นวัตกรรมแบบใด ถึงจะช่วยยกระดับความเจริญของประเทศ?

นวัตกรรมแบบใด ถึงจะช่วยยกระดับความเจริญของประเทศ?

มีหนังสือที่น่าสนใจเล่มหนึ่ง ที่เพิ่งออกมาเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ชื่อ The Prosperity Paradox เขียนโดย Clayton Christensen

และผู้เขียนร่วมอีกสองท่าน Clayton เป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัย Harvard และถือเป็นกูรูทางด้านกลยุทธ์และนวัตกรรมชื่อดังของโลก Clayton เป็นผู้ที่แนะนำแนวคิดเรื่องของ Disruptive Innovation สู่โลกทางการจัดการและธุรกิจ มาคราวนี้ในหนังสือเล่มใหม่ Clayton และผู้เขียนร่วม ได้มุ่งเป้าที่จะเสนอแนะแนวทางสำหรับการยกระดับความเจริญของประเทศผ่านทางนวัตกรรม รวมทั้งการชี้โอกาสให้กับธุรกิจในการสร้างตลาดใหม่ๆ ที่ทั้งทำกำไรให้กับธุรกิจและขณะเดียวกันช่วยยกระดับความเจริญของประเทศด้วย

คำถามแรกที่พบในหนังสือเล่มนี้คือ ทำไมประเทศบางประเทศ ที่ถึงแม้จะพยายามทุกวิถีทาง ไม่ว่าจะพัฒนาการศึกษา สาธารณสุข โครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคมขนส่ง การเพิ่มการส่งออก ฯลฯ แต่ก็ยังไม่สามารถยกระดับการพัฒนาและความเจริญของประเทศได้? ซึ่งความเจริญในที่นี้ไม่ได้หมายแค่ความร่ำรวย เพราะหลายประเทศที่ร่ำรวยด้วยทรัพยากรก็อาจจะไม่เจริญไ้ด้

ในหนังสือเล่มนี้ ได้ระบุไว้ว่า ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จะยกระดับความเจริญของประเทศได้นั้น คือเรื่องของนวัตกรรม อย่างไรก็ตามใช่ว่านวัตกรรมทุกอย่างจะสำคัญและเหมือนกันหมด ดังนั้นการมุ่งเน้นแต่คำว่า “นวัตกรรม” โดยไม่ได้สนใจประเภทของนวัตกรรมก็อาจจะไม่สามารถนำความเจริญสู่ประเทศ Clayton ได้จัดไว้ว่ามีนวัตกรรมอยู่ 3 ประเภท ได้แก่ market-creating, sustaining, efficiency

Market-creating innovation นั้นคือนวัตกรรมที่นำไปสู่การสร้างตลาดใหม่ เป็นตลาดสำหรับคนในประเทศที่ยังขาดสินค้าหรือบริการที่จะตอบสนอง หรือ คนในประเทศก็ไม่สามารถเข้าถึงสินค้า บริการที่มีอยู่ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากต้นทุนที่สูงหรือการใช้งานที่ยุ่งยาก Market-creating innovation นั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงสินค้า บริการ (ที่อาจจะมีอยู่แล้ว) ไปสู่สิ่งที่คนที่เป็น nonconsumers สามารถเข้าถึงและใช้งานได้ ทำให้เกิดการเพิ่มจำนวนผู้ซื้อและผู้ใช้งาน

Sustaining innovation เป็นการยกระดับสินค้าหรือบริการเดิมที่มีอยู่แล้ว โดยกลุ่มลูกค้าหลักคือลูกค้าเดิมๆ ที่ใช้สินค้าหรือบริการนั้นอยู่แล้ว แต่ต้องการของที่ดีขึ้น และ Efficiency innovation ช่วยให้องค์กรสามารถทำงานได้ด้วยทรัพยากรที่น้อยลง เช่น การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำให้ต้นทุนต่ำลง นวัตกรรมชนิดนี้ทำให้องค์กรมีกำไรเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังเน้นลูกค้าและตลาดเดิมๆ

Market-creating innovation เป็นนวัตกรรมที่นำไปสู่การสร้างตลาดใหม่ๆ การสร้างความต้องการใหม่ๆ การทำให้คนกลุ่มหนึ่ง (เรียกว่า nonconsumers) สามารถเข้าถึงสินค้าหรือบริการที่ไม่เคยมีโอกาสได้เข้าถึงมาก่อน ดังนั้นองค์กรหรือประเทศที่ประสบความสำเร็จในการสร้าง Market-creating innovation จะนำไปสู่การสร้างงานที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากต้องการคนมาช่วยในการผลิต ทำการตลาด ขนส่ง สินค้าหรือบริการนั้นไปยังกลุ่ม nonconsumers ขณะเดียวกันก็นำไปสู่การสร้างกำไรให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากในเชิงธุรกิจแล้ว เป็นการเปิดตลาดใหม่ให้เกิดขึ้นและเป็นตลาดที่มีฐานที่กว้างกว่าเดิม และสุดท้ายตลาดใหม่นั้นจะนำไปสู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน หรือ การศึกษาที่จำเป็นและเกี่ยวข้อง

สรุปนวัตกรรมที่นำไปสู่การยกระดับความเจริญของประเทศนั้น เป็นนวัตกรรมประเภท Market-creating innovation ที่นอกเหนือจากจะนำไปสู่กำไรทางธุรกิจแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว ยังนำไปสู่การยกระดับความเจริญของประเทศ เนื่องจากเป็นการสร้างงานใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและการศึกษา และเป็นฐานสำคัญสำหรับการเติบโตต่อไปในอนาคต

ถือว่าหนังสือเล่มนี้ให้มุมมองในอีกด้านสำหรับผู้ที่สนใจด้านนวัตกรรมและกลยุทธ์ และชี้ให้เห็นอีกโอกาสความเป็นไปได้ในการนำกระบวนการด้านนวัตกรรมเข้ามาช่วยในการพัฒนาประเทศ ขณะเดียวกันก็ชี้โอกาสให้ธุรกิจที่สนใจสามารถสร้างโอกาสในการเติบโตได้ โดยมุ่งจับกลุ่มลูกค้าที่เป็น nonconsumption และขณะเดียวกันก็ช่วยยกระดับความเจริญของประเทศไปด้วย