ยุทธศาสตร์สนับสนุนฟินเทคของ ก.ล.ต

ยุทธศาสตร์สนับสนุนฟินเทคของ ก.ล.ต

 สำนักงาน ก.ล.ต เปิดเผยยุทธศาสตร์การดำเนินงานระยะเวลาสามปีตั้งแต่ 2562-2564 

โดยแผนงานดังกล่าวมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับเรื่องของเทคโนโลยีหรือฟินเทคอยู่พอสมควรจึงขอนำมาเล่าสู่กันฟังในที่นี้ 

ที่น่าตื่นเต้นคือแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวมีการพูดถึงเรื่อง STO (Securities Token Offering) อย่างชัดเจน และนำ Blockchain มาใช้ในการซื้อขายหลักทรัพย์ เพื่อลดขั้นตอนและต้นทุนการดำเนินงานลงโดยให้เหตุผลว่าหากไทยล้าหลังในด้านการนำเทคโนโลยี Blockchainมาใช้กับการทำธุรกรรมในตลาดทุนจะเกิดภาวะที่ตลาดทุนไทยอาจขาดการเชื่อมต่อกับตลาดทุนในภูมิภาคอาเซียนด้วยกัน รวมถึงโอกาสที่จะสร้างสินทรัพย์การลงทุนใหม่ในรูปแบบของ Digital Token ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนที่มีเงินทุนไม่มากนักสามารถเป็นเจ้าของได้

ไทย จึงเป็นประเทศแรกๆของโลกที่หน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนได้พูดถึงการสนับสนุน STO อย่างเป็นรูปธรรม และล้ำหน้าไปไกลกว่าบางประเทศอย่างเกาหลีใต้ที่ตอนนี้เพิ่งจะสรุปเรื่องของกฎเกณฑ์การทำ ICOและใบอนุญาตของผู้ประกอบการด้านสินทรัพย์ดิจิทัลหรือประเทศจีนที่เหมือนจะปิดตายเรื่องนี้ไปแล้ว

นอกจากสินทรัพย์ดิจิทัล สำนักงาน ก.ล.ต เองยังให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเผยแพร่ผลิตภัณฑ์การลงทุนที่มีผู้ให้คำแนะนำอย่างเป็นกลางลงไปถึงกลุ่มผู้ที่มีรายได้ปานกลาง จากเดิมที่บริการให้คำปรึกษาด้านการลงทุนจะจำกัดเฉพาะผู้ที่มีรายได้สูงเท่านั้น

อีกบทบาทหนึ่งของสำนักงาน ก.ล.ต ก็คือการกำกับดูแลผู้ประกอบการธุรกิจตลาดทุน ไม่ว่าจะเป็นบริษัทหลักทรัพย์หรือจัดการกองทุน แม้แต่ฟินเทค ตรงจุดนี้สำนักงานฯมีแผนที่จะส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ เช่นการเปิด Open API และ Machine Readable ให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆในตลาดทุนในรูปแบบดิจิทัลเพื่อให้การนำไปใช้งานต่อมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว เช่นเดียวกันกับการปรับปรุงสิ่งที่เคยเป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจเช่น ค่าใบอนุญาต ค่าธรรมเนียมต่างๆก็จะมีการปรับปรุงให้รองรับต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม

จริงๆแล้วแผนยุทธศาสตร์ระยะสามปีของสำนักงาน ก.ล.ต มีเนื้อหาที่น่าสนใจอยู่หลายประเด็นทั้งที่เกี่ยวข้องกับฟินเทคและไม่เกี่ยว ทั้งการพัฒนาตลาดทุนไทยให้เป็นแหล่งระดมทุนของภูมิภาค CLM,การส่งเสริมแหล่งระดมทุนใหม่ๆ ฯลฯ เร็วๆนี้ทางสำนักงานฯจะมีการแถลงแผนดังกล่าวกับสื่อมวลชนอีกที 

แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าแผนยุทธศาสตร์ (ที่ผ่านมาเวลาพูดถึงยุทธศาสตร์มักจะมองว่าเป็นนามธรรมแต่ไม่สามารถปฎิบัติได้จริง) ก็คือการปรับวิธีคิดและการปฎิบัติงานขององค์กร ซึ่งในส่วนนี้ได้ถูกบรรจุลงไปในแผนงานด้วยเช่นกัน เพราะถ้าบุคลากรในองค์กรไม่ปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลง ยุทธศาสตร์ก็จะเป็นเพียงแค่น้ำหมึกบนกระดาษ ซึ่งต้องยอมรับว่าเจ้าหน้าที่ ก.ล.ต ยุคนี้มีแนวคิดและวิธีคิดที่ทันสมัย กล้าที่จะทำตัวออกนอกกรอบในหลายๆอย่าง โดยเฉพาะงานด้านสื่อที่พลิกวิธีคิดในการนำเสนอได้เป็นอย่างดี 

เวลาพูดถึงข้าราชการหัวก้าวหน้า ผมจะนึกถึงประเทศสิงคโปร์เป็นที่แรกแต่ตอนนี้พนักงานสำนักงาน ก.ล.ต ไทยก็หัวก้าวหน้าไม่แพ้กันแล้วครับถือเป็นสัญญาณที่ดีของการพัฒนาวงการฟินเทคและตลาดทุนไทยให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้