วิกฤติในระบบนิเวศ

วิกฤติในระบบนิเวศ

ระบบนิเวศทางธุรกิจวันนี้เปราะบางกว่าเดิม

ระบบนิเวศน์ทางเศรษฐกิจของโลกเชื่อมโยงให้แต่ละประเทศมีความเกี่ยวกันพันอย่างใกล้ชิดมากขึ้นเรื่อยๆ จนผลกระทบที่เกิดขึ้นในประเทศหนึ่งอาจส่งผลมาถึงประเทศที่อยู่ห่างไกลนับพันนับหมื่นกิโลเมตรได้รุนแรงกว่าที่ใครจะคาดคิด

สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา จึงเริ่มส่งผลกระทบมาถึงเรามากขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับเหตุการณ์ความวุ่นวายในยุโรป ทำให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศประเมินการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยอยู่ที่ 3.9% จากที่เราเองประเมินไว้ถึง 4.7%

สาเหตุสำคัญก็คือผลกระทบที่เกิดจากประเทศต่างๆ ข้างต้น โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างประเทศมหาอำนาจทั้งสอง เริ่มทำให้การส่งออกของเรามีสัญญาณที่ไม่ดีเกิดขึ้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเพราะการที่จีนถูกกีดกันทางการค้าก็ย่อมส่งผลถึงประเทศคู่ค้าทั้งหลายของจีน และไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น

เมื่อการค้ามีปัญหา ผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมาก็หนีไม่พ้นมนุษย์เงินเดือนและประชาชนทั่วไปที่ไม่อาจจับจ่ายใช้สอยได้คล่องเหมือนในอดีต และที่สำคัญก็คือระบบสินเชื่อที่อาจหนีผลกระทบในครั้งนี้ไปไม่พ้นเพราะรายรับของคนทั่วไปลดลง โอกาสในการชำระหนี้ให้ได้ตามสัญญาก็ปรับลดลงด้วยเช่นกัน

หากเรามาวิเคราะห์สินเชื่อส่วนบุคคลที่ทั้งระบบของประเทศไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 12 ล้านล้านบาทจากจำนวนลูกหนี้ประมาณ 19-20 ล้านคนซึ่งมีบัญชีหมุนเวียนทั้งหมดประมาณ 100 ล้านบัญชี มีจำนวนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือที่เรารู้จักกันในนามเอ็นพีแอล(NPL) ทั้งหมดประมาณ 7%

หนี้เอ็นพีแอลทั้งระบบคิดเป็นมูลค่าราวๆ 8 แสนล้านบาท ซึ่งน่าสนใจว่าในจำนวนนี้มีการปรับปรุงข้อมูลรวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อแก้ไขปัญหาอยู่หลายครั้ง แต่ประมาณ 40% ของลูกหนี้ที่แก้ไขสถานการณ์ได้แล้วจะกลับมาเป็นเอ็นพีแอลอีกครั้ง

แล้วใครบ้างที่กลายเป็นลูกหนี้ที่ไม่สามารถบริหารจัดการหนี้ของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ? หากนำข้อมูลด้านอายุของลูกหนี้และจำนวนหนี้เอ็นพีแอลมาทำเป็นกราฟ เราจะเห็นว่าอายุเฉลี่ยของคนที่ก่อหนี้อย่างไม่มีประสิทธิภาพนั้นเริ่มลามมาถึงคนอายุน้อยมากขึ้น

สินเชื่อส่วนบุคคลที่สร้างขึ้นโดยขาดวินัยทางการเงินนั้นกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้นจนถึงขนาดที่ว่าคนที่เดินผ่านเราไป 10 คนตามถนนหนทางต่างๆ ที่มีอายุประมาณ 35-40 ปีนั้น มีจำนวนคนที่เป็นหนี้เอ็นพีแอลถึง 2 คนซึ่งเป็นอัตราส่วนที่น่ากังวลพอสมควร

อีกตัวเลขหนึ่งที่น่าสนใจก็คือสินเชื่อภาคธุรกิจ หากดูจากทั้งระบบแล้วจะเห็นว่าบริษัทรายใหญ่ของประเทศไทย 100 อันดับแรกมีอัตราส่วนเงินกู้มากถึงกว่า 50% ของจำนวนหนี้ทั้งหมด หรือถ้าจะขยายขอบเขตการวิเคราะห์เป็นบริษัทขนาดใหญ่ 500 อันดับแรกจะมีอัตราส่วนสูงเกือบถึง 70% เลยทีเดียว

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะความสามารถในการขอสินเชื่อของบริษัทขนาดใหญ่มีมากกว่าบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กทั่วไปหลายเท่า เพราะได้เปรียบในแง่ความน่าเชื่อถือ เงินหมุนเวียน ฯลฯ ที่ทำขอสินเชื่อได้ง่ายกว่า และมีต้นทุนดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าด้วยเช่นกัน

ถ้าหากเป็นสภาวะปกติก็ไม่น่ากังวลอะไร แต่หากเกิดปัญหาเรื่องหนี้สินในภาคธุรกิจเกิดขึ้น การมีความหลากหลายของสินเชื่อจะเป็นการกระจายความเสี่ยงรูปแบบหนึ่ง เพราะเมื่อสินเชื่อกระจุกตัวอยู่กับบริษัทไม่กี่แห่งแล้วหากกลายเป็นสินเชื่อด้อยคุณภาพ ก็อาจจะฉุดให้ระบบสินเชื่อทั้งระบบมีปัญหาได้ทันที

นั่นหมายความว่าปัญหาของบริษัทไม่กี่แห่งอาจฉุดให้สินเชื่อของธนาคารมีปัญหา แล้วดึงให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศเกิดวิกฤติขึ้นตามมาด้วย ระบบนิเวศทางธุรกิจในวันนี้จึงเปราะบางกว่าเดิม และส่งผลกระทบได้รุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ

การทำธุรกิจในทุกวันนี้จึงต้องรู้จักประเมินสถานการณ์รอบด้าน และต้องเข้าใจว่าผลกระทบจากตัวแปรอื่นๆ ล้วนมีความสำคัญและส่งผลสะท้อนกลับมาถึงเราได้สักวันหนึ่ง