ข้อเตือนใจเกี่ยวกับประชาธิปไตย

ข้อเตือนใจเกี่ยวกับประชาธิปไตย

24 มี.ค.นี้ คนไทยที่อายุถึงเกณฑ์จะได้ไปใช้สิทธิใช้เสียงเพื่อเลือกตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่ในสภา คนจำนวนไม่น้อยหวังไว้ว่า หลายเรื่องอาจจะดีขึ้น

หากเราได้ลงคะแนนเสียงเลือกตัวแทนเข้าไปทำงานตามวิถีประชาธิปไตย ในห้วงอารมณ์เช่นนี้ เราต้องไม่ลืมว่า ประชาธิปไตยก็เหมือนทุกสรรพสิ่งในโลกที่ไม่ได้สมบูรณ์พร้อมไปทุกด้าน เราลองมาดูกันว่า นักคิดและรัฐบุรุษทั้งหลายมีข้อเตือนใจเกี่ยวกับประชาธิปไตยไว้อย่างไรบ้าง

อริสโตเติ้ล กล่าวว่า ประชาธิปไตยเกิดขึ้นจากแนวคิดว่า เสรีภาพเป็นของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน แต่เมื่อใดที่เสรีภาพถูกคุกคามโดยปราศจากเหตุผลที่ดี ประชาธิปไตยก็อาจเสื่อมถอยลงไป จนกลายเป็นการใช้อำนาจผูกขาดของคนกลุ่มน้อยได้

แฟรงคลิน รูสเวลท์ เตือนเราไม่ให้ลืมว่า รัฐบาลไม่ใช่สิ่งแปลกแยกจากประชาชน ผู้ปกครอง (หมายถึงตัวแทนในการบริหารประเทศ) ในระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่ประธานาธิบดี ไม่ใช่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่ใช่ข้าราชการ ผู้ปกครองที่แท้จริงคือประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียง ดังนั้น ประชาธิปไตยจะประสบความสำเร็จได้ ก็ต่อเมื่อผู้มีสิทธิออกเสียง เลือกตัวแทนของเขาอย่างชาญฉลาด ผ่านการคิดอ่านมาอย่างรอบคอบแล้ว

สำหรับจอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว เขาเชื่อว่า ประชาธิปไตยเป็นกลไกที่มีหลักประกันในตัวของมันเองว่า ประชาชนจะถูกปกครองด้วยผู้ปกครองแบบที่พวกเขาสมควรจะได้รับ ดังนั้น สังคมไหนที่ประชาชนคิดอย่างมีวิจารณญาณ ก็จะได้ผู้ปกครองที่เปี่ยมด้วยปัญญา สามารถนำพาประเทศไปข้างหน้าโดยยึดเอาความผาสุกของคนในประเทศเป็นหลัก

จอห์น เอฟ เคนเนดี้เองก็เห็นด้วยกับ ชอว์ เขาเคยกล่าวไว้ว่า การที่ผู้มีสิทธิออกเสียงสักคนหนึ่งเลือกด้วยความไม่รู้ ไม่ใส่ใจ ไม่คิดให้รอบคอบ ก็อาจส่งผลร้ายต่อคนทั้งหมดในสังคมได้ ซึ่งสอดคล้องกับที่ เพลโตกล่าวไว้ว่า บางครั้งทรราชย์และการกดขี่ก็เกิดขึ้นมาจากประชาธิปไตยนี่แหละ ด้วยเหตุนี้ แม้ว่าประชาธิปไตยจะดูหอมหวาน แต่ซ่อนไว้ด้วยความวุ่นวายโกลาหล จนอาจทำลายโอกาสที่จะสร้างความเท่าเทียมกันในสังคมได้

อเล็กซานเดอร์ เดอ ทอควิลล์ พูดถึงเรื่องความมั่งคั่งกับความเท่าเทียมกันในระบอบประชาธิปไตยไว้ว่า ความมั่งคั่งโดยตัวของมันเองไม่ใช่เรื่องเสียหาย ตราบใดที่มันไม่ได้อยู่ในมือของคนกลุ่มเดียวนานเกินไปจนเกิดเป็นชนชั้นขึ้นมา นั่นหมายความว่า อาการรวยกระจุกจนกระจายก็คือสัญญาณหนึ่ง ที่แสดงถึงการเจ็บป่วยของระบอบประชาธิปไตย

สำหรับท่าที่ของ ลี กวน ยู ที่มีต่อระบอบประชาธิปไตยนั้น ค่อนข้างจะมีความระมัดระวังอยู่ไม่น้อย เห็นได้จากการที่เขาพูดว่า ความเป็นประชาธิปไตยมากจนเกินไป อาจทำให้คนขาดวินัย บ้านเมืองไม่เป็นระเบียบ เพราะต่างคนก็ต่างเอาแต่แสวงหาอิสรภาพให้กับตัวเอง จนส่งผลร้ายต่อความก้าวหน้าของประเทศในภาพรวม เขายังเชื่อด้วยว่า ไม่มีสูตรสำเร็จสำหรับประชาธิปไตย ต้องมีการปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละประเทศ จะเลียนแบบมาทั้งดุ้นไม่ได้ ดังที่เขาได้กล่าวไว้ว่า ประเทศจีนจะไม่กลายเป็นประชาธิปไตยเสรีแบบตะวันตก เพราะถ้าขืนเป็นแบบนั้น ประเทศจีนต้องวุ่นวานมากแน่ๆ การเติบโตของประชาธิปไตยในแต่ละประเทศย่อมมีหนทางที่แตกต่างกัน และไม่ควรแยกการเติบโตนี้ออกจากเส้นทางการพัฒนาในอดีต

แม้ว่าประชาธิปไตยจะเป็นระบอบที่เชื่อกันว่าดีที่สุดเท่าที่จะมีได้ในขณะนี้ แต่การจะทำให้ระบอบนี้ทำงานได้อย่างเต็มที่ คนในสังคมต้องให้ความสำคัญกับหลายประเด็นด้วยกัน นีล บอห์ร เห็นว่า ปัจจัยสำคัญคือ ความโปร่งใสของสังคม ทุกภาคส่วนต้องสามารถตรวจสอบกันได้ ไม่มีการปิดกั้นหรือบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ความลับ คำโกหก คำใส่ร้ายป้ายสี สิ่งเหล่านี้คือสัญญาณบอกว่า นักการเมืองกำลังทำตัวเหมือนเผด็จการ

หลุยส์ ลามัวร์ กล่าวว่า หน้าที่ของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยไม่ควรหยุดอยู่ที่การลงคะแนนเสียง แต่ประชาชนทุกคนควรมีบทบาทในทุกกระบวนการ ใครที่วางเฉย ไม่ได้ร่วมมีบทบาทก็ไม่ควรมีสิทธิ์จะมาพร่ำบนเกี่ยวกับปัญหาการเมืองหรือนโยบายต่างๆ ที่ไม่ดี เพราะการวางเฉยของคนเหล่านี้ ก็คือการตัดสินใจไม่ทำหน้าที่ของตนเองในฐานะพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย

อเล็กซานเดอร์ วูลคอทท์ เคยกล่าวว่า เขารู้สึกรำคาญทุกครั้งที่มีคนมาบ่นว่าประชาธิปไตยมันไม่ได้ผล เมื่อไหร่พวกเขาจะเข้าใจเสียทีว่า จะมานั่งรอให้มันได้ผลมันเป็นไปไม่ได้ พวกเราทุกคนนี่แหละที่จะต้องช่วยกันทำให้มันได้ผลขึ้นมา

แน่นอนว่า เส้นทางของการไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริงและเหมาะสมกับบริบทในพื้นที่นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย สำหรับประเทศไทยเองยังมีบททดสอบอีกหลายเรื่องที่รอเราอยู่ สิ่งที่เราช่วยเราให้ผ่านบททดสอบเหล่านี้ได้ คือ คำสอนของมหาตมา คานธี ที่บอกว่า “จิตวิญญาณของประชาธิปไตย ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบหรือกลไก มันเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงในหัวใจของคน”