ลงแค่ไหนก็หมดได้แค่นั้น

ลงแค่ไหนก็หมดได้แค่นั้น

มีบริษัทอีกมากมายที่เคยยิ่งใหญ่ พอหุ้นลงไปมากๆ ใครๆ ก็บอกว่า 'ยังไงมันก็ต้องกลับมา'

ความผิดพลาดอย่างหนึ่งซึ่งนักลงทุนจำนวนมากเคยกระทำ คือการเข้าซื้อหุ้นตัวหนึ่งเพียงเพราะราคาของมันลงมาเยอะแล้ว โดยคิดไปเองว่า 'มันจะลงได้อีกแค่ไหนกันเชียว'

ปีเตอร์ ลินช์ หนึ่งในผู้จัดการกองทุนที่เก่งที่สุดในโลกตลอดกาลเล่าว่า สมัยที่เริ่มบริหารกองทุนใหม่ๆ ตัวเขาเองก็เคยพลาดเช่นนี้มาก่อนกับหุ้นของ ไกเซอร์ อินดัสทรีส์ กลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ ซึ่งราคาตกจาก 26 เหลือ 16 เหรียญ เขาจึงหลงคิดว่า 'มันจะลงได้อีกแค่ไหนกันเชียว' ก่อนจะเข้าซื้อล็อตใหญ่ที่ราคา 14 เหรียญ แต่แล้วมันก็ลงต่อเหลือ 10, 6, 5, 4 และ 3 เหรียญ

ณ จุดนั้น ลินช์ลองวิเคราะห์ดูอีกครั้ง และพบว่าทุกอย่างยังเป็นปกติ บริษัทมีบริษัทย่อยอยู่มากมาย และไม่มีหนี้เลย ทว่ามูลค่าตลาดขณะนั้นกลับเหลือเพียง 75 ล้านเหรียญ ซึ่งเท่ากับเครื่องบินโบอิ้ง 747 ลำเดียว

สุดท้าย บริษัทนี้ซึ่งเป็นโฮลดิ้งคอมพานี จึงแจกหุ้นของบริษัทย่อยให้แก่ผู้ถือหุ้นและขายธุรกิจทิ้งทั้งหมด ทำให้ผู้ถือหุ้นได้เงินคืนคนละ 50 เหรียญ ลินช์ซึ่งมีต้นทุนอยู่ที่ 14-16 เหรียญ จึงได้กำไรไปค่อนข้างมาก

ลินช์บอกว่า ประเด็นก็คือ ถ้าคุณเข้าซื้อโดยไม่รู้จักธุรกิจ คิดแต่ว่ามันลงมาเยอะแล้ว สมมุติว่าซื้อที่ 26 พอลงมาเหลือ 16, 10, 9 หรือ 7 เหรียญ คุณจะทำอย่างไร? ตรงนี้แหละที่เป็นปัญหาของคนส่วนใหญ่

มีบริษัทอีกมากมายที่เคยยิ่งใหญ่ พอหุ้นลงไปมากๆ ใครๆ ก็บอกว่า 'ยังไงมันก็ต้องกลับมา' แต่ที่จริงแล้วมันอาจไม่ได้กลับมาเสมอไป คนที่เข้าไปซื้อโดยคิดเช่นนี้จึงหมดเนื้อหมดตัว

ลินช์บอกด้วยว่า ถ้าคุณเอาเงิน 20,000 เหรียญ ซื้อหุ้นตัวหนึ่งที่ราคา 50 เหรียญ ขณะที่เพื่อนบ้านของคุณเอาเงินเท่าๆ กันไปซื้อตัวหุ้นเดียวกันที่ราคา 3 เหรียญ แล้วสุดท้าย หุ้นตัวนั้นราคากลายเป็น 0 ทั้งคุณและเขาย่อมจะขาดทุน 20,000 เหรียญเท่ากัน

ดังนั้น ถ้ามีคนบอกว่า 'ราคามันเหลือแค่นี้ ฉันจะขาดทุนได้ขนาดไหนกันเชียว' คำตอบก็คือ ใส่ลงไปแค่ไหนก็หมดได้แค่นั้น ใส่ลงไปหนึ่งล้านก็หมดได้หนึ่งล้าน การที่หุ้นตัวหนึ่งตกจาก 100 เหลือ 3 เหรียญ จึงไม่ใช่เหตุผลที่คุณควรจะซื้อมัน

ตรงกันข้าม สิ่งที่นักลงทุนทุกคนควรกระทำ คือศึกษาบริษัทให้ถ่องแท้ก่อนจะเข้าซื้อ เพื่อที่ว่าเมื่อราคาของมันตกลงมามากๆ คุณจะได้ตัดสินใจถูกว่าควรทำอย่างไร พูดอีกอย่างก็คือ เมื่อ 'เข้า' เป็น ก็จะรู้ว่าควร 'ออก' หรือไม่ และ 'ออก' อย่างไร

นี่คือข้อคิดจากสุดยอดนักลงทุนโลก ที่ขอนำมาฝากกันไว้ ณ ที่นี้ครับ