่งที่เอื้อประโยชน์กับคนกลุ่มนึง โดยไม่ได้คำนึงถึงกลุ่มอื่น อาจได้ความพอใจจากกลุ่มหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันอาจสร้างความแตกแยกและความเหลื่อมล้ำในสังคมได้
  4. ผู้นำที่มีจริยธรรม มีความโปร่งใส ซื่อสัตย์และชัดเจนความน่าเชื่อถือเป็นพื้นฐานของทุกๆ ความสัมพันธ์ไม่ว่าจะเป็นผู้นำในระดับใด เพราะความน่าเชื่อถือนำมาซึ่งความไว้ใจ การมีส่วนร่วมและความร่วมมือจากผู้อื่น งานวิจัยแบ่งความน่าเชื่อถือเป็น 2 ประเภท คือ ความน่าเชื่อถือภายในและภายนอก ความน่าเชื่อถือที่เกิดจากภายในหมายถึง ทำในสิ่งที่เชื่อ และเชื่อในสิ่งที่ทำ นั่นแสดงให้เห็นถึงความซื่อสัตย์ต่อตนเอง ไม่ใช่เป็นพวกมือถือสาก ปากถือศีล จากงานวิจัยยังระบุอีกว่ามีเพียง 30% เท่านั้น ที่เชื่อว่าผู้นำของเขาเป็นเช่นนี้ ผู้นำเหล่านี้จะหลีกเลี่ยงพฤติกรรมและคำพูดที่ขัดต่อความเชื่อที่เค้ามี ส่วนความน่าเชื่อถือภายนอกคือ ผู้นำที่ทำและพูดตามสัญญา จากงานวิจัยระบุไว้เช่นกันว่ามีเพียง 30% เท่านั้น ที่เชื่อว่าผู้นำของตนสามารถรักษาสัญญาและรักษาคำพูด 

จากงานวิจัย ยังระบุว่าภาคพื้นยุโรป และภาคพื้นสหรัฐและแคนาดา เป็นกลุ่มประเทศที่ผู้คนเชื่อมั่นในตัวผู้นำและเห็นว่าการกระทำกับคำพูดสอดคล้องกันมากที่สุด ซึ่งสอดคล้องกับการจัดอันดับด้านความโปร่งใส ในรายงานสำรวจปัญหาคอรัปชั่นทั่วโลกปี 2560 โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ที่ประเทศ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ และนอร์เวย์ อยู่ในอันดับที่ 2 และ3 ประเทศแคนาดาและสหรัฐอยู่ในอันดับที่ 8 และ 16 ตามลำดับ ขณะที่ไทยอยู่อันดับ 96 

ฉะนั้น ผู้นำที่ได้รับการยอมรับจากผู้คนและครองใจผู้คนได้ยาวนาน คือ ผู้นำที่พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอและเป็นนักเรียนรู้ (Learning Agility and Life Long Learning) ที่พร้อมรับฟังความคิดเห็น รวมไปถึงคำติชมจากผู้อื่น ผู้นำเหล่านั้นต้องไม่ถือตนว่าตัวเองดีตัวเองเก่งแล้ว ซึ่งการคิดเช่นนี้เป็นหลุมพรางในการหยุดพัฒนาตนเองและทำให้ไม่สามารถเข้าใจในบริบทความแตกต่างของผู้คนต่างวัย ต่างชาติพันธ์และต่างความคิดได้ ยุคนี้ไม่ใช่ยุคของ “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” แต่เป็นยุคที่ใครปรับตัวได้ก่อนก็จะอยู่รอด ผู้นำยุคใหม่ก็เช่นเดียวกัน

โดย... 

ดร.ปรียกร มิมะพันธุ์