ความเชื่อมั่นของปชช.ต่อองค์กรป้องกันและปราบปรามการทุจริต(จบ)

ความเชื่อมั่นของปชช.ต่อองค์กรป้องกันและปราบปรามการทุจริต(จบ)

จากบทความตอนที่แล้ว กล่าวถึง ลักษณะสำคัญของหน่วยงานป้องกันและปราบปรามการทุจริต การวางกลไก และการปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายที่กำหนดขอบเขต

รวมถึงอำนาจหน้าที่มีต่อการจับตาของภาคประชาสังคม อันจะส่งผลต่อหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการทำงานแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน และสำหรับบทความในตอนสุดท้ายนี้จะได้กล่าวถึงการทำหน้าที่ และยุทธศาสตร์ที่สำคัญต่อการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันให้ลุล่วง

สำหรับบทบาทหน้าที่ของ ป.ป.ช. ด้านการตรวจสอบทรัพย์สิน ด้วยอำนาจหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริง รวมถึงความเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ และในการณีที่มีการตรวจสอบสอบว่ามีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ สำหรับวิธีการตรวจสอบใช้วิธีการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สามารถดำเนินการได้ 3 วิธี คือ วิธีแรก คณะกรรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนเอง วิธีที่ 2 คณะกรรมการ ป.ป.ช.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน และวิธีสุดท้าย คณะกรรมการ ป.ป.ช.มอบหมายให้พนักงานเจ้าที่ดำเนินการ โดยแต่งตั้งเป็นพนักงานไต่สวน

ในการรวบรวมพยานหลักฐานค้นหาข้อเท็จจริง เมื่อสรุปมติอย่างใดก็ควรมีเหตุผลรองรับทุกประเด็น หากประชาชนทั่วไปยังความเคลือบแคลงสงสัยก็จะส่งผลต่อความไม่เชื่อมั่นของหน่วยงาน

คณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นองค์กรหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย แต่เดิมนั้นจะมีเพียง ตำรวจ อัยการ ศาล เท่านั้น โดยมีสถานะเป็นองค์กรอิสระ ไม่ขึ้นตรงต่อทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ ถือได้ว่าเป็นองค์กรของประเทศชาติ ไม่ใช่องค์กรของรัฐบาล จึงเสมือนว่าเป็นองค์กรกลาง ประชาชนทั่วไปย่อมไว้วางใจในอำนาจหน้าที่ ที่เกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมาย ในด้านการกระทำที่เป็นการขัดระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคคลและผลประโยชน์ส่วนรวมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ หากกระทำผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ มีมูลเพียงใดหรือไม่ 

ในกรณีที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ตรวจสอบแล้วเห็นว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล การตรวจสอบในเรื่องนั้นเป็นอันยุติ แต่หากตรวจสอบแล้วเห็นว่า มีมูลความผิดก็จะส่งเรื่องเพื่อให้องค์กรที่มีอำนาจวินิจฉัยความผิด และลงโทษผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้น ด้วยภารกิจดังกล่าว จึงนำมาสู่ปัญหาว่า จะทำอย่างไรที่จะทำให้การบังคับใช้กฎหมายเกิดประสิทธิภาพให้เห็นเป็นรูปธรรม เกี่ยวกับเรื่องการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวม 

ดังนั้นการบังคับใช้กฎหมาย โดยมิได้คำนึงการลงโทษแต่เพียงอย่างเดียว แต่เน้นการใช้มาตรการต่างๆ เพื่อป้องปรามมิให้เกิดการกระทำความผิด ก็จะทำให้ภารกิจด้านนี้มีประสิทธิภาพ ควบคู่กับการปฏิบัติตามภารกิจในการตรวจสอบโดยมีที่มาและที่ไปและมีเหตุผลในมติที่สมเหตุสมผลก็จะทำให้ประชาชนเชื่อมั่นมากขึ้น อันส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนกายุติธรรมในภาพรวมได้ในท้ายที่สุด

หากพิจารณาตามนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2558-2564 นโยบายที่ 9 เสริมสร้างความมั่นคงของชาติจากภัยการทุจริตคอร์รัปชัน โดยขจัดการทุจริตคอร์รัปชั่นและเงื่อนไขต่างๆ ที่เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ และสร้างความตระหนักให้ทุกภาคส่วนร่วมมืออย่างจริงจังและสนับสนุนการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ดังนั้นการที่ภาคประชาสังคมตื่นตัว เมื่อมีมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยเฉพาะในการวินิจฉัยบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเป็นบุคคลสำคัญของประเทศแสดงให้เห็นว่าทุกภาคส่วนตระหนักและมีการสนับสนุนการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

ประกอบกับยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ.2561 - 2580) 20 ปี ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐกำหนดไว้ชัดเจน ถึงภาครัฐมีความโปร่งใส ปลอดการทุจริตและประพฤติมิชอบทุกภาคส่วน ร่วมต่อต้านการทุจริต ภาครัฐมีการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในทุกระดับ โดยเฉพาะการสร้างวัฒนธรรมแยกแยะประโยชน์ส่วนบุคคล - ส่วนรวม ของบุคลากรภาครัฐให้เกิดขึ้น รวมทั้งสร้างจิตสํานึกและค่านิยมให้ทุกภาคส่วนตื่นตัว ละอายต่อการทุจริตประพฤติมิชอบทุกรูปแบบ และการปราบปรามที่มีประสิทธิภาพ เด็ดขาด เป็นธรรม และตรวจสอบได้ในทุกระดับอย่างตรงไปตรงมา เป็นธรรม ปราศจากการแทรกแซงของนักการเมืองและผู้มีอิทธิพล

ยุทธศาสตร์ของ ป.ป.ช. เองก็มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ว่าด้วยการป้องกันและปราปรามการทุจริต ระยะที่3 (2560-2564)ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ในยุทธศาสตร์ปฏิรูปกลไกและกระบวนการ กลยุทธ์ว่าด้วย ปรับปรุงการตรวจสอบความเคลื่อนไหว และความถูกต้องของทรัพย์สินและหนี้สิน หากดำเนินตามกลยุทธ์ที่วางไว้ โดยความรอบคอบสมเหตุสมผลก็จะเกิดความไว้วางใจต่อผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนต่อองค์กรป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้ (จบ)