Delivery Drone (โดรนขนส่ง)

Delivery Drone (โดรนขนส่ง)

ด้วยการขยายตัวอย่างรวดเร็วในการนำอุปกรณ์เทคโนโลยี มาประยุกต์ใช้กับทุกอุตสาหกรรมต่างๆ รวมไปถึงอุตสาหกรรมการขนส่ง

ที่มีการแข่งขันในเรื่อง ระยะเวลาการขนส่งที่มีความสะดวกและรวดเร็ว ด้วยเหตุนี้ หลายประเทศจึงหันมาพัฒนารูปแบบการขนส่งชนิดใหม่ ที่มีความรวดเร็วมากกว่าการขนส่งในรูปแบบอื่นๆ ซึ่งใช้อุปกรณ์ด้านเทคโนโลยีมาเป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อนและได้มีการออกกฎหมาย มาตรการบังคับที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาใช้ในการควบคุมดูแล รวมไปถึงการสนับสนุนให้อยู่ภายใต้กรอบกติกาอย่างเป็นระบบ ดังนั้น ในหลายประเทศไดัเล็งเห็นว่าการพัฒนาอุตสาหกรรม ด้านการขนส่งในรูปแบบนี้จะเป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจได้ดียิ่งขึ้น จึงทำให้รัฐต้องออกกฎหมายหรือมาตรการต่างๆ ที่จะนำมาควบคุมดูแลเพื่อให้เกิดความเหมาะสมและเป็นระเบียบ

อุปกรณ์เทคโนโลยีที่นำมาประยุกต์ใช้ในการขนส่งรูปแบบใหม่คือ โดรน” หรือมีชื่ออย่างอื่นว่า “อากาศยานไร้คนขับ” หรือ “อากาศยานไร้นักบิน” สำหรับในประเทศไทยนั้นกำหนดชื่อไว้อย่างเป็นทางการตามประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง หลักเกณฑ์การขออนุญาตและเงื่อนไขในการบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน ประเภทอากาศยานซึ่งควบคุมการบินจากภายนอก พ.ศ. 2558 โดยตามประกาศฉบับนี้จะใช้คำว่า “อากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน” ซึ่งชื่อในภาษไทยทั้งหมดที่กล่าวมานั้นในภาษาอังกฤษที่ใช้ในทางสากลคือ “Drone” หรือ “Unmanned Aerial Vehicle”: UAV

โดรนเป็นอากาศยานที่ไม่มีนักบินที่เป็นมนุษย์บังคับอยู่ในอากาศยาน โดยจะเป็นการควบคุมการบินโดยอัตโนมัติของอากาศยานเองหรือการควบคุมจากระยะไกลของนักบิน (ผู้บังคับการบินจากภาคพื้นดิน) ซึ่งสามารถแบ่งโดรนออกเป็น 2 ลักษณะด้วยกัน คือ 1) โดรนที่มีการบินโดยอัตโนมัติ และ 2) โดรนที่มีการบินจากการบังคับโดยรีโมทคอนโทร ส่วนการจัดประเภทของโดรนมาตรฐานในทางสากลสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ตามระยะทางการบิน ดังนี้ 1) ระยะการบินระยะใกล้ (Close Range : UAV-CR) ประมาณ 30 ไมล์ 2) ระยะการบินระยะสั้น (Short Range : UAV-SR) ไม่เกิน 125 ไมล์ และ 3) ระยะการบินระยะยาว (Long/Endurance Range : UAV-E) มากกว่า 125 ไมล์

กฎหมายสำคัญที่เกี่ยวกับการใช้โดรนในประเทศไทยได้แก่ ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตและเงื่อนไขในการบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก พ.ศ. 2558” ซึ่งแบ่งโดรนออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

(1) ประเภทที่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการเล่นเป็นงานอดิเรก เพื่อความบันเทิง หรือเพื่อการกีฬา แบ่งออกเป็น 2 ขนาด คือ (ก) ที่มีน้ำหนักไม่เกิน 2 กิโลกรัม โดยผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยานต้องมีอายุเกินกว่า 18 ปีบริบูรณ์ เว้นแต่จะมีผู้แทนโดยชอบธรรมควบคุมดูแล และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประกาศ (ข) ที่มีน้ำหนักเกิน 2 กิโลกรัมแต่ไม่เกิน 25 กิโลกรัม โดยผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยานต้องมีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์และต้องยื่นคำขอขึ้นทะเบียนต่ออธิบดีกรมการขนส่งทางอากาศ และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประกาศ

(2) ประเภทที่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นนอกจาก (1) ที่มีน้ำหนักไม่เกิน 25 กิโลกรัม ดังต่อไปนี้ (ก) เพื่อการรายงานเหตุการณ์หรือรายงานการจราจร (สื่อมวลชน) (ข) เพื่อการถ่ายภาพ การถ่ายทำหรือการแสดงในภาพยนตร์หรือรายการโทรทัศน์ (ค) เพื่อการวิจัยและพัฒนาอากาศยาน (ง) เพื่อการอื่น ๆ

สำหรับอากาศยานประเภทที่ (2) มีเงื่อนไขเช่นเดียวกับอากาศยานประเภท (1)(ข) กรณีที่ใช้เพื่อรายงานเหตุการณ์หรือรายงานจราจรหรือวิจัยและพัฒนาอากาศยานการต้องขึ้นทะเบียนต้องเป็นนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์ตามนั้น ส่วนเพื่อใช้ถ่ายภาพหรือการอื่นจะขึ้นทะเบียนเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ โดยการขึ้นทะเบียนเป็นนิติบุคคลต้องระบุรายชื่อผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยานหรือบุคคลที่จำเป็นในการปฏิบัติการบินของอากาศยานด้วย

ดังนั้น “การใช้โดรนเพื่อการขนส่ง” เมื่อวิเคราะห์ตามหลักกฎหมายและข้อบังคับที่มีการประกาศใช้ออกมาจะเห็นได้ว่าประเภทของโดรนจะถูกกำหนดโดยวัตถุประสงของการนำไปใช้งานและถูกกำหนดโดยน้ำหนัก ซึ่งโดรนที่นำมาใช้เพื่อการขนส่งนั้นตามกฎหมายข้างต้นจะถูกจัดให้อยู่ในประเภทที่ (2) และมีวัตถุประสงค์เพื่อการอื่นๆ ข้อที่ (2)(ง) โดยผู้บังคับหรือผู้ปล่อยเป็นได้ทั้งบุคคลธรรมดาที่ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ ไม่เป็นผู้มีพฤติการณ์อันเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ ไม่เคยต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในความผิดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดหรือกฎหมายว่าด้วยศุลกากร หรือนิติบุคคลซึ่งผู้แทนนิติบุคคลและผู้จัดการของนิติบุคคลนั้น มีคุณสมบัติเหมือนบุคคลธรรมและต้องยื่นคำขอขึ้นทะเบียนต่ออธิบดีกรมการขนส่งทางอากาศพร้อมทั้งแสดงหลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเห็นได้ว่าการขออนุญาตนั้นจำเป็นต้องระบุถึงวัตถุประสงค์ของการบิน ขอบเขตของพื้นที่ โดยจะเป็นดุลพินิจของอธิบดีกรมการขนส่งทางอากาศเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจ ดังนั้นจึงยังไม่มีบรรทัดฐานในประเทศไทยที่มีการนำโดรนมาใช้เพื่อขนส่งในด้านต่างๆ

เมื่อพิจารณาตามกฎหมายที่มีอยู่ในประเทศไทยในมุมมองที่เกี่ยวกับการนำโดรนมาใช้เป็นพาหนะหรือเครื่องมือในการขนส่ง ไม่ว่าจะมีวัตถุประสงค์เพื่อการพาณิชย์หรือเพื่อการช่วยเหลือทางการแพทย์ก็ตาม กฎหมายไทยเพียงแค่เปิดช่องทางอื่น ๆ ไว้ให้ผู้มีอำนาจใช้ดุลพินิจในการตัดสินใจ จึงยังไม่มีบรรทัดฐานใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง ดังนั้นกฎหมายที่มีอยู่ในประเทศไทยเพียงพอต่อการนำมาปรับใช้กับโดรนขนส่งหรือไม่ ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้ขนาดของโดรนจะต้องมีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมากขึ้นอย่างแน่นอน.

โดย... 

พรพล เทศทอง

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์