“หญิงรักหญิง” และการท่องเที่ยว​​

“หญิงรักหญิง” และการท่องเที่ยว​​

เกาะเล็กแห่งหนึ่งมีนักท่องเที่ยวไปเยือนเกือบปีละแสนคน เพียงเพราะมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่โยงใยกับความเอนเอียงผิดสภาพจากเพศกำเนิด

ปรากฏการณ์นี้ทำให้นึกถึงโอกาสอื่นๆ ในการสร้างแหล่งท่องเที่ยวเพื่อหารายได้เข้าประเทศ

กรีซมีเกาะเล็กๆ อยู่แห่งหนึ่ง มีชื่อว่า Lesbos ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของทะเลAegean และตะวันตกเฉียงเหนือของตุรกี มีพื้นที่ 1,632 ตารางกิโลเมตร มีประชากรที่ไม่รวมนักท่องเที่ยวประมาณ 86,000 คน ที่มุมหนึ่งของเกาะนี้คือ หมู่บ้านชื่อ Eressos ซึ่งเป็นบ้านเกิดของกวีกรีกโบราณ ซึ่งมีชีวิตอยู่เมื่อประมาณ 2,500 ปีก่อน

ชื่อ Lesbos เตือนใจให้นึกถึงคำว่า lesbian ในภาษาอังกฤษซึ่งหมายถึง “หญิงรักหญิง” ชื่อเกาะนี้เป็นที่มาของคำว่า “lesvia” ในภาษากรีกปัจจุบัน “rezubian” ในภาษาญี่ปุ่น “lesben” ในภาษาเยอรมัน “lesbienne” ในภาษาฝรั่งเศส “lesbisch” ในภาษาดัช “lesbica”  ในภาษาอิตาลี “lesbisk”ในภาษาสวีเดน ฯลฯ

เหตุที่ชื่อเกาะนำไปสู่คำว่า lesbian ก็เพราะกวี กรีกโบราณคนดังกล่าวเป็นหญิงที่มีชื่อว่า Sappho มีชีวิตอยู่ระหว่าง 632-570 ก่อนคริสตกาล(ร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้า) ได้เขียนบทกวีซึ่งตกทอดมาถึงปัจจุบันชื่อว่า Ode to Aphrodite ซึ่งเป็นบทกวีเดียวในหลายผลงานของเธอที่ยังเหลืออยู่อย่างค่อนข้างสมบูรณ์

เธอเป็นต้นตำนานของคำว่า lesbian เพราะบทกวีนี้เว้าวอนเทพเจ้ากรีกหญิงAphrodite ซึ่งเป็นตัวแทนของความรัก ความงาม ความสุข และเพศสัมพันธ์ให้ช่วยเธอประสบความสำเร็จในความรักที่มีต่อผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งเธอรักอยู่ข้างเดียว

เรื่องของเธอเป็นที่ทราบกันมานานจนเป็นตำนานของความรักที่หญิงมีต่อหญิง เกาะนี้จึงเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของความรักระหว่างหญิงด้วยกัน การท่องเที่ยวเกาะนี้เริ่มขึ้นในประมาณทศวรรษของ1970 ในยุคที่ lesbian เป็นเรื่องของการแอบซ่อน ไม่เป็นที่ยอมรับโดยเฉพาะในหมู่ผู้ชาย “หญิงรักหญิง” จำนวนมากทยอยเยือนเกาะงดงามแห่งนี้ ซึ่งมีหาดยาว 3 กิโลเมตร และด้านหนึ่งของหาดจบลงที่กองหินสูง ซึ่งว่ากันว่าบนยอดแผ่นหินนั้นคือจุดที่ Sappho โดดทะเลฆ่าตัวตายในที่สุด

ปัจจุบันเกาะLesbos เป็นแหล่งของนักท่องเที่ยวปีละเกือบแสนคน หมู่บ้านEressos ซึ่งเป็นบ้านเกิดของ Sappho แต่ละฤดูร้อนนั้นมี หญิงรักหญิงที่ อินมากท่องเที่ยวปีละ 3,000-4,000 คน โดยเพิ่มจาก1,000 คน เมื่อหลายสิบปีก่อน หมู่บ้านนี้มีบาร์สำหรับ “หญิงรักหญิง” อยู่ 3 แห่ง มีงานเทศกาลทุกกันยายนของทุกปี มีทั้งความบันเทิงและงานสัมมนาวิชาการ ผู้คนที่ไปเที่ยวสนุกสนานและมักกลับไปอีกด้วยบรรยากาศของการยอมรับความเป็น “หญิงรักหญิง” และด้วยความขลังของการเป็นบ้านเกิดของกวี “หญิงรักหญิง” ซึ่งเข้าใจว่าเป็นคนแรกๆ ของโลกที่กล้าเปิดเผย

ในยุคก่อนต่างจากปัจจุบันอย่างมาก คนบนเกาะรังเกียจคนกลุ่มนี้โดยเฉพาะผู้ชาย ไม่ชอบความดังแนวนี้ของสถานที่ เมื่อสิบปีก่อนมีชาวเกาะLesbos 3 คน ยื่นคำร้องต่อศาลกรีกให้สั่งห้ามการใช้คำว่า lesbian สำหรับ “เกย์ผู้หญิง” แต่ศาลปฏิเสธ อย่างไรก็ดี ผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวทำให้แรงต่อต้านลดลงมาก “หญิงรักหญิง” กล้าแสดงออกซึ่งความรักในที่สาธารณะอย่างเป็นที่ยอมรับคล้ายกับกลุ่มรักเพศเดียวกันอื่น ๆ ในหลายแห่งในโลก

LGBT เป็นศัพท์ปัจจุบันที่ใช้เรียกกลุ่มคนเหล่านี้ซึ่งหมายถึง Lesbian, Gay, BisexualและTransgender (ผู้มีเพศสภาพคือความรู้สึกว่าเป็นเพศใดจริงๆไม่ตรงกับเพศกำเนิด) ผู้ต่อสู้ในเรื่องสิทธิจนได้รับการยอมรับมากขึ้นในโลก หลายประเทศออกกฎหมายยอมรับการแต่งงานของเพศเดียวกัน

ใน2-3ปีที่ผ่านมานี้ เกาะLesbosประสบชะตากรรมผันผวน มีนักท่องเที่ยวเหลือเพียงครึ่งเดียว เนื่องจากการอพยพของผู้คนจากซีเรีย และอื่นๆ ที่หลั่งไหลกันเข้ายุโรปทางทะเลในปี 2015 โดยผ่านเกาะนี้ซึ่งใช้เป็นจุดแรกที่เข้ายุโรปนับแสนๆ คน นักท่องเที่ยวหวาดกลัวจึงหนีหายไปหมด เข้าใจว่าในไม่ช้าคงกลับเข้าสู่สภาพเดิม

การท่องเที่ยวเป็นแหล่งหารายได้ที่สำคัญ การส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวเช่นนี้คือลักษณะหนึ่งของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งหมายถึงกิจกรรมซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่มโดยใช้ความคิด และสติปัญญา เกาะใกล้ๆ กันของกรีกที่มีชื่อว่า Mykonos ก็เ ป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงโดยเฉพาะของเกย์ชาย

เกาะพะงันของเราที่มีชื่อเสียงด้าน full moon party ของทั้งชายและหญิง ก็เข้าลักษณะเศรษฐกิจสร้างสรรค์เชิงท่องเที่ยวเช่นกันคนทั่วโลกพยายามสร้างแหล่งท่องเที่ยวในแนวนี้ เช่น เมื่อเมืองหนึ่งในจังหวัด Fukui ของญี่ปุ่นมีชื่อพ้องกับประธานาธิบดี Obama ถึงแม้จะเป็นเมืองเล็ก ๆ ที่มีประชากรเพียง 30,000 คน แต่ตั้งแต่ปี 2008 ที่ชื่อ Obama ดังทั่วโลกก็สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวนับแสนให้หลั่งไหลไปชมเมือง ที่ปกติผลิตเพียงสินค้าเกษตรและการประมงจนการท่องเที่ยวมีความสำคัญขึ้น 

ถ้าใครค้นหาหลักฐานได้ชัดเจนว่าซูชิ (sushiอาหารญี่ปุ่นที่รู้จักกันแพร่หลายเพราะเพียงมี ข้าวปั้นพิเศษและเลือกสารพัดสิ่งวางลงบนข้าวปั้นก็อร่อยแล้ว)มีแหล่งกำเนิดมาจากที่ใดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(โดยเฉพาะหากเป็นไทย)ตามที่ญี่ปุ่นบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ไว้ก็จะสร้างรายได้มหาศาลเข้าประเทศ(อ้างอิงจากWikipedia)

ซูชิพัฒนามาจากการถนอมอาหารของคนแถบนี้โดยเก็บรักษาปลาไว้ไม่ให้เน่าด้วยการวางชิ้นปลาลงบนข้าวนานนับเดือนกระบวนการหมักซึ่งเกิดจากข้าวเป็นตัวการทำให้ปลามีกลิ่นเหม็นแต่ ไม่เน่า เวลาบริโภคก็โยนข้าวทิ้ง หนังสือบางเล่มระบุว่าซูชิมาจากปลาร้า(ปลาหมักปนกับรำข้าวและเก็บไว้เป็นเดือนเวลาบริโภคก็ล้างรำข้าวทิ้ง)โดยต่อมาดัดแปลงเป็นปลาสดวางบนข้าวแต่ข้าวยังคงมีความเปรี้ยวโดยผสมน้ำส้มเพื่อยับยั้งกระบวนการหมักและผสมกับเครื่องปรุงอื่นๆโดยวัตถุประสงค์หลักของซูชิแท้คือให้มีการหมักเกิดขึ้นกับปลาสดที่วางไว้ข้างบน

หากมีงานวิจัยค้นคว้าเรื่องที่เล่านี้อย่างลึกซึ้งขึ้นและโยงใยกับปลาร้าของเราก็จะเป็นกิจกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวที่สำคัญของบ้านเราตัวอย่างหนึ่ง คือ ชาวOkinawa ของญี่ปุ่นผลิตเหล้าขาวawamoriที่มีชื่อเสียงโดยใช้ข้าวจากไทยโดยเฉพาะมาตลอดเวลาอันยาวนานตามบันทึกที่มีเมื่อหลายร้อยปีก่อนว่านำเข้าข้าวจากอาณาจักรอยุธยาสู่อาณาจักรริวกิว(ชื่อเก่าของOkinawa) เพื่อผลิตเหล้านี้

เศรษฐกิจสร้างสรรค์เชิงท่องเที่ยวต้องมี เรื่องเล่าที่อยู่บนพื้นฐานของความจริงประกอบ จึงจะขลังและสร้างมูลค่าได้ เกาะLesbosและawamori ที่มีชื่อเสียงก็เพราะเขาส่งเสริม เรื่องเล่าพร้อมกับคุณภาพถ้าเรื่องเล่าว่าซูชิมีที่มาจากปลาร้าเป็นที่ปรากฏอย่างกว้างขวางแล้ว เราก็จะมีงานทำอีกมากพร้อมกับศักยภาพทางรายได้เข้าประเทศ

ความคิดริเริ่มสามารถสร้างงานและรายได้ตลอดจนเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คนจำนวนมากได้ การยอมและส่งเสริมให้เยาวชนคิดอย่างเสรี ไม่ขีดวงแค่การฝึกความจำคือหนทางสำคัญหนึ่งในการสร้างฐานชีวิตของผู้คนในภายภาคหน้า