ภูเก็ต: ฤาจะติดกับดักเมืองท่องเที่ยวระดับปานกลาง!

ภูเก็ต: ฤาจะติดกับดักเมืองท่องเที่ยวระดับปานกลาง!

ท่านผู้อ่านคงคิดไม่ถึงนะคะว่า ภูเก็ตจะติดกับดักเมืองท่องเที่ยวระดับปานกลางได้อย่างไร

ในเมื่อภูเก็ตนั้นเป็นเมืองท่องเที่ยวหลักของไทยที่มีรายได้สูงสุด เป็นเมืองท่องเที่ยวหรูเริ่ดที่คนไทยส่วนใหญ่เอื้อมไม่ถึง ความจริงเป็นเช่นนี้ค่ะ ภูเก็ตมีรายได้สูงสุดในประเทศไทยในด้านการท่องเที่ยวจริงๆ คือใน ปี พ.ศ. 2560 มีรายรับจากการท่องเที่ยวทั้งหมดถึง 423,000 ล้านบาท เมื่อคิดต่อหัวพบว่า คนภูเก็ต 1 คนสร้างรายได้ท่องเที่ยวถึง 8 แสนบาทต่อปี

การศึกษาแผนพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของเมืองท่องเที่ยวเพื่อรองรับท่องเที่ยวไทย 4.0 ภายใต้มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ โดย ผศ.ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ และอาจารย์คมกริช ธนเพทย์ ซึ่งสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) พบว่า สถานภาพของเมืองภูเก็ตในปัจจุบันนั้นเรียกได้ว่าติดกับดักเมืองท่องเที่ยวระดับปานกลางคือ มีนักท่องเที่ยวคุณภาพปานกลาง รายได้ต่อนักท่องเที่ยวเทียบกับเมืองท่องเที่ยวเอกของโลกก็อยู่ในระดับปานกลาง ส่วนโครงสร้างพื้นฐานหรือเทคโนโลยีที่ใช้อยู่แม้ว่าจะอ้างว่าอยากจะเป็นเมืองอัจฉริยะ แต่ก็เป็นเทคโนโลยีระดับปานกลาง

ข้อมูลข้างบนนี้สนับสนุนโดยการศึกษาของ ดร.ดนัยธัญ พงษ์พัชราธรเทพ ในโครงการเดียวกันพบว่า นักท่องเที่ยวจีนบ่นว่ายังต้องใช้เงินสดในระบบขนส่งสาธารณะในภูเก็ต ไม่มีป้ายขึ้นรถที่ชัดเจน มิหนำซ้ำเมื่อเกิดปัญหาขึ้นต้องติดต่อตำรวจที่บางลา ตามหมายเลขที่ให้ไว้กับนักท่องเที่ยวคือ 076 342719 กลับไม่สามารถติดต่อได้ การติดต่อตำรวจไม่ได้นี้เป็นเรื่องน่าเป็นห่วงเพราะ ตัวชี้วัดด้านความปลอดภัยของภูเก็ตก็ต่ำกว่าของเมืองอื่นๆ มาก จากการศึกษาของ ดร.อัครพงศ์ อั้นทอง ตัวชี้วัดอาชญากรรมปี 2019 ของ NUMBEO พบว่า ภูเก็ตมีความปลอดภัย (59.34%) ต่ำกว่ากรุงเทพฯ (45.75%) และต่ำกว่าเชียงใหม่มาก (26.91%) และเมื่อเทียบกับเกาะท่องเที่ยวดังในโลก เช่น เมือง Ibiza (50.57%) และ เกาะ Mallorca (31.71%) ภูเก็ตก็จะถูกมองว่าเป็นเมืองไม่ปลอดภัยเมื่อเทียบกับแหล่งท่องเที่ยวประเภทเดียวกัน ที่คนจีนเห็นว่า ภูเก็ตน่าเที่ยวกว่าเพราะราคาถูกกว่าซานย่า ซึ่งเป็นคู่แข่งของภูเก็ตในประเทศจีนมาก

อัตลักษณ์ของภูเก็ตก็ไม่มีความชัดเจน ถึงแม้ว่าจะมีประเพณีวัฒนธรรมที่พอจะอวดนานาชาติได้ ในเมืองเก่าก็ไม่ได้ยกขึ้นมาเป็นสิ่งดึงดูดใจในภูเก็ต ถึงแม้ว่าภูเก็ตจะเป็นที่รู้จักกันในระดับนานาชาติ แต่ก็ไม่มีแบรนด์เองส่วนตัว เช่น ประเทศไทยซึ่งมีแบรนด์อะเมซซิ่งไทยแลนด์ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลก เมืองท่องเที่ยวรองเดี๋ยวนี้เขาก็มีแบรนด์ส่วนตัวกันหลายแห่งแล้ว เช่นที่เชียงรายและที่ลำปาง

ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมภูเก็ตก็มีปัญหา แต่ปริมาณขยะก็ใกล้จะเกินขีดความสามารถในการจัดการแล้ว ส่วนน้ำเสียก็มีการจัดการเป็นหย่อมๆ และไม่ได้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ในเรื่องของน้ำประปาทั้งที่เป็นเมืองแห่งเศรษฐี แต่ก็ไม่มีระบบประปาที่สมบูรณ์ โรงแรมใหญ่ๆ ยังต้องใช้รถบรรทุกน้ำในฤดูแล้งขนน้ำไปยังโรงแรมซึ่งเป็นวิธีการที่ทำให้มีต้นทุนน้ำสูงมาก ขุมเหมืองต่างๆ ก็อยู่ในมือเอกชนไม่มีการจัดการบูรณาการให้เป็นประโยชน์สูงสุดต่อคนในเมืองภูเก็ต

ข้อมูลที่เสนอมาให้เห็นนี้แสดงให้เห็นว่า ขณะนี้ภูเก็ตมีผลผลิตคือจำนวนนักท่องเที่ยวมากเกินปัจจัยนำเข้าหรือ Input ทางด้านสาธารณูปโภคแล้วและได้สร้างปัญหาใหญ่ให้กับภูเก็ตเช่นในเรื่องน้ำกินน้ำใช้ และในเรื่องการจราจรเป็นต้น แต่ที่ภูเก็ตยังอยู่ได้ก็เพราะรายได้มหาศาลที่จุนเจือไว้ แต่ในระยะยาวภูเก็ตก็จะมีลักษณะของการกินตัวเองและถดถอยไปเรื่อยๆ เหมือนกับพัทยาเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ที่มีปัญหาน้ำเสียจนเสื่อมเสียภาพลักษณ์ในสายตาของนักท่องเที่ยวนานาชาติ แม้ว่าจะได้แก้ไขแล้ว ในบัดนี้ก็ยังไม่สามารถกลับไปสู่ระดับเดิมได้ กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับแมสหรือมวลชน

สภาพกับดักเมืองท่องเที่ยวระดับปานกลางซึ่งครอบภูเก็ตไว้นี้ เป็นผลจากการขาดการบูรณาการการจัดการและการมองภาพระยะยาวของเมืองภูเก็ต ปล่อยให้แต่ละส่วนงานพัฒนาไปแบบต่างคนต่างทำตามกำลังของตนจะเรียกว่าเป็นนโยบายพัฒนาแบบเท้งเต้งก็ได้ เป็นปัญหาจากการที่รัฐบาลสนใจแต่ประเด็นการหารายได้และได้ลงทุนอย่างมหาศาลในการนำนักท่องเที่ยวเข้าสู่ภูเก็ต แต่ขาดความสนใจที่จะลงทุนให้ภูเก็ตมีโครงสร้างพื้นฐานที่สอดคล้องและเพียงพอต่อการรองรับนักท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างรวดเร็วได้จะเรียกว่าภูเก็ตติดกับดักที่รัฐบาลวางไว้ก็ได้

หากภูเก็ตต้องการยกระดับเมืองภูเก็ตให้ขึ้นเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับนานาชาติ ก็ต้องสร้างภาพอนาคตที่ชัดเจนว่า คนในเมืองภูเก็ตอยากจะเห็นเมืองของตัวเองนั้นก้าวไปในทิศทางไหน ทีมวิจัยได้เสนอฉากทัศน์ให้เห็นอยู่หลายฉากทัศน์ด้วยกันแต่ในที่นี้จะเสนอแค่ 3 คือ หนึ่ง ฉากทัศน์ดิสโตเปียของการท่องเที่ยว คือการขยายตัวของนักท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาศัยการแข่งขันด้านราคาที่พึ่งนักท่องเที่ยวชาวจีน อินเดียและกรุ๊ปทัวร์ เป็นหลัก ทุกหาดมีความหนาแน่นเหมือนป่าตอง มีการสร้างรถไฟรางเบาก็จริง แต่จำนวนรถยนต์ รถตู้ รถจักรยานยนต์ก็ยังเพิ่มอย่างมหาศาล จราจรที่ยังคับคั่งหนาแน่น บริการพื้นฐานสร้างเท่าไหร่ก็ไม่พอ น้ำประปาขาดแคลนต้องแย่งกันซื้อ ชุมชนแรงงานข้ามชาติอยู่กันอย่างแออัดยัดเยียดในบางพื้นที่

 ฉากทัศน์ที่ 2 ภูเก็ตอาจจะเป็นไมอามี่แห่งตะวันออก มีอาคารสูงริมทะเลอยู่ทุกที่ มีศูนย์ประชุมทันสมัย เน้นการเดินทางด้วยรถยนต์และรถรางเบา มีการใช้แอพพลิเคชั่นในการเดินทางเพื่อความสะดวก มีการสร้างสวนสนุกขนาดใหญ่ ภายใต้ฉากทัศน์นี้รัฐจำเป็นจะต้องมีการลงทุนเจาะภูเขานำรถจากฝั่งตะวันออกไปสู่ฝั่งตะวันตก เพื่อที่จะลดเวลาการเดินทาง เพราะรถไฟรางเบายังใช้เวลาเดินทางสูงไป

ฉากทัศน์ที่ 3 ฤาภูเก็ตจะเป็นริเวียร่าแห่งอันดามัน  มีกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ คนหนุ่มสาวในท้องถิ่นสามารถกลับมาสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพ จุดขายคือทะเล ชายหาด และแสงแดด มีศิลปวัฒนธรรม อาหารชั้นดี เรียกว่าเป็นเมืองน่าเที่ยว น่าเดิน น่าปั่นจักรยาน และน่าอยู่สำหรับคนภูเก็ตอีกด้วย

ฉากทัศน์ทั้ง 3 นี้ต้องการการลงทุนและการจัดการของรัฐต่างกัน อาศัยนโยบายการตลาดต่างกัน แต่ก่อนอื่นจะต้องมีการสร้างจินตภาพร่วมกันระหว่างคนในเมืองภูเก็ตว่าจะเลือกเอาแนวทางไหนและเมื่อเลือกเดินทางไหนแล้วก็จะต้องช่วยกันขับเคลื่อนให้เป็นไปตามฉากทัศน์ที่ตนเองต้องการ คือจะต้องมีการคาดการณ์เชิงยุทธศาสตร์และทำการเลือกฉากที่พึงประสงค์ สร้างแบรนด์เมืองท่องเที่ยวที่ส่งเสริมฉากทัศน์นั้น วางแผนพัฒนาเมืองและออกแบบเมืองสอดคล้องกับที่ต้องการ

 เครื่องมือต่างๆ ก็มี เงินก็ไม่ได้ขาดแคลน จะขาดก็เรื่องวิสัยทัศน์ของผู้นำ และการจะเป็นเมืองระดับนานาชาติเชิดหน้าชูตานั้น จะอาศัยแค่วิสัยทัศน์ระดับท้องถิ่นไม่ได้!