จดหมายเปิดผนึกถึงคณะกรรมการนโยบายการเงิน

จดหมายเปิดผนึกถึงคณะกรรมการนโยบายการเงิน

เรียนคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก่อนอื่นกระผมขอแสดงความชื่นชมท่านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะประธาน กนง.

 รวมถึงผู้บริหารระดับสูงทุกท่าน ที่ได้เชิญกระผมเข้าร่วมประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) และให้เกียรติเป็นประธานการประชุมและตอบคำถามด้วยตนเอง

เนื้อหาสำคัญของการประชุมครั้งนี้ อยู่ในช่วงถามตอบ โดยกระผมได้มีโอกาสเรียนถามท่านผู้ว่าฯ และผู้บริหาร โดยคำถามสำคัญที่กระผมใคร่ขอเรียน กนง. ในจดหมายนี้คือ

1. มองระยะยาว เงินเฟ้อเราต่ำกว่าเป้าหมายมาตลอด 4 ปี ดัชนีค่าเงินบาทที่เปรียบกับเงินสกุลคู่ค้าและคู่แข่ง (NEER) แข็งค่าต่อเนื่อง 16% ในรอบ 5 ปี ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่อง 7 ปี ติดกัน GDP ไทยโตต่ำสุดในอาเซียน บ่งชี้ว่านโยบายการเงินเราตึงตัวเกินไปหรือไม่และ

2.ประเด็นเสถียรภาพการเงินที่ทาง ธปท. เป็นห่วงไม่ว่าจะเป็นการออกหุ้นกู้เพื่อระดมทุนของบริษัทขนาดใหญ่ และการปล่อยกู้ของสหกรณ์นั้น มีความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจเท่ากับช่วงก่อนวิกฤตต้มยำกุ้งไหม

ท่านผู้ว่าฯ ได้กรุณาตอบคำถามของกระผม โดยแบ่งเป็นประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

1.เรื่องเงินเฟ้อไทยที่ต่ำกว่าเป้าหมายมาตลอดนั้น มาจากปัจจัยเชิงโครงสร้างเป็นหลัก เช่น เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ทำให้ต้นทุนการผลิตถูกลง และเป็นผลจากราคาน้ำมันที่ถูกลง ฉะนั้นจึงไม่ต้องกังวลหากเงินเฟ้อจะต่ำกว่าเป้าหมาย ซึ่งเป็นการกล่าวเป็นนัยว่าเงินเฟ้อที่ต่ำกว่าเป้าไม่ได้มาจากนโยบายการเงินที่ตึงเกินไป

2.ในประเด็นดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ที่แข็งค่าต่อเนื่องในรอบ 5 ปี ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องนั้น ทาง ธปท. เชื่อว่าหากการลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในระยะต่อไปเกินดุลลดลง ซึ่งจะลดแรงกดดันเงินบาทที่แข็งค่าในระยะต่อไปได้

3.ประเด็นที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำที่สุดในอาเซียนนั้นธปท. เห็นว่าปัญหาหลักมาจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ไม่สามารถแก้ได้ด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงินเพียงอย่างเดียว

ด้วยความเคารพ กระผมเห็นว่า มุมมองเช่นนั้นเป็นการมองแต่ละปัญหาแยกจากกัน ไม่ได้มองเป็นองค์รวม เปรียบเสมือนการมองต้นไม้ทีละต้น ทำให้ไม่เห็นป่าทั้งป่า โดยกระผมมองว่าสภาวะ 4 ประการ อันได้แก่ (1) เงินบาทแข็งค่าเกินไป (2) ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่อง (3) เงินเฟ้อต่ำกว่าเป้า และ (4) การลงทุนในประะเทศที่ต่ำต่อเนื่อง เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง

จดหมายเปิดผนึกถึงคณะกรรมการนโยบายการเงิน

ปัญหาเหล่านั้นเกิดจากนโยบายการเงินที่ตึงตัวเกินไป อันได้แก่ (1) ดอกเบี้ยที่สูงจนเกินไป และ (2) ค่าเงินที่แข็งค่าจนเกินไป โดยนับตั้้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา ประเทศไทยเริ่มเกินดุลการค้าต่อเนื่อง เดือนละประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการส่งออกและท่องเที่ยวที่ดีขึ้น และจากเศรษฐกิจที่ชะลอลงจนทำให้การนำเข้าลดลง ทำให้ในปัจจุบันเกินดุลสะสมถึงปัจจุบันถึงประมาณ 1.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณเกือบ 35% ของ GDP เลยทีเดียว)

การเกินดุลระดับสูงเช่นนี้ควร Offset ด้วยเงินทุนไหลออกจากดุลเงินทุนเคลื่อนย้าย (เพื่อให้ดุลการชำระเงินสมดุล) แต่ดอกเบี้ยที่สูงเกินไปก็ทำให้เงินในประเทศไม่ไหลออกอย่างที่ควรจะเป็น ส่งผลให้เงินไหลเข้าสุทธิ เงินบาทจึงแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง โดย NEER ของไทยที่แข็งกว่า 16% เป็นเครื่องบ่งชี้ได้ดี และหากพิจารณาค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับค่าเงินสกุลอื่น ๆ ในช่วงดังกล่าว จะเห็นว่าบาทต่อดอลลาร์อ่อนค่าไปประมาณ 4% แต่ค่าเงินภูมิภาค เช่น จีน สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น หรืออินโดนิเซีย อ่อนลงในระดับ 5-52% ทำให้ไทยเสียเปรียบความสามารถในการแข่งขันอย่างรุนแรง

เงินบาทที่แข็งเกินไป ทำให้รายได้ผู้ส่งออกในรูปเงินบาทต่ำกว่าคู่แข่ง ทำให้กำไรมีแนวโน้มลดลง ผู้ผลิตที่ต้องแข่งขันกับต่างประเทศจึงกดค่าจ้างเพื่อให้ผลกำไรยังแข่งขันได้ ขณะเดียวกัน รายได้ของผู้ส่งออกสินค้าเกษตรที่ได้เป็นเงินบาทก็ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้รายได้ของลูกจ้างและเกษตรกรอยู่ในระดับต่ำ

เมื่อรายได้ของประชาชนในประเทศน้อย การใช้จ่ายก็น้อยลงตาม เป็นผลให้ตลาดในประเทศซึมเซา ซึ่งเมื่อรวมกับผลจากภาวะสังคมสูงวัย (Aging Society) ก็ยิ่งทำให้ศักยภาพของตลาดในประเทศต่ำลง ผู้ผลิตก็ไม่อยากที่จะลงทุนเพิ่ม ทำให้การลงทุนไทยต่ำที่สุดในอาเซียน โดยในช่วง 7 ปีที่่ผ่านมา การลงทุนรวมของไทยขยายตัวเพียง 11.1% ต่ำกว่าประเทศในเอเชียที่การลงทุนขยายตัวที่ 13.6%-101.4% ในช่วงดังกล่าว

กนง. ทุกท่านคงทราบดีว่าการลงทุนเป็นเมล็ดพันธุ์ของการเติบโตเศรษฐกิจในอนาคต การลงทุนที่ต่ำก็ย่อมหมายถึงอนาคตของเศรษฐกิจไทยที่มืดมนเช่นกัน

จดหมายเปิดผนึกถึงคณะกรรมการนโยบายการเงิน

การแก้ไขปัญหานี้จะต้องผลักดันให้นโยบายการเงินผ่อนคลายมากขึ้น โดยการทำให้ (1) เงินบาทอ่อนค่า (อย่างน้อยให้อยู่ในระดับเดียวกับภูมิภาค) และทำให้ (2) ดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนทางการเงินถูกลง ผู้ผลิตกู้ยืมเงินง่ายขึ้น ช่วยลดอุปสรรคด้านการลงทุนบ้าง

ขณะที่เงินบาทอ่อนค่า จะทำให้รายได้ผู้ส่งออกในรูปเงินบาทมากขึ้น ผู้ส่งออกก็มีเงินมาจ่ายค่าจ้างมากขึ้น รวมถึงเกษตรกรผู้ส่งออกก็จะมีรายได้มากขึ้น การใช้จ่ายในประเทศก็จะมากขึ้น ตลาดในประเทศก็จะเริ่มกระเตื้องขึ้น ผู้ผลิตก็จะหันกลับมาลงทุนในประเทศมากขึ้น การลงทุนก็จะสูงขึ้น ศักยภาพเศรษฐกิจในประเทศก็จะกระเตื้องขึ้น

กระผมมองว่า สาเหตุที่ ธปท. ดำเนินนโยบายการเงินตึงตัว (ค่าเงินแข็ง/ ดอกเบี้ยสูง) เป็นเพราะว่ากังวลเรื่องเสถียรภาพเศรษฐกิจ กระผมจึงมีคำถามว่า ธปท. ได้มีการพิจารณาข้อดีข้อเสีย (Trade-off) ระหว่างการดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวกับศักยภาพเศรษฐกิจไทยที่ลดลงต่อเนื่องหรือไม่อย่างไร

ท้ายที่สุด ผมขอเรียน กนง. ทุกท่านว่า สิ่งที่อยู่ในมือของท่านข้างหนึ่งคือเสถียรภาพของระบบการเงินไทยที่ยังไม่เป็นความเสี่่ยงมากนัก แต่อีกข้างหนึ่งคืออนาคตของลูกหลานคนไทยที่กำลังหล่นหายไปในกระแสการแข่งขันของโลกอันเชี่ยวกราก ขณะที่ท่านมีเครื่องมือที่จะช่วยลูกหลานไทยในอนาคตได้

ท่านจะเลือกข้างใด โปรดพิจารณาให้รอบคอบ เพราะเดิมพันนี้สูงยิ่งนัก

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา 

ด้วยความเคารพอย่างสูง

ปิยศักดิ์ มานะสันต์ 

[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่]