Debt Crowdfunding ทางเลือกใหม่ของการระดมทุน

Debt Crowdfunding ทางเลือกใหม่ของการระดมทุน

Debt Crowdfunding หรือให้เข้าใจง่ายขึ้นไปอีกก็คือการเสนอขายหุ้นกู้สำหรับธุรกิจขนาดกลางขนาดเล็กรวมถึงสตาร์ทอัพ

เริ่มต้นปี 2562 ทางสำนักงานก.ล.ต.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นหลักเกณฑ์และร่างประกาศเพื่อรองรับการเสนอขายหุ้นกู้ผ่านผู้ให้บริการระบบเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์แบบคราวด์ฟันดิง จากก่อนหน้านี้ได้เปิดให้ใบอนุญาตการระดมทุนแบบการเป็นส่วนของผู้ถือหุ้นผ่านคราวด์ฟันดิง หรือ Equity Crowd Funding ไปแล้วตั้งแต่ปี 2558

กฎเกณฑ์ใหม่นี้เรียกง่ายๆว่า  Debt Crowdfunding หรือให้เข้าใจง่ายขึ้นไปอีกก็คือการเสนอขายหุ้นกู้สำหรับธุรกิจขนาดกลางขนาดเล็กรวมถึงสตาร์ทอัพนั่นเอง จากเดิมที่ผู้เสนอขายหุ้นกู้ได้จะมีเฉพาะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีเรทติ้งดี

สาเหตุที่มีการออกกฎเกณฑ์ใหม่นี้ออกมากเพื่อเป็นทางเลือกในการระดมทุนสำหรับผู้ประกอบการที่ไม่ต้องการให้มีผู้ถือหุ้นรายอื่นเข้ามาถือหุ้น โดยหลักการของ 

Debt Crowdfunding ใกล้เคียงกับ P2P Lending นั่นคือ ฟินเทคผู้ให้บริการจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างนักลงทุนที่นำเงินเย็นๆมาปล่อยกู้แทนที่จะปล่อยกู้ให้บุคคลทั่วไปก็มาปล่อยกู้ให้นิติบุคคลแทน โดยผลตอบแทนที่ผู้ให้กู้จะได้รับคือดอกเบี้ยจากการปล่อยกู้ ส่วนผู้ขอกู้จะได้รับแหล่งเงินกู้โดยเฉพาะธุรกิจที่ภาคธนาคารมักมองข้าม เช่น เป็นธุรกิจที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันอย่างธุรกิจซอฟท์แวร์ ส่วนผู้ให้บริการ Debt Crowdfunding จะได้รับผลตอบแทนในส่วนของค่าธรรมเนียม

นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์คราวด์ฟันดิงเพิ่มเติม เช่นเพิ่มวงเงินเสนอขายต่อผู้ลงทุนรายย่อยแต่ละรายเพิ่มจากไม่เกิน 50,000บาท เป็น 100,000 บาท นับรวมทั้งส่วนของหุ้นและหุ้นกู้ รวมถึงเพิ่มวงเงินลงทุนรวมของผู้ลงทุนรายย่อยในหุ้นและหุ้นกู้จากที่เคยกำหนดไว้ไม่เกิน 500,000 บาทในรอบสิบสองเดือนเพิ่มเป็น 1,000,000 ล้านบาทและยกเลิกการแยกวงเงินเสนอขายต่อผู้ลงทุนรายย่อยและผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย

ก.ล.ต. ยังปรับปรุงประกาศคราวด์ฟันดิงให้มีความสอดคล้องกับประกาศอื่น ๆ ยิ่งขึ้น เช่น การปรับปรุงนิยามกิจการเงินร่วมลงทุนและนิติบุคคลร่วมลงทุนให้สอดคล้องกับนิยามภายใต้เกณฑ์การออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัล และปรับปรุงเกณฑ์การเสนอขายหุ้นของบริษัทจำกัดโดยผู้ถือหุ้น กรณีการเปลี่ยนมือหุ้นคราวด์ฟันดิงในตลาดรองให้สอดคล้องกับการเสนอขายในตลาดแรก เป็นต้น

ในต่างประเทศโดยเฉพาะสิงคโปร์ Debt Crowdfunding เป็นฟินเทคที่ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างมากและมีจำนวนผู้เล่นอยู่พอสมควรโดยมีธนาคารยักษ์ใหญ่อย่าง UOB ให้การสนับสนุน จุดเด่นก็คือหลักเกณฑ์การพิจารณาเงินกู้ที่ยืดหยุ่นกว่าสถาบันการเงินดั้งเดิมรวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า ขณะเดียวกันหนี้เสียที่เกิดขึ้นยังไม่อยู่ในเกณฑ์ที่น่ากังวล โดยผู้ให้บริการที่เป็นตัวกลางจะต้องพัฒนาระบบ Credit Scoringของตัวเองขึ้นมาและได้การรับรองและใบอนุญาตจาก MAS หรือธนาคารกลางสิงคโปร์

สำหรับประเทศไทยที่มีจำนวนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวนมาก การมาของ Debt Crowdfunding จะช่วยให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้เพื่อไปใช้พัฒนาธุรกิจได้สะดวกขึ้น ขณะที่ผู้ลงทุนก็จะได้รับผลตอบแทนที่สามารถเอาชนะอัตราเงินเฟ้อต่อปีได้เช่นกันถือเป็นเทคโนโลยีฟินเทคที่มาช่วยตอบโจทย์เรื่องการเงินได้เป็นอย่างดี