ภาระ นิติบุคคลที่สัมพันธ์กันตามประมวลรัษฎากรใหม่***

ภาระ นิติบุคคลที่สัมพันธ์กันตามประมวลรัษฎากรใหม่***

ตามประมวลรัษฎากร กำหนดให้บริษัท ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ต้องเสียภาษีเงินได้ ตามที่บัญญัติในหมวด 3 ส่วนที่ 3 การเก็บภาษีจากบริษัท

 และห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หลักการที่สำคัญคือ บทบัญญัติตามมาตรา(ม.) 65 เงินได้ที่บริษัทห้าง หุ้นส่วนนิติบุคคลที่ต้องเสียภาษีตามหมวดนี้ คือ กำไรสุทธิที่คำนวณได้ จากกิจการหรือเกี่ยวเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบบัญชี ปีบัญชีที่ผ่านมา ลบด้วยรายจ่าย ตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ใน ม.65 ทวิและ 65 ตรี

ดังนั้น บริษัทหรือห้างส่วน นิติบุคคลต้องเสียภาษีเงินได้มากหรือน้อย ตามอัตราที่กำหนดขึ้นอยู่กับกำไรสุทธิที่คำนวณได้ จึงมีวิธีการที่จะทำให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต้องเสียภาษีน้อยลง คือทำให้มีรายได้น้อยลง มีรายจ่ายมากขึ้น อันจะทำให้กำไรเหลือน้อยลงก็จะเสียภาษีน้อยลง วิธีการหลีกเลี่ยงภาษีเงินได้ในลักษณะดังกล่าวจะทำกันมาก สำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ในกลุ่มหรือเครือเดียวกัน มีการทำธุรกรรมระหว่างกัน โดยทำให้มีรายได้น้อยและมีรายจ่ายสูงกว่าที่ควรจะเป็น การดำเนินการในลักษณะเช่นนี้ประมวลรัษฎากร ที่ใช้บังคับอยู่เดิม ยังไม่มีบทบัญญัติใดที่จะดำเนินการกับบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีลักษณะเช่นนี้ได้

จึงได้มีการเสนอพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรเพื่อป้องกันการถ่ายโอนกำไรที่จะทำให้เสียภาษีเงินได้น้อยลง ซึ่งผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)แล้ว และประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วคือ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่ 47 ) พ.ศ.2561 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื้อวันที่ 21 พ.ย. 2561 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 22 พ.ย.2561 โดยเพิ่ม ม.71 ทวิ และม.71 ตรี และเพิ่ม ม.35 กำหนดโทษผู้ฝ่าฝืน ม.71 ตรีด้วย

1 หลักเกณฑ์ที่ถือว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล มีความสัมพันธ์กัน เป็นไปตามที่กำหนดใน ม.71 ตรีวรรคสอง ดังนี้

1.)นิติบุคคลหนึ่งถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนในอีกนิติบุคคลหนึ่ง ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมไม่น้อยกว่า 50% ของทุนทั้งหมด

2.)ผู้ถือหุ้นหรือผู้ซึ่งเป็นหุ้นส่วนซึ่งถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนในอีกนิติบุคคลหนึ่ง ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมไม่น้อยกว่า 50% ของทุนทั้งหมด

3.)นิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์ระหว่างกัน ในด้านทุน หรือการจัดการ หรือการควบคุมในลักษณะที่นิติบุคคลหนึ่งไม่อาจดำเนินการโดยอิสระจากอีกนิติบุคคลหนึ่งตามที่กำหนดโดยกฎกระทรวง

2 การที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีความสัมพันธ์กันตามเกณฑ์ข้างต้น มีผลทางกฎหมายตามประมวลรัษฎากรที่เพิ่มเติมใหม่ดังนี้

1.) ผลตามบทบัญญัติของ ม.71 ทวิ วรรคหนึ่ง ซึ่งอาจสรุปได้คือหากปรากฏว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน ดำเนินธุรกิจทางการค้าและการเงินระหว่างกันไม่เป็นไปตามปกติ กล่าวคือทำให้รายจ่ายสูงกว่าที่ควรจ่ายและได้รับรายได้ต่ำกว่าที่ควรได้รับตามปกติวิสัยของการประกอบธุรกิจโดยทั่วไป อันมีผลทำให้กำไรน้อยลง ในลักษณะเป็นการถ่ายโอนกำไรเพื่อเสียภาษีเงินได้น้อยลง เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจปรับปรุงรายได้หรือรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าวให้เป็นไปตามที่ควรเป็นได้ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

ในกรณีที่พนักงานประเมินปรับปรุงรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน ดังกล่าวมีผลทำให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเสียภาษีเงินได้น้อยลง ก็สามารถขอคืนภาษีที่จ่ายเกินไปแล้วคืนได้

2.) ผลตาม ม.71 ตรี บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน มีภาระหน้าที่ต้องจัดทำรายงานข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันและมูลค่ารวมของธุรกรรมระหว่างกันในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีตามแบบที่กำหนด และยื่นต่อเจ้าพนักงานประเมินพร้อมกับการยื่นรายการภายในกำหนดเวลาตาม ม.69 โดยมีข้อยกเว้นสำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิคบุคคลที่มีรายได้จากกิจการ หรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินจำนวนหรือมีลักษณะอื่นใดตามกำหนดในกฎกระทรวง โดยจำนวนรายได้ที่จะยกเว้น ตามที่กำหนดในกฎกระทรวงต้องกำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีจำนวนรายได้ตามรอบปีบัญชีไม่เกิน 200 ล้านบาท ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจัดทำรายงานตาม ม.71 ตรีวรรคหนึ่ง

ภายใน 5 ปี นับแต่วันที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้ยื่นรายงานดังกล่าว เจ้าพนักงานประเมิน ยังสามารถแจ้งเป็นหนังสือให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าวยื่นเอกสารหรือหลักฐานแสดงข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการวิเคราะห์การทำธุรกรรมของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าวเพิ่มเติมได้และผู้ได้รับหนังสือดังกล่าวต้องปฏิบัติตามภายในหกสิบวันนับนับแต่วันที่ได้รับหนังสือดังกล่าวตามที่บัญญัติในมาตรา 71ตรีวรรคท้ายได้

3.) ผู้ใดไม่ปฏิบัติตาม ม.71 ตาม ม.71 ตรี หรือยื่นรายงานหรือเอกสารหลักฐานตาม ม.71 ตรี โดยแสดงข้อมูลไม่ถูกต้องครบถ้วน โดยไม่มีเหตุอันสมควรต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2 แสนบาท

 

***ภาระหน้าที่ของบริษัทห้างฯ นิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันตามประมวลรัษฎากรที่เพิ่มเติมใหม่