ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวรในที่ทำงาน

ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวรในที่ทำงาน

เชื่อหรือไม่ว่า ในองค์กรเวทีทำงานของมนุษย์เงินเดือน บรรยากาศการทำงานและความสัมพันธ์ของคนในองค์กรอาจไม่ได้แตกต่างจากวงการเมืองสักเท่าไหร่

ซึ่งในวงการเมืองทั่วโลกดูเหมือนจะเห็นพ้องต้องกันว่า “ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร” โดยเฉพาะในบ้านเราที่ไม่ (ค่อย) มีพรรคการเมืองใดชนะการเลือกตั้งได้เสียงข้างมากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลด้วยตนเองได้ จำเป็นต้องร่วมมือกับพรรคอื่นๆเพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสม ดังนั้นการที่พรรคใดพรรคหนึ่งเคยเป็นฝ่ายค้านทุ่มเถียงกันอย่างเผ็ดร้อนกับพรรคฝ่ายรัฐบาลแบบว่าถ้าเป็นคนธรรมดาทั่วๆไปคงไม่มองหน้าพูดจากันอีก เพราะการถูกซักฟอกวิพากษ์วิจารณ์ด้วยถ้อยคำถากถางดูถูกดูหมิ่นประจานต่อสาธารณชนอย่างรุนแรงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถให้อภัยกันได้ง่ายๆ

อย่างไรก็ตาม นักการเมืองหลายคนก็สามารถทำเป็นลืมหรือลืมเรื่องบาดหมางเก่าๆได้ จากนั้นก็จับมือกันร่วมงานกันเมื่อต้องมาทำหน้าที่รัฐบาลร่วมกัน ดูไปก็อาจคล้ายๆกับนักกีฬาที่ต้องทำใจรู้แพ้ รู้ชนะ รู้จักให้อภัยกัน ในหลายโอกาสนักการเมืองอาจจะมีสปิริตดีกว่านักกีฬาก็เป็นได้ เพราะสามารถให้อภัยกันและกลับมาทำงานกันได้อีกอย่างแนบแน่นดังกล่าวแล้ว และเมื่อในโอกาสต่อไปเผอิญต้องทำงานอยู่คนละข้าง ก็ทำการซักฟอกกันอย่างดุเดือดต่อไปตามหน้าที่ในเวลานั้น และนอกจากจะมีใจเป็นนักกีฬาแล้ว นักการเมืองยังอาจเป็นนักแสดงได้ดีอีกด้วยเพราะสามารถแสดงบทบาทของฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลได้อย่างดี ตีบทแตกกระจุย ปรับตัวยืดหยุ่นได้ว่องไวตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ

ทั้งนี้มีนักจิตวิทยาองค์กรชื่อ "ลาร์รี่ สตีเบล" และ "แมรี่แอน พีบอดี้" ได้เคยเขียนบทวิเคราะห์เรื่องของการบริหารสัมพันธภาพกับคนที่เราเรียกว่า “ศัตรู” ในที่ทำงานลงในนิตยสาร Psychology Today ว่า ความจริงแล้วหากวิเคราะห์ให้ดีคนที่เราคิดว่าเป็นศัตรูของเรานั้นอาจจะไม่ได้เป็นศัตรูก็ได้ การที่เขาคิดเห็นไม่ตรงกับเราและไม่สนับสนุนเราในเรื่องที่เราต้องการไม่ได้แปลว่าเขาตั้งตัวเป็นศัตรูที่ต้องการทำลายเราหรือกำจัดเราให้พ้นทาง

ลาร์รี่และแมรี่แอนกล่าวว่า ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจให้ดีถึงความหมายของคำว่าเพื่อน (friends) และเพื่อนร่วมงาน (colleagues) ก่อน คำว่าเพื่อนนั้นคือคนที่เราสามารถมอบความไว้วางใจได้อย่างไม่มีเงื่อนไข (unconditional trust) เราไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทน หรือทำงานตอบแทนให้เพื่อน เพื่อนก็ยังรัก หวังดีและพร้อมจะช่วยเราโดยไม่เรียกร้องสิ่งตอบแทน คนแบบนี้คือเพื่อนแท้ (real friends) ซึ่งหายากในที่ทำงาน

ในเรื่องนี้อดีตประธานาธิบดี แฮร์รี่ ทรูแมน ผู้ล่วงลับเคยพูดถึงความสัมพันธ์ของผู้คนที่ทำงานในทำเนียบรัฐบาลที่วอชิงตัน ดี.ซี.ว่า ถ้าอยากได้เพื่อนสักคน (ในที่ทำงาน) ก็หาสุนัขมาเลี้ยงสักตัว (จะดีกว่า)” ... มันแย่ได้ขนาดนั้น!

ดังนั้นหากท่านรู้สึกว่าท่านไม่มีเพื่อนแท้สักคนในที่ทำงานก็จงอย่ารู้สึกแย่จนเกินไป คนสมัยก่อนเขาก็หาเพื่อนในที่ทำงานไม่ค่อยได้เหมือนกันค่ะ เหตุเพราะว่าคนที่ทำงานที่เราเรียกว่าเพื่อนร่วมงานนั้นคือคนที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับเราหลายอย่าง เราต่างต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันเวลาทำงานด้วยกัน อีกทั้งรางวัลหรือผลตอบแทนตลอดจนตำแหน่งงานดีๆ อำนาจและสิทธิประโยชน์ต่างๆในที่ทำงานก็มีจำกัด และมีให้เฉพาะคนที่มีผลงานดีกว่าคนอื่น จึงเป็นเรื่องช่วยไม่ได้ที่สภาพแวดล้อมการทำงานจะมีเรื่องของการแข่งขันเข้ามาเกี่ยวข้อง หากมีผู้นำที่ดีก็จะสามารถจัดระบบและสร้างบรรยากาศการทำงานที่คนทำงานต่างสนับสนุนซึ่งกันและกัน ชนะร่วมกันเป็นทีม ทำให้เรื่องของการแข่งขันชิงดีชิงเด่นลดน้อยลงไปได้มาก แต่ถ้าผู้นำสนใจแต่จะได้ผลงาน ส่วนทีมงานจะรักใคร่กลมเกลียวกันหรือไม่เป็นเรื่องของทีมงานที่จะดูแลกันเอง หากเป็นแบบนี้ก็จะหาเพื่อนดีๆจากที่ทำงานได้ยาก

คุยเรื่องคำว่าเพื่อนและเพื่อนร่วมงานไปแล้วว่ามีความหมายต่างกันอย่างไร มาคุยต่อถึงคำว่าศัตรู (enemies) กันเลยค่ะ ลาร์รี่และแมรี่แอนอธิบายว่าศัตรูคือคนที่เราไม่สามารถมอบความไว้วางใจได้เลย เผลอหรือไม่เผลอ ศัตรูของเราจะพยายามทำลายหรือทำให้เราเดือดร้อนเสมอ ดังนั้นการที่เพื่อนร่วมงานบางคนไม่เห็นด้วยกับเรา ไม่สนับสนุนความคิดและการกระทำของเรา แต่ไม่ได้ทำร้ายเรา เขาจึงอาจไม่ใช่ศัตรู แต่เป็นเพียงฝ่ายตรงข้าม (adversaries) ซึ่งเรายังมีหนทางที่จะทำงานกับฝ่ายตรงข้ามได้ในบางโอกาสที่เราและเขาเกิดมีความต้องการที่ตรงกัน หรือเราทำให้เขาเชื่อว่าเรามีความต้องการที่ตรงกัน

ปูพื้นการทำความเข้าใจเรื่องเพื่อน เพื่อนร่วมงาน ศัตรู และฝ่ายตรงข้ามไปแล้ว ลำดับต่อไปคือการทำความเข้าใจว่าความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานในที่ทำงานนั้นเป็นความสัมพันธ์แบบมีเงื่อนไข (conditional relationship) เงื่อนไขก็คือข้อตกลงหรือข้อแลกเปลี่ยนนั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผู้นำดูแลลูกน้องดี ให้คำแนะนำ ช่วยเหลือ ให้ทรัพยากรที่ลูกน้องต้องการในการทำงาน ลูกน้องก็จะทำงานให้อย่างดี ส่วนเมื่อลูกน้องทำงานดี ทำให้ผู้นำได้รางวัลได้เลื่อนขั้น ผู้นำก็ควรให้รางวัลและเลื่อนขั้นลูกน้องตามที่ลูกน้องคาดหวัง นี่คือความคาดหวังที่ต่างฝ่ายต่างมีต่อกัน เป็นข้อตกลงหรือเงื่อนไขของสัมพันธภาพในการทำงานของแต่ละฝ่าย

ดังนั้นความสัมพันธ์ในการทำงานของท่านกับผู้บังคับบัญชา ลูกน้องหรือเพื่อนร่วมงานแผนกอื่นในที่ทำงาน จึงเป็นเรื่องของสัมพันธภาพที่มีเงื่อนไข ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้บ่อยๆว่าแต่ละฝ่ายอาจมีความเข้าใจในเงื่อนไขหรือความคาดหวังของแต่ละฝ่ายที่ไม่ตรงกัน ทำให้เข้าใจผิดในการแสดงบทบาทของตน หรือหลายครั้งแม้จะมีความเข้าใจตรงกันเรื่องหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละฝ่าย แต่ความต้องการส่วนตัวของคนทำงานแต่ละคนอาจมีความสำคัญเหนือกว่าเงื่อนไขที่ตกลงกัน คนทำงานบางคนจึงไม่ทำตามข้อตกลง แต่ทำตามความต้องการของตนเอง นี่คือธรรมดาของโลกแห่งการทำงานที่เราต้องทำความเข้าใจ ลาร์รี่กับแมรี่แอนบอกว่าเมื่อเราเข้าใจพื้นฐานและตรรกะของความสัมพันธ์ของคนในที่ทำงาน เราก็จะสามารถทำงานกับผู้ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับเราหรือแม้กระทั่งเป็นศัตรูกับเราได้อย่างสบายใจขึ้นโดยมีกลยุทธ์ดังต่อไปนี้

แยกแยะก่อนว่าบุคคลใดคือฝ่ายตรงข้ามและศัตรูโดยพิจารณาจากคำนิยามที่นำเสนอไปแล้ว เมื่อท่านทำการวิเคราะห์อย่างรอบคอบแล้วบางทีท่านจะพบว่า จริงๆแล้วท่านไม่ได้มีศัตรูที่ชิงชังท่าน จ้องจะทำลายท่านตลอดเวลา แต่แค่มีฝ่ายตรงข้ามที่คิดไม่เหมือนท่าน และถ้าท่านสามารถโน้มน้าวจิตใจเขาได้ ท่านก็อาจได้เขามาเป็นเพื่อนชั่วคราว จนกว่าท่านจะมีความต้องการที่ไม่ตรงกับเขาอีก

ไม่ทำตัวสุดโต่ง แบ่งพรรคแบ่งพวกอย่างชัดเจนในที่ทำงาน ซึ่งไม่ได้แสดงว่าท่านจะต้องแทงกั๊ก ทำตัวคลุมเครือ เลือกคบเพื่อนเฉพาะกลุ่มที่คิดไปในทางเดียวกับท่าน เพราะนั่นเป็นวิธีที่ปิดกั้นทำให้เพื่อนฝูงของท่านในที่ทำงานลดน้อยลง ทั้งนี้ท่านยังคงรักษาไว้เรื่องอุดมการณ์ที่ท่านเชื่อ เช่น ความโปร่งใส ซื่อสัตย์ สุจริต ยุติธรรม เหล่านี้เป็นค่านิยมที่ท่านควรสร้างให้เป็นแบรนด์ของตนเอง ส่วนเรื่องอื่นๆ เช่นวิธีการทำงานซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี ท่านควรแสดงตนว่าเป็นผู้ที่มีจิตใจเปิดกว้างรับฟังความเห็นที่แตกต่าง พร้อมจะทำงานกับคนหลายบุคลิก ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นคุณสมบัติของมืออาชีพที่ควรมีอยู่แล้ว ไม่แสดงตนและไม่ประกาศตนเป็นศัตรูกับใคร ยกเว้นเสียบุคคลนั้นได้รับการพิสูจน์ทราบแล้วว่าเป็นผู้ที่ไม่มีคุณธรรมในการทำงาน (ซึ่งเชื่อเถิดว่าหลายองค์กรยังเก็บคนเหล่านี้ไว้อยู่) การทำตัวเป็นคนที่ยืดหยุ่น ไม่เรื่องมาก ทำงานกับใครก็ได้เป็นภาพลักษณ์ที่ดีที่มนุษย์เงินเดือนที่ต้องการก้าวหน้าในการทำงาน

รักษาความสุภาพ ไม่นินทาว่าร้ายใครในที่ทำงาน เป็นการดีและเป็นมืออาชีพที่จะทำตัว “น้ำขุ่นอยู่ใน น้ำใสไว้นอก” เวลาไม่พอใจใคร หรือไม่เห็นกับใครก็ไม่จำเป็นต้องทุ่มเถียงส่งเสียงดัง พูดเสียงเรียบๆ หน้ายิ้มๆและแสดงเหตุผลที่ไม่เห็นด้วยโดยไม่แสดงอารมณ์ และที่สำคัญคือพยายามไม่นินทาว่าร้ายเพื่อนร่วมงานซึ่งคำพูดของท่านแม้จะเป็นความจริงอาจทำให้ท่านตกอยู่ในฐานะลำบากได้ในอนาคต จะเป็นเรื่องที่ฉลาดกว่าและได้เปรียบกว่าตรงที่คนรอบข้างจะเห็นว่าท่านทำตัวเป็นผู้ใหญ่ และกทั้งฝ่ายที่เห็นตรงข้ามกับท่านก็จะไม่รู้สึกเป็นปฏิปักษ์กับท่านโดยไม่จำเป็น เขาอาจจะรู้สึกเพียงว่าท่านไม่เห็นด้วยกับเขา แต่ท่านไม่ได้โกรธหรือไม่ชอบเขา ซึ่งความรู้สึกแบบนี้มันจะเอื้อต่อการสร้างโอกาสที่จะพูดคุยและทำงานกับเขาได้ง่ายในอนาคต ไม่ใช่พอไม่เห็นด้วยต้องโกรธกันและเป็นศัตรูกันเสมอไป

พยายามศึกษาทำความเข้าใจ ความต้องการและเพื่อนฝูงในกลุ่มของบุคคลเป้าหมาย เนื่องจากความสัมพันธ์ในที่ทำงานเป็นความสัมพันธ์แบบมีเงื่อนไขดังกล่าวแล้ว ดังนั้นหากท่านสามารถสร้างเงื่อนไขที่ทำให้ทั้งท่านและเพื่อนร่วมงานสามารถได้ในสิ่งที่ต้องการร่วมกัน อาจจะไม่ได้สมใจทั้งสองฝ่าย แต่ได้บ้างกันทุกฝ่าย แบบนี้ก็พอที่จะทำให้ท่านและเพื่อนร่วมงานเดินร่วมทางกันไปได้ นอกจากนี้การที่ท่านรู้จักว่าบุคคลใดอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับเพื่อนร่วมงานที่ท่านต้องการขอความช่วยเหลือสนับสนุน ท่านอาจขอความช่วยเหลือจากบุคคลเหล่านี้ให้ช่วยเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างท่านกับบุคคลเป้าหมายด้วยก็ได้

หวังว่าปีใหม่ปีนี้จะเป็นโอกาสอันดีที่ท่านจะทำเรื่องยากๆ คือเปลี่ยนฝ่ายตรงข้ามให้เป็นมิตรกลายเป็นเรื่องหมูๆไปได้นะคะ