หัวใจ ‘การสอนสะเต็ม’ วิธีคิดแบบเหตุและผล

หัวใจ ‘การสอนสะเต็ม’ วิธีคิดแบบเหตุและผล

“แดดกับเมฆ อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผล” เชื่อหรือไม่ว่า คำถามที่ดูเหมือนง่ายๆ นี้ หากลองสุ่มถามคนประมาณ 30 คน ประกอบด้วยนักศึกษา อาจารย์

และบุคคลทั่วไป คำตอบที่คนส่วนใหญ่ตอบคือ แดดเป็นเหตุ เมฆเป็นผล ซึ่งเป็นคำตอบที่ถูก

ทว่าสิ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อแต่ละคนถูกถามต่อว่า ‘เพราะอะไร’ คนส่วนใหญ่กลับมีท่าทีลังเล ไม่มั่นใจในการให้เหตุผลหรือคำอธิบายของตัวเอง

สถานการณ์ข้างต้นเกิดขึ้นในการประชุมเชิงปฏิบัติการ (workshop) เรื่อง ‘การสอนสะเต็มเพื่อให้เข้าใจการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เมื่อเดือน ส.ค.ปีที่ผ่านมา โดยมี รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และหัวหน้าหน่วยจัดการกลางโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา เป็นผู้บรรยาย

หลายคนอาจรู้จักหรือเคยได้ยินแนวคิดเรื่อง ‘สะเต็มศึกษา’ (STEM) มาบ้าง อันหมายถึงแนวทางในการจัดการศึกษา โดยการบูรณาการองค์ความรู้ใน 4 สาขา คือ วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) เข้าด้วยกัน โดยเน้นการนำความรู้ไปประยุกต์กับการแก้ปัญหาในชีวิตจริง

สิ่งที่เป็นเสมือนหัวใจสำคัญของการสอนสะเต็ม คือการสอน วิธีคิดแบบเป็นเหตุและผล ซึ่งเป็นสิ่งที่ระบบการเรียนการสอนของไทยยังขาดอยู่ จึงไม่น่าแปลกใจอะไร หากคนจำนวนไม่น้อยจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องยากเมื่อต้อง ‘ให้เหตุผล’ ต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่นเรื่องของ ‘แดดกับเมฆ’ ที่ยกตัวอย่างไปในช่วงต้น

“การเรียนการสอนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คือการที่เด็กรับเอาความรู้เข้าตัว และคายออกมาทีเดียวตอนสอบผ่านการใช้ความจำ การเรียนการสอนแบบ Research-based learning เป็นโอกาสที่ทำให้เด็กได้คายความรู้ออกจากตัว นำความรู้ที่มีอยู่มาประยุกต์ใช้กับปัญหายากๆ ที่เขาต้องเจอ ซึ่งเมื่อเด็กได้ exercise ความรู้ที่มีกับปัญหาจริงๆ เมื่อนั้นปัญญาก็เกิด”

ในรายงานชิ้นนี้ จะนำเสนอวิธีคิดและตัวอย่างการประยุกต์ใช้สะเต็มที่น่าสนใจที่อาจารย์สุธีระนำมาถ่ายทอดในการบรรยายครั้งนี้  

ตัวอย่าง : แดดกับเมฆ ขนมปังบูดกับรา ฟ้าร้องกับฟ้าแลบ 

สำหรับตัวอย่างแรก ‘แดดกับเมฆ’ เป็นเสมือนการปูพื้นฐานของการคิดแบบเหตุและผล เชื่อมกับองค์ความรู้พื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ จากคำถามที่เกริ่นไว้ตอนต้นว่า แดดกับเมฆ อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผล – เพราะอะไร

อาจารย์สุธีระเฉลยว่า “แดดเป็นเหตุ เมฆเป็นผล เพราะแดดทำให้เกิดไอน้ำรวมตัวเป็นเมฆ” 

จากคำตอบดังกล่าว จะเห็นว่าประกอบด้วยสามส่วนด้วยกัน คือ เหตุ (Cause) ผล (Effect) และ เหตุผล (Reason)  

“Cause กับ Effect คือกฎตายตัว เป็นกฎพื้นฐานของจักรวาลว่าสิ่งนี้ทำให้เกิดสิ่งนี้ ส่วน Reason คือคำอธิบายกระบวนการเกิด Cause กับ Effect นั้นๆ

อธิบายสั้นๆ ว่า ‘เพราะแดดทำให้เกิดไอน้ำรวมตัวเป็นเมฆ’ อาจยังไม่ชัดเจนมากพอ อ.สุธีระ จึงเพิ่มรายละเอียดต่อไปอีกว่า “แดดทำให้เกิดไอน้ำในอากาศ ไอน้ำเกิดเพราะความร้อนจากแดดระเหยน้ำ ไอน้ำในอากาศทำให้เกิดเมฆ เมฆเกิดเพราะไอน้ำในอากาศกระทบความเย็น”

หัวใจ ‘การสอนสะเต็ม’ วิธีคิดแบบเหตุและผล

จะเห็นว่า ‘เหตุผล’ นั้นมีรายละเอียดมากขึ้น และมีการอธิบายเป็นขั้นเป็นตอน โดยอิงจากความรู้พื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ “การตอบคำถามนี้ได้ ต้องหาเหตุผลบวกกับองค์ความรู้มาอธิบาย ซึ่งความรู้ก็มีหลายระดับ หากเด็กประถมหรือชาวบ้านที่มีความรู้น้อยอาจตอบแค่ว่า แดดทำให้น้ำระเหย แต่ถ้าคนที่มีความรู้ระดับสูงขึ้นมา อาจลงไปในรายละเอียดด้วยว่า น้ำที่ระเหยรวมกันเป็นก้อนเมฆได้อย่างไร

นอกจากตัวอย่างที่ว่ามา อ.สุธีระ ยังยกตัวอย่างอื่นๆ ในทำนองเดียวกันนี้ ที่ต้องอาศัยทั้งความเป็นเหตุผลและความรู้มาประกอบกัน เป็นต้นว่า ขนมปังบูดกับรา ฟ้าร้องกับฟ้าแลบ ตัวร้อนกับเป็นไข้ โดยถามคำถามเดียวกันว่าอะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผล ก่อนจะทิ้งท้ายว่า หัวใจสำคัญของการฝึกฝนโจทย์ในลักษณะนี้ไม่ได้อยู่ที่การหาคำตอบที่ถูกต้องเท่านั้น แต่อยู่ที่การอธิบายความเป็นเหตุเป็นผลของคำตอบนั้นๆ

นี่คือพื้นฐานของการใช้สะเต็มมาปรับใช้กับการเรียนการสอน โดยอาจารย์สุธีระเน้นย้ำว่า จุดสำคัญของกระบวนการนี้คือการทำให้เด็กรู้ ‘Why’ ไม่ใช่รู้แค่ ‘What’

ที่สำคัญ การสอนเรื่องสะเต็มนั้น ไม่ควรยึดติดแต่การใช้เทคโนโลยีเท่านั้น อันจะทำให้ทิศทางการสอนผิดเพี้ยนและไปไม่ถึงแก่นของสะเต็มที่แท้จริง

“สะเต็มแบบที่ควรจะเป็นไม่ใช่เน้นแต่การติดเทคโนโลยี แต่คือการพัฒนาวิธีคิด สะเต็มคือการเรียนรู้ที่ยึดอยู่บนฐานของการทราบเหตุ ไม่ใช่เน้นแต่การเสพผลโดยการเอาเทคโนโลยีมาใช้แบบฉาบฉวย ซึ่งอาจทำได้แค่คำตอบ แต่ไม่รู้ที่มาที่ไปของมัน เพราะสุดท้ายแล้ว T (Technology) เป็นปลายทางของ SEM”

โดย... รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์

[บทความที่เผยแพร่นี้ นำมาส่วนหนึ่งจากบทความที่เผยแพร่ใน Knowledge Farm (ฟาร์มรู้สู่สังคม) เว็บไซต์เผยแพร่ความรู้จากงานวิจัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)]