ชุดนักเรียนกับการสร้างสำนึกประชาธิปไตย

ชุดนักเรียนกับการสร้างสำนึกประชาธิปไตย

การแต่ง หรือไม่แต่งเครื่องแบบนักเรียนกลับมาเป็นประเด็นให้พลเมืองออนไลน์ในบ้านเราได้แสดงความเห็นกันอีกครั้ง ความจริงแล้วเรื่องนี้

เป็นปัญหาระดับนานาชาติเลยทีเดียว หลายประเทศมีการถกเถียงเรื่องนี้กันมานาน หากเราเชื่อว่า เหรียญย่อมมี 2 ด้าน ทุกเรื่องย่อมมีทั้งด้านดีและด้านไม่ดี การแต่งหรือไม่แต่งเครื่องแบบย่อมมี 2 ด้านเช่นกัน ความสามารถในการมอง 2 ด้านนี่แหละ คือกุญแจสำคัญของการสร้างสำคัญบ่มเพาะจิตวิญญาณของประชาธิปไตยให้กับสังคม

ชุดนักเรียนกับการสร้างสำนึกประชาธิปไตย

สำหรับเรื่องเครื่องแบบนักเรียนมีประเด็นสำคัญ 4 เรื่องที่ควรคิดก่อนจะกำหนดจุดยืน

ประเด็นแรก อิสรภาพในการแสดงออก  หลักการของการแสดงออก คือ สามารถทำได้แต่ต้องให้เกียรติคนอื่น เพื่อไม่ให้การแสดงออกเหล่านั้น ส่งผลกระทบต่อคนรอบข้างหรือสังคม หากใช้เกณฑ์นี้มาประเมิน ก็จะได้แนวทางว่า ถ้าการแต่งตัวอย่างเป็นอิสระของนักเรียนไม่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการสอนของครู และไม่ส่งผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียน งั้นก็ไม่มีอะไรน่ากังวล

นอกจากนี้แล้ว อิสรภาพในการแสดงออก คือช่องทางหนึ่งที่ช่วยให้นักเรียนได้ค้นพบตัวเอง วัยเรียนเป็นวัยที่เด็กมีโอกาสได้ทดลอง เรียนรู้ เพื่อนำเอาประสบการณ์เหล่านี้มาประกอบสร้างตัวตน การแต่งตัวก็คือหนึ่งในวิธีที่เด็กจะได้ทดลองเพื่อค้นหาความชอบของตัวเองว่า การแต่งตัวแบบไหนที่สะท้อนตัวตนของตนเองออกมาได้ดีที่สุด

ในยุคที่ปัญญาประดิษฐ์เข้ามาเสริมพลังการคิดในเชิงเหตุผลของเรามากขึ้น การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ให้สามารถเติบโตควบคู่กันไปอย่างสมดุลกับพลังของเทคโนโลยี จึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้เด็กไทยสามารถเติบโตและก้าวหน้าได้อย่างมั่นคงในยุค 4.0

ประเด็นที่สอง การไม่แต่งเครื่องแบบส่งผลต่อพฤติกรรมของนักเรียน  ทำให้นักเรียนขาดเรียน ไม่มีวินัย ไม่ตั้งใจเรียน เล่นการพนัน และไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด หลักฐานงานวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการแต่งเครื่องแบบกับพฤติกรรมไม่พึงประสงค์พบว่า สำหรับเด็กที่มีพื้นฐานทางครอบครัวเหมือนกัน ระดับผลการศึกษาใกล้เคียงกัน การแต่งเครื่องแบบนักเรียนไม่ได้ช่วยลดพฤติกรรมที่น่ากังวลเหล่านี้ลงเลย

ประเด็นที่สาม โอกาสในการสร้างจิตสำนึก  เรื่องนี้เป็นโอกาสดีที่เด็กจะได้มีประสบการณ์ตรงกับ “ประชาธิปไตย” ว่ามันมีความซับซ้อนกว่าแค่การเลือกตั้ง หรือการแสดงออกตามใจฉัน ลองให้เด็กได้เลือกเองดูไหมว่า อยากจะได้แบบไหน แล้วก็คุยกันว่าแต่ละทางเลือก มีข้อดีข้อเสียอย่างไร

บรรยากาศของโรงเรียนในแบบเดิม คือบรรยากาศของการควบคุม เต็มไปด้วยกฎระเบียบ ซึ่งถูกสร้างมาด้วยความหวังดีว่าจะช่วยให้เด็กรู้จักการมีวินัย มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ผลที่ออกมากลับไม่เป็นไปตามคาด เสียงสะท้อนจากนายจ้างที่บ่นว่า แรงงานยุคใหม่ขาดวินัย ขาดความอดทน ไม่รู้จักเคารพกฎระเบียบ คือหลักฐานสำคัญที่บอกว่า ระบบการสร้างคนแบบเดิมมันใช้ไม่ได้แล้ว แทนที่จะบังคับให้พวกเขาเดินตามคนรุ่นก่อน ทำไม่เราไม่เปิดโอกาสให้เขาได้เลือกเส้นทางของตนเอง โดยมีผู้ใหญ่คอยเป็นที่ปรึกษา ลองเอาใจเขามาใส่ใจเราแล้วพบกันคนละก้าว น่าจะหาทางออกร่วมกันได้ดีกว่า

ประเด็นที่สี่ ความเหลื่อมล้ำ  ข้อกังวลที่ว่าการแต่งตัวได้ตามใจจะทำให้เกิดประเด็นความเหลื่อมล้ำนั้น เป็นการกังวลจนเกินจริงเพราะปัจจุบันประเด็นความเหลื่อมล้ำในห้องเรียนและระหว่างโรงเรียนก็มีอยู่มากพอแล้ว

ในห้องเรียนเดียวกัน ถึงแม้จะแต่งเครื่องแบบนักเรียนเหมือนกัน เด็กในห้องก็รู้ว่าเพื่อนคนไหนฐานะเป็นยังไงได้โดยดูจากอุปกรณ์การเรียน โทรศัพท์มือถือ เงินค่าขนมที่ได้ อาชีพของพ่อแม่ ยิ่งเป็นเด็กต่างโรงเรียนกัน แค่รู้ชื่อโรงเรียนก็รู้แล้วว่าฐานะของทางบ้านเป็นอย่างไร การแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่คุณภาพต่างกัน จึงไม่ใช่สาเหตุที่จะทำให้นักเรียนรู้สึกเหลื่อมล้ำมากขึ้น ความรู้สึกนี้มันมีมาตั้งนานแล้ว

แทนที่จะมากังวลกันเรื่องแต่งหรือไม่แต่งเครื่องแบบนักเรียน แล้วลองถอยมามองภาพใหญ่ของการเปลี่ยนแปลงก็จะพบว่า โรงเรียนมีสิทธิ์พบกับชะตากรรมเดียวกับมหาวิทยาลัย นักเรียนออนไลน์ไม่จำเป็นต้องแต่งเครื่องแบบ เรื่องนี้ย่อมเกิดขึ้นแน่นอนไม่ช้าก็เร็ว แล้วเราจะมากังวลกับเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ไปทำไม

ในสังคมประชาธิปไตย การเปิดกว้างยอมรับความเห็นต่าง เป็นเสาหลักต้นหนึ่งที่ช่วยให้สังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข เท่าที่ลองอ่านความเป็นของพลเมืองออนไลน์เกี่ยวกับเรื่องนี้พบว่า คนมีเหตุผลน่าฟังก็เยอะ คนที่ใช้อารมณ์เพียงอย่างเดียวก็แยะ แถมคนจำนวนไม่น้อยเลือกถ้อยคำที่อ่านแล้วน่ากังวลยิ่งกว่าเรื่องแต่งหรือไม่แต่งเครื่องแบบนักเรียนเสียอีก

หากเรายังใช้อารมณ์หรือความคิดที่ยึดติดกับมุมมองของตัวเองมากำหนดจุดยืนในเรื่องนี้ ก็เข้าทางของเผด็จการ เบนิโต มุสโสลินี ที่เคยกล่าวว่า ประชาธิปไตยเป็นแนวคิดที่ฟังขึ้นในทางทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติมันคือหายนะของการใช้เหตุผล