การใช้กำลังทหาร การสะสมทุน กับ กำเนิดรัฐในยุโรป

การใช้กำลังทหาร การสะสมทุน กับ กำเนิดรัฐในยุโรป

“รัฐ” อาจมีคำจำกัดความหลายอย่าง แต่หนึ่งในนั้นอาจกล่าวได้ว่า “รัฐ” คือ องค์กรที่ชัดเจนอย่างหนึ่งที่ควบคุมเครื่องมือหลักในการใช้กำลังทหาร

ภายในอาณาเขตที่ชัดเจนหนึ่งๆ และในบางแง่มุมมีลำดับเหนือกว่าองค์กรอื่นๆ ที่ดำเนินงานอยู่ภายในอาณาเขตเดียวกัน 

กำเนิดหรือการเปลี่ยนแปลงขององค์กรรัฐ มักจะเกิดขึ้นจากผลของความพยายามที่จะยึดครอง หรือรักษาการควบคุมต่อประชาชน และทรัพย์สินภายในอาณาเขตเป็นส่วนใหญ่ 

เมื่อผู้ปกครองก่อกำเนิดหรือเปลี่ยนแปลงรัฐ พวกเขาและ/หรือตัวแทนจะใช้ทรัพยากรมหาศาล โดยเฉพาะทรัพยากรที่ทำให้ใช้กำลังทหารได้ อันได้แก่ ผู้คน อาวุธ การขนส่ง และ อาหาร ซึ่งแฝงตัวอยู่แล้วในองค์กรและความสัมพันธ์ทางสังคมอื่น ๆ เช่น ครัวเรือน คฤหาสน์ โบสถ์ หมู่บ้าน ข้อผูกพันทางศักดินา และ ความเกี่ยวโยงระหว่างเพื่อนบ้าน ดังนั้น จึงเป็นธรรมดาที่ผู้ปกครองจะต้องขูดรีดทรัพยากรจากองค์กรเหล่านั้นให้ได้มากที่สุด โดยที่ผู้ถูกขูดรีดยังคงสามารถผลิตทรัพยากรได้ต่อไป 

อย่างไรก็ตาม ช่วงแห่งความแตกต่างของเมืองต่างๆ ที่ผู้สร้างรัฐในยุโรปเผชิญอยู่นั้นมีความกว้างมาก เมืองเหล่านั้นอาจจัดเรียงลำดับได้ตามดินแดนสนับสนุน (hinterland) หรือ ฐานะทางตลาดที่เป็นท้องถิ่น ภูมิภาค หรือ ระหว่างประเทศ ตัวอย่างเช่น เมืองฟลอเรนซ์ในศตวรรษที่ 13 มีพ่อค้าที่มีอำนาจครอบงำเหนือที่ดิน การผลิต และ การค้าในพื้นที่รอบๆ เมือง ซึ่งพอที่จะเรียกได้ว่าเป็นเมืองใหญ่ หรือนครมากกว่าเมือง เจนัวที่มีการค้าระหว่างประเทศเพียงอย่างเดียว เมืองมาดริดในศตวรรษที่ 15 ก็มีลักษณะเป็นภูมิภาคเฉพาะของ Castile มากกว่า ลิสบอน ของโปรตุเกส 

ความแตกต่างเช่นที่ว่าข้างต้นมีความสำคัญ เพราะว่าจะก่อกำเนิดรัฐออกมาในลักษณะที่แตกต่างกัน ฐานะทางตลาดที่ยิ่งสูงหมายความว่า ผู้ที่พยายามสร้างกองกำลังจะต้องเจรจากับนายทุนหนึ่งหรือหลายคนในเมืองนั้น การติดต่อทางเศรษฐกิจกับดินแดนสนับสนุนรอบ ๆ ยิ่งมาก โอกาสจะยิ่งน้อยที่เจ้าของที่ดินจะเป็นตัวต่อต้านอำนาจหรือเป็นศัตรูในกระบวนการสร้างรัฐให้เกิดขึ้น ในช่วงต้น ๆ ของการก่อกำเนิดรัฐในยุโรป เมืองที่ครอบงำดินแดนสนับสนุนและมีฐานะเป็นตลาดระหว่างประเทศจะมีโอกาสสูงในการสร้างรัฐที่เป็นเอกเทศของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นมิลานหรือเวนิส 

ก่อนศตวรรษ 19 เมืองในยุโรปที่มีลักษณะเช่นนั้น ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่มีความร่วมมือของนายทุนสำคัญในท้องถิ่นนั้น ๆ Flanders (Nederland) Rhineland (ส่วนตะวันตกของเยอรมันนี) และ Po Valley (ส่วนเหนือของอิตาลี) คือ ตัวอย่างเช่นนั้น 

ในบริเวณที่กว้างใหญ่ เมืองมีไม่มาก ไม่ใหญ่ และ ห่างไกลกัน การค้าขายแทบจะไม่มี นายทุนจะไม่มีความสำคัญ การใช้กำลังทหารจะเป็นหลัก เช่น โปแลนด์กับฮังการี 

ในกรณีระหว่างนั้น อาจมีเมืองสำคัญสักเมืองหนึ่งที่มีการสะสมทุน เจ้าของกำลังทหารกับนายทุนอาจจะต่อสู้กันแต่ก็ลงเอยกันด้วยการต่อรอง เช่น Aragon (Barcelona) กับอังกฤษ 

ความแตกต่างของการก่อกำเนิดรัฐข้างต้น มีที่มาจากความแตกต่างทางภูมิศาสตร์ในยุโรป แม้ว่าชายฝั่งทะเลเหนือจะมีจำนวนเมืองมากกว่า แต่ท่าเรือภายนอกทะเลเมดิเตอเรเนียนมีดินแดนสนับสนุนที่ตื้นกว่าและมีบริเวณขนาดใหญ่ที่อยู่ภายใต้เจ้าของที่ดิน บริเวณกว้างเป็นแถบเมืองไล่ตั้งแต่ตะวันตกเฉียงเหนือของอิตาลีไปจนถึงภาคใต้ของอังกฤษ อาจกล่าวได้ว่า ประกอบด้วยรัฐเล็ก ๆ ที่มีจุดแข็งในการสะสมทุนเป็นส่วนใหญ่ เมื่อการค้าในทะเลเหนือและทะเลบอลติกมีความสำคัญขึ้น บริเวณแถบนี้ก็เปรียบเสมือนหม้อต้มกาแฟที่ส่งเอาสินค้า เงินทุน และ ประชากรเมืองขึ้นมาจากทะเลเมดิเตอเรเนียนและประเทศทางตะวันออกอื่น ๆ ประเทศที่มีอำนาจรัฐสูงก็จะเกิดในบริเวณนี้ ส่วนบริเวณที่อยู่ห่างออกไป รัฐที่ถือกำเนิดขึ้นจะครอบคลุมบริเวณกว้างแต่มีอำนาจควบคุมประชากรและธุรกรรมน้อยมาก 

ในกลุ่มประเทศ Nordic ฟินแลนด์ สวีเดน นอร์เวย์ และ เดนมาร์ค ต่างสังกัดจักรวรรดิหรือสหพันธรัฐที่ครอบงำโดยอีกรัฐหนึ่ง ณ เวลาต่าง ๆ กัน ที่แปรผันไปตามผลของการยึดครองหรือต่อรองกัน ก่อนหน้ากึ่งกลางศตวรรษที่ 17 เดนมาร์คเป็นการรวมตัวระหว่างขุนนางเจ้าของที่ดินผู้มีอิทธิพลกับกษัตริย์ที่เป็นเจ้าของที่ดินเช่นเดียวกัน เดนมาร์คในยุคนั้นเริ่มต้นเป็นมหาอำนาจที่ไม่ได้ทำพาณิชยกรรมมากนัก แล้วค่อย ๆ เติบโตขึ้นจากการค้าระหว่างยุโรปตะวันตกกับทะเลบอลติกจนรุ่งเรืองกว่าเพื่อนบ้าน 

กลุ่ม Nordic ก่อกำเนิดรัฐที่ใช้กำลังทหารในลักษณะของตนเอง ก่อนศตวรรษที่ 17 กลุ่มนี้ถือเป็นภูมิภาคที่เป็นชนบทมากที่สุดในยุโรป เมืองหลาย ๆ เมืองเป็นเพียงสถานีการค้าในที่ห่างไกลที่มีการเสริมปราการป้องกันและมีประชากรไม่เกิน 10,000 คนเท่านั้น การค้าในย่านสแกนดิเนเวียถูกครอบงำโดยพ่อค้าชาวเยอรมันมายาวนาน จนกระทั่งมีการแบ่งแยกชุมชนชาวเยอรมันกับท้องถิ่นอย่างชัดเจน พ่อค้าเหล่านี้เรียกว่า Hanse แรกเริ่มเดิมที พวกนี้ค้าขายด้วยวิธีแลกเปลี่ยนกันแบบสมดุล เงินทุนจึงไม่มีความจำเป็นจนกระทั่งปริมาณการค้าเติบโตอย่างมาก การสะสมทุนจึงเริ่มเกิดขึ้น ในช่วงหลัง ชาวดัชท์เป็นผู้รับช่วงต่อจากชาวเยอรมัน 

ในราว ค.ศ. 900 พวกไวกิ้งยึดครองไปทั่วยุโรป และจัดตั้งรัฐที่ปกครองโดยนักรบเจ้าของที่ดิน แต่ในบ้านของตนเอง กษัตริย์สวีเดนให้เงินอุดหนุนเพื่อแลกเปลี่ยนกับการให้ประชาชนมาเป็นทหารจนมีเจ้าของที่ดินขนาดเล็กจำนวนมาก 

สวีเดนและเดนมาร์คมีกองทหารขนาดใหญ่อยู่หลายศตวรรษ เพื่อแสดงอำนาจต่อต้านการครอบงำการค้าของพ่อค้าเยอรมัน กษัตริย์กุสตาฟ วาสา ของสวีเดนมีความคิดเหมือนกับจักรพรรดิรัสเซียในยุคเดียวกันที่ว่า ที่ดินทั้งหมดเป็นของพระมหากษัตริย์ ประชาชนธรรมดาอาจเป็นเจ้าของได้เพียงชั่วคราวตราบใดที่พวกเขายังคงปฏิบัติตามข้อผูกพันที่มีต่อรัฐบาล การหาเงินเพื่อใช้จ่ายในสงครามในระบบเศรษฐกิจที่พอประทังชีวิตเท่านั้น ทำให้สวีเดนมีความจำเป็นที่จะต้องขยายกิจการเหมืองแร่และอุตสาหกรรม การพัฒนาเครื่องมือทางการคลังใหม่ ๆ การเริ่มต้นของหนี้สินรัฐบาล การเลี่ยงระบบรัฐสภาแบบตัวแทน และ การใช้นักบวชเพื่อทำบัญชีให้แก่กษัตริย์ (ที่เรียกกันว่า clergy) อย่างไรก็ตาม การทำสงครามที่มากไปในศตวรรษที่ 17 นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลในเดนมาร์คและสวีเดนในที่สุด 

กองทัพสวีเดนมีจำนวนประมาณ 111,000 คน ในขณะที่จำนวนประชากรมีเพียง 2 ล้านคน แต่สาเหตุที่ยังไม่ถึงขั้นล้มละลายเนื่องจากมีอุตสาหกรรมอาวุธขนาดใหญ่ และความอุดมสมบูรณ์ของแร่ธาตุมาก นอกจากนี้การยึดครองจากการทำสงครามยังได้มาซึ่งเครื่องบรรณาการเป็นปริมาณมาก ส่วนเดนมาร์คนั้น เก็บค่าผ่านช่องแคบจากปริมาณการจราจรมหาศาลและทุ่มเงินจำนวนมากไปในการสร้างกองทัพเรือและการพัฒนาเกษตรเชิงพาณิชย์เพื่อค้าขายกับเยอรมันที่อยู่ทางใต้ 

แม้ว่าแรงงานชาวสวีเดนที่ไร้ที่ดินจะเพิ่มจำนวนขึ้นภายหลัง ค.ศ. 1750 ที่มีการรวบรวมที่ดินมากขึ้น แต่รัฐบาลก็คอยดูแลไม่ให้พวกเขาตกอยู่ภายใต้อำนาจเจ้าของที่ดิน พวกเขามีผู้แทนเป็นการต่างหากจากกลุ่มนักบวช ขุนนาง และ ชนชั้นกลาง

ดังนั้น รูปแบบรัฐของสวีเดนจึงเป็นรัฐที่ใช้กำลังทหาร แต่ไม่เน้นการสะสมทุนหรือเจ้าของที่ดินรายใหญ่ ประเทศอื่น ๆ ในกลุ่ม Nordic ก็มีลักษณะไม่แตกต่างกัน 

ในทางตรงกันข้าม นครรัฐหรือจักรวรรดิรัฐ ในอิตาลี ยึดถือแนวทางการสะสมทุนเป็นหลัก แต่ไม่เน้นการใช้กำลังทหาร 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แน่นอนอย่างหนึ่งคือ ผู้ปกครองของรัฐในยุโรปต่างใช้กำลังทหารเพื่อประโยชน์แห่งตนในรูปแบบต่าง ๆ กัน ตามแต่บริบทของแต่ละรัฐที่ไม่เหมือนกัน