“ฝุ่นละออง”กับการแก้ปัญหาในอินเดีย

“ฝุ่นละออง”กับการแก้ปัญหาในอินเดีย

สวัสดีค่ะคุณผู้อ่านทุกท่าน เป็นอย่างไรกันบ้างคะสำหรับท่านที่อาศัยใน กทม.และปริมณฑล

กับสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือPM2.5ที่สูงเกินค่ามาตรฐาน50ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรในหลายพื้นที่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

นอกจากเราจะรอความหวังในการแก้ปัญหาอย่างชัดเจน เห็นผลเป็นรูปธรรมจากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ฉบับนี้ดิฉันมีตัวอย่างจากภาคธุรกิจเพื่อสังคมในประเทศอินเดีย ประเทศที่ได้ชื่อว่ามีมลพิษและฝุ่นควันสูงติดอันดับต้นๆ ของโลกมาเล่าให้ฟังค่ะ

โดยจากข้อมูลจากเวบไซต์livemint.comซึ่งเป็นสื่อในประเทศอินเดีย กิจการเพื่อสังคมรายนี้มีชื่อว่า“Strata Enviro” (สตราตา เอ็นไวโร) ก่อตั้งโดย “อามล จาบเฮการ์ชาวอินเดียวัย38ปีที่ได้เปลี่ยนเส้นทางอาชีพจากการพัฒนาแอพพลิเคชั่นมาทำกิจการเพื่อสังคมอย่างเต็มตัวด้วยการผลิตอุปกรณ์กำจัดมลพิษภายนอกอาคาร หรือOutdoor Air Pollution Controller

โดยความน่าสนใจก็คือ ถึงแม้เจ้าเครื่องกำจัดมลพิษภายนอกอาคารที่ว่านี้จะมีต้นทุนสูงถึงเครื่องละ70,000รูปีอินเดีย หรือประมาณ3หมื่นกว่าบาทต่อเครื่อง แต่อามลบอกว่าเขาสามารถนำเครื่องกำจัดมลพิษที่ว่านี้ไปติดตั้งในที่สาธาณะได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ

เครื่องกำจัดมลพิษดังกล่าวใช้ระบบข้อมูลของInternet of ThingsหรือIoTในการคัดกรองมลพิษเช่นฝุ่นละอองPM2.5 PM10ควันจากท่อไอเสีย และฝุ่นควันประเภทอื่นๆ โดยสามารถนำเครื่องที่ว่าไปติดตั้งในบริเวณที่มีมลพิษสูง เช่น บริเวณถนนที่มีการจราจรคับคั่ง โทลเวย์ สถานีรถไฟ สนามบิน ปั๊มน้ำมัน ฯลฯ โดยอามลบอกว่าแต่ละเครื่องสามารถลดมลพิษได้ในรัศมีประมาณ20เมตร และสามารถนำขึ้นพาหนะไปสถานที่ต่างๆ ได้ โดยจะมีระบบควบคุมระยะไกลจากIoTที่ควบคุมและเก็บข้อมูล ซึ่งทำให้การติดตามสถานการณ์มลพิษทำได้ง่ายและสะดวกขึ้น

แรงบันดาลในในการทำธุรกิจนี้ อามลเล่าว่ามาจากการที่เขาเคยปั่นจักรยานท่ามกลางสภาพอากาศที่เลวร้าย เขาจึงหาข้อมูลและพบว่าแม้จะมีเครื่องมอนิเตอร์คุณภาพอากาศภายนอกอาคารอยู่หลายชนิด แต่ก็ไม่มีเครื่องใดเลยที่สามารถลดมลภาวะได้ จึงเป็นความท้าทายที่ทำให้เขาต้องการแก้ปัญหาและสร้างธุรกิจนี้ขึ้นมาจากโอกาสที่มองเห็น โดยกิจการของเขาปัจจุบันได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานมากมายในอินเดีย รวมถึงยังมีกลุ่มสตาร์ทอัพมาขอร่วมลงทุนกับเขาอีกด้วย

หลังจากทำการวิจัยและพัฒนาประมาณ6เดือน“Strata Enviro” ก็สามารถพัฒนาเครื่องต้นแบบและนำไปจดสิทธิบัตรได้ และมีการทดลองในห้องแลบเพื่อตรวจวัดฝุ่นละอองที่เครื่องดักจับได้ โดยถึงแม้ว่าเครื่องนี้จะมีสนนราคาสูงถึงกว่า3หมื่นบาท แต่อามลบอกว่าเขาสามารถผลิตและนำไปติดตั้งตามที่สาธารณะต่างๆ ให้ฟรีๆ โดยบริษัทยังมีรายได้และยังทำให้โปรเจคพัฒนาเครื่องนี้เป็นไปอย่างยั่งยืน

นั่นก็คือ ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาในการติดตั้งในที่สาธารณะจะมี “สปอนเซอร์” เป็นผู้จ่าย โดยจะได้พื้นที่โฆษณาบนตัวเครื่องเป็นการแลกเปลี่ยน จึงทำให้มีรายได้เข้ามาต่อเนื่องและทำให้สามารถบำรุงรักษาเครื่องต่อไปได้อีกด้วย

โดยปัจจุบันเครื่องกำจัดมลพิษนี้ถูกนำไปติดตั้งในสถานที่ต่างๆ ในอินเดียแล้วกว่า300เครื่อง เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล และด่านเก็บค่าผ่านทางในรัฐมหาราษฏระและเดลี และบางส่วนได้ทำไปทดลองใช้ที่มัลดีฟส์

เขาบอกว่าเป้าหมายคือการสร้างเครื่องกำจัดมลพิษอย่างน้อย1แสนเครื่อง ซึ่งทำให้มีความจำเป็นต้องหาแหล่งเงินทุนเพิ่ม “เรามีปัญหาหลักๆ จากการดีลกับหน่วยงานราชการเพื่อขออนุญาตติดตั้งเครื่องนี้ตามที่สาธารณะต่างๆ และประชาชนก็ยังไม่ค่อยรู้ว่าเราสามารถติดตั้งให้ได้ฟรีๆ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย”

นี่คือตัวอย่างหนึ่งของความพยายามในการแก้ไขปัญหาสังคมที่สามารถนำไปต่อยอดเป็นธุรกิจได้อย่างยั่งยืน และที่สำคัญยังดูจะเข้ากับสถานการณ์ในบ้านเราตอนนี้ไม่น้อยเลยทีเดียวค่ะ