ประชานิยมสามด้าน

ประชานิยมสามด้าน

หลังปี 2544 มีการพูดถึงประชานิยมกันอย่างต่อเนื่อง เพราะรัฐบาลซึ่งเข้ามาบริหารบ้านเมืองในปีนั้นนำแนวคิดมาใช้ มันเป็นชนิดเลวร้าย

ที่ใช้การแจกของให้แก่ประชาชนซึ่งใช้อยู่ในละตินอเมริกา และเป็นเสมือนยาเสพติดที่เริ่มแล้วเลิกยาก จากวันนั้นมา ทุกรัฐบาลนำแนวคิดมาใช้ในแบบใดแบบหนึ่งซึ่งถึงแม้จะใช้ชื่อและมีรายละเอียดต่างกัน แต่เป้าหมายไม่ต่างกัน นั่นคือ สร้างความนิยมโดยแจกของเปล่าเพื่อเอาใจประชาชน

ประเทศในละตินอเมริกาประสบปัญหาสาหัสจากการใช้นโยบายประชานิยมแนวเลวร้าย อาร์เจนตินามักถูกนำมาอ้าง รวมทั้งในหนังสือของผมเรื่อง ประชานิยม: หายนะจากอาร์เจนตินาถึงไทย?” (พิมพ์ปี 2546) แม้ปัญหาจะทำให้อาร์เจนตินาล้มลุกคลุกคลานมานานกว่า 60 ปี แต่ยังน้อยกว่ากรณีของเวเนซุเอลาซึ่งกำลังล่มสลายอยู่ในขณะนี้ ทั้งกรณีของอาร์เจนตินาและของเวเนซุเอลาอาจหาอ่านได้ในหนังสือชื่อ “ประชานิยม: ทางสู่ความหายนะ ซึ่งดาวน์โหลดได้ฟรีที่เว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา (www.bannareader.com)

อนึ่ง ประชานิยมตามความหมายเบื้องต้นเป็นแนวคิดที่ดี เมื่อนำมาประยุกต์ใช้ในบริบทของการเมือง มันเป็นเรื่องการยึดการมีส่วนร่วมและผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง การปกครองระบอบประชาธิปไตยตามอุดมการณ์มองได้ว่า มีฐานตามความหมายนี้ ข้อความที่ดูจะเป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางและนำมาอ้างเป็นตัวอย่างกันมากที่สุดได้แก่ คำพูดของประธานาธิบดีอับบราฮัม ลินคอล์นของสหรัฐ ในปาฐกถา ณ เมืองเกตติสเบิร์ก เมื่อวันที่ 19 พ.ย.2406 ซึ่งมีเนื้อความตอนหนึ่งว่า “รัฐบาลของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชนจะไม่สูญหายไปจากพื้นพิภพ”

ในช่วงเวลา 3 ปีมานี้ โดยเฉพาะหลังวันที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งในสหรัฐ เมื่อเดือน พ.ย.2559 สื่อในโลกตะวันตกมักอ้างถึงการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองว่า ผู้นำในสังคมตะวันตกหลายประเทศชนะการเลือกตั้งเพราะใช้หลักประชานิยมหาเสียง ไม่ว่าจะเป็นในสหรัฐ อิตาลี หรือออสเตรีย ข้ออ้างนี้อาจทำให้คนไทยงงมาก เนื่องจากคุ้นเคยกับประชานิยมแนวการแจกของเปล่าของรัฐบาลอาร์เจนตินาและรัฐบาลไทย จึงขออธิบายที่ไปที่มาของประชานิยมอีกด้านหนึ่งซึ่งถูกอ้างถึงดังกล่าว

ปัจจัยที่ทำให้ประชานิยมถูกนำมาใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง ทั้งในสหรัฐและในยุโรปมีหลายอย่างประกอบกัน ปัจจัยสำคัญระดับต้นๆ ได้แก่ภาวะเศรษฐกิจซึ่งถดถอยบ่อยมากและเมื่อฟื้นขึ้นมา ส่วนแบ่งส่วนใหญ่ไปตกอยู่ในมือของชนชั้นเศรษฐี ส่งผลให้รายได้ของชนชั้นกลางค่อยๆ หายไป ทำให้พวกเขาคับแค้นใจ เมื่อตนกลายเป็นชนชั้นรายได้น้อย ในขณะเดียวกัน สงครามและความกดขี่ภายในของหลาย 10 ประเทศส่งผลให้ประชาชนอพยพหรือลี้ภัยเข้าไปยังประเทศก้าวหน้า ทั้งในอเมริกาเหนือและในยุโรป ประชาชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นฝรั่งผิวขาวในประเทศก้าวหน้าเหล่านั้น บางส่วนมองว่าปัญหาของตนเกิดจากคนต่างชาติ เนื่องจากส่วนหนึ่งของประชาชนผิวขาวมีความเหยียดผิวและศาสนาอื่นเป็นทุนอยู่แล้ว เมื่อผู้อพยพ หรือผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่มิใช่ชนผิวขาวและต่างศาสนา พวกเขาจึงยิ่งไม่พอใจจนเกิดสถาพความคับแค้นใจแบบไฟสุมขอนขึ้นอย่างกว้างขวาง

นักการเมืองหัวใสนำสภาพความคับแค้นใจแบบไปสุมขอนนั้น มาเป็นฐานของการหาเสียงจนชนะการเลือกตั้ง ประชานิยมแนวนี้จึงเป็นการเอาใจประชนอย่างหนึ่งซึ่งไม่ใช้การให้ของเปล่า หากเป็นการเอาใจแบบไร้เหตุผลอันดีที่วางอยู่บนฐานของศีลธรรมจรรยาและหลักประชาธิปไตย ตอนนี้แม้ผู้นำบราซิลก็ยังนำมาใช้ ผลเสียหายจะร้ายแรงมากเนื่องจากมันจะไม่จำกัดอยู่แค่ในประเทศที่นำมาใช้เท่านั้น ทั่วโลกจะรับเคราะห์ด้วย เช่น จากการปิดกั้นการค้าขายและการทำลายระบบนิเวศซึ่งทั้งสหรัฐและบราซิลกำลังดำเนินอยู่ อย่างไรก็ดี ประชานิยมด้านนี้ไม่มีลักษณะของยาเสพติด

ไทยจะได้รับความเสียหาย ทั้งจากนโยบายแนวประชานิยมแบบให้ของเปล่าของตนเองและจากการเอาใจประชาชนบนฐานของการไร้คุณธรรมของต่างประเทศ เนื่องจากความเสียหายจะไม่เป็นที่ประจักษ์ทันที เพราะมันยังอยู่ในระยะเริ่มต้น ทั้งภาครัฐและเอกชนอาจย่ามใจว่า ไม่มีปัญหาซึ่งจะเป็นฆ่าตัวตายแบบผ่อนส่ง