“รถคันใหม่ปีใหม่นี้ ควรเป็นรถแบตเตอรี่ไฟฟ้า?”

“รถคันใหม่ปีใหม่นี้ ควรเป็นรถแบตเตอรี่ไฟฟ้า?”

หลายคนเมื่อเข้าสู่ปีใหม่หรือตรุษจีน หลังจากได้รับโบนัส อั่งเปาแล้ว

เริ่มมีความคิดที่จะถอยรถใหม่สักคัน และคำถามที่ถูกถามบ่อยๆ คือ รถคันต่อไปควรจะเป็นรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรี่ไฟฟ้าทั้งคันแบบเทสล่าหรือยัง? ข้อดีของรถดังกล่าว เราคงได้ยินกันมามากพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นรถที่มีอัตราเร่งดีมาก เผลอๆ จะเร็วกว่ารถแข่ง หรือเป็นรถที่ประกอบด้วยชิ้นส่วนน้อยมาก ทำให้การดูแลรักษาเป็นไปได้ง่ายกว่ารถใช้น้ำมันในปัจจุบันมากมาย อีกทั้งมีซอฟต์แวร์ต่างๆ าจุษจีน หลังจากได้รับโบนัส อั้งตอรี่ไฟฟ้าที่มีสมองกล (Artificial Intelligence; AI) เรียนรู้วิธีการขับรถของเรา แล้วทำให้คล่องตัวและสะดวกขึ้น จดจำสถานที่เราเดินทางไปบ่อยๆ แล้วมีการแนะนำเส้นทางที่เร็วและสั้นที่สุด หรือแม้กระทั่งขับรถแทนเรา (autonomous driving) และแน่นอนที่สุดคือ ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่มีการปล่อยสารที่เป็นมลภาวะออกมาระหว่างที่มันทำงานอยู่ รวมถึงฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เป็นอันตราย หรือ pm2.5

ยิ่งเมื่อติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับรถแบตเตอรี่ไฟฟ้า หรือ Battery Electric Vehicle: BEV แล้ว ยิ่งรู้สึกว่าโลกจะหมุนไปทางนี้แน่นอน ไม่ว่าข่าวล่าสุดที่ หนึ่งในสามคันของรถที่จำหน่ายในประเทศนอร์เวย์เมื่อปี 2561 ที่ผ่านมาเป็นรถ BEV ซึ่งเป็นสถิติใหม่ของโลก หรือศาลที่ประเทศเยอรมนีสั่งห้ามรถดีเซลวิ่งในเมืองเบอร์ลิน แฟรงเฟิร์ต แมนส์ สตุ๊คการ์ด เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา อีกทั้งข้อมูลยอดขายของเทสล่า โมเดล 3 ที่ขายได้เยอะกว่าคู่แข่งทุกยี่ห้อในอเมริกาเหนือ เมื่อเทียบกับ BMW series 3 หรือ Benz C class เมื่อไตรมาส 3 ที่ผ่านมา หรือ ข้อมูลจาก Bloomberg New Energy Finance: BNEF ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัย พบกว่า รถ EV หนึ่งล้านคันแรกใช้เวลานับปี ขณะที่ล้านที่สองใช้เวลา 17 เดือน จากปี 2014-2016 และจากล้านที่สามสู่ล้านที่สี่ใช้เวลาแค่หกเดือนในปีที่ผ่านมา เป็นต้น ผมว่าผู้บริโภคหลายท่านคงไขว้เขวว่า ถ้าไม่อยากตกเทรนด์ น่าจะต้องเลือกเหมือนที่ชาวยุโรปหรืออเมริกันเขาเลือกกันดีไหม

เมื่อเราวิเคราะห์ดู จะเห็นว่า BEV ส่วนใหญ่ที่ขายได้นั้น จะเป็นรถที่อยู่ในเซกเมนต์พรีเมียม และจะถูกเทียบกับรถยุโรปเป็นหลัก เนื่องจากราคาแบตเตอรี่ซึ่งเป็นต้นทุนหลักยังมีราคาค่อนข้างสูง แม้แต่ในสหรัฐหรือนอร์เวย์ก็ยังมีการอุดหนุน (subsidy) ด้านราคาจากภาครัฐอยู่พอสมควร โดยราคาตัวรถก่อนภาษีสรรพสามิตของประเทศไทยก็ยังอยู่ที่ 1.5-2 ล้านบาทต่อคัน ซึ่งเป็นราคาของรถที่ประเภทราคาย่อมเยาหรือ mass market model (เทสลา โมเดล 3 ราคาก่อนรัฐบาลอุดหนุนอยู่ที่ $50,000) เมื่อเทียบกับรถ eco car ของเราที่ราคาต่ำกว่าหนึ่งล้านบาท หลังภาษีแล้ว หรือรถเทสล่า เอส ซึ่งเป็น SUV จะแพงกว่ารถประเภทเดียวกันของค่ายยุโรปกว่าเท่าครึ่ง ดังนั้นถ้าท่านที่จะซื้ออาจต้องเผื่อใจในส่วนของราคารถอยู่พอสมควร

ในส่วนของการใช้งานก็ต้องพิจารณาเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องการชาร์จแบตเตอรี่ โดยส่วนใหญ่แล้ว รถ BEV ยังต้องใช้เวลาในการชาร์จให้เต็มระหว่าง 4-8 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับขนาดของแบตเตอรี่ของรถ และจุดชาร์จที่เหมาะสมจึงเป็นที่ที่รถยนต์สามารถจอดได้นานๆ เช่นที่บ้าน ออฟฟิศ หรือโรงภาพยนตร์เป็นต้น เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่า ถ้าที่พักอาศัยเป็นบ้านน่าจะสะดวกกว่าท่านที่พักอยู่ในคอนโด เนื่องจากที่จอดรถในคอนโดส่วนใหญ่ยังอาจจะไม่มีบริการด้านชาร์จไฟ อีกทั้ง การใช้ BEV เหมาะกับท่านที่เดินทางเป็นเส้นทางประจำ เช่นพนักงานออฟฟิศที่ทำงานในออฟฟิศเป็นส่วนใหญ่ หรือการขนส่งสินค้าที่มีจุดหมายคงที่และชัดเจน เพื่อที่จะสามารถคำนวณระยะทางที่เดินทางได้ และประมาณการการเติมไฟในแต่ละครั้ง ถ้าขับรถออกนอกเส้นทาง ความเสี่ยงคือสภาพจราจร เราไม่สามารถคำนวณได้ว่าแบตเตอรี่จะหมดเมื่อไหร่ และระหว่างทางจะมีที่ชาร์จหรือไม่ เคยมีกรณีที่หนักกว่านั้น แม้จะหาที่ชาร์จเจอ แต่บัตรเติมเงินเป็นคนละรุ่นกัน แล้วใช้แทนกันไม่ได้ ต้องไม่ลืมว่ารถ BEV ถ้าแบตเตอรี่หมดก็คือรถจะจอดตายเลยนะครับ

อีกเรื่องที่สำคัญไม่น้อยคือ มีตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการในประเทศไทยหรือไม่ และศูนย์ซ่อมและบริการเป็นอย่างไร ถึงแม้ว่าชิ้นส่วนของรถ BEV มีน้อยกว่ารถใช้น้ำมัน แต่การดูแลแบตเตอรี่ การดูแลซอฟต์แวร์รถยนต์ และส่วนประกอบอื่นๆ ยังเป็นเรื่องที่ค่อนข้างสำคัญทีเดียว

ข้อมูลที่น่าสนใจจาก BNEF ว่า สถานีชาร์จไฟสาธารณะในสหรัฐมีกว่า 50,000 แห่ง แต่มีปั๊มน้ำมันกว่า 100,000 แห่ง ซึ่งยังไม่รวมในแต่ละปั๊มมีหลายหัวจ่าย และใช้เวลา 3-4 นาทีในการเติม เมื่อเทียบกับ 30-40 นาที สำหรับ quick charge อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าเทคโนโลยีของแบตเตอรี่จะมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดและ Solid state lithium ion battery จะเป็นจุดสำคัญที่ทำให้ทั้งราคาและความจุ (หรือคือระยะทางที่รถสามารถวิ่งได้) สามารถแข่งขันกับรถใช้น้ำมันได้ ซึ่งมองกันว่าในปี 2025-30 น่าจะได้เห็นรถยนต์ที่ใช้แบตเตอรี่ solid state ดังกล่าวในท้องถนน อีกทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะสถานีชาร์จประจุที่คาดว่าต้องใช้เงินอีกหลายหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และระบบสายส่งไฟฟ้าและสถานีจ่ายไฟย่อยที่ต้องเตรียมตัวรองรับการชาร์จ โดยเฉพาะ quick charge ของรถ BEV

อายุการใช้งานของรถหนึ่งคันอยู่ที่ 6-10 ปี ซึ่งคิดว่าใน 10 ปีข้างหน้า เราน่าจะเห็นทั้งการพัฒนาของแบตเตอรี่รถยนต์และโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องได้อย่างชัดเจนขึ้น แต่ในระหว่างนี้เราก็สามารถดูแลสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้รถที่มีการปล่อยมลภาวะต่ำเช่น Hybrid EV หรือ Plug-in Hybrid EV ที่มีจำหน่ายอย่างแพร่หลาย และใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่ได้มาตรฐานยูโร 5 เช่น E20 หรือ premium diesel ที่ได้มาตรฐานดังกล่าว น่าจะเป็นทางเลือกที่รักษ์โลกอีกทางหนึ่ง และช่วยลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก pm2.5 อีกด้วย