ความเชื่อมั่นของปชช.ต่อองค์กรป้องกันและปราบปรามการทุจริต(1)*

ความเชื่อมั่นของปชช.ต่อองค์กรป้องกันและปราบปรามการทุจริต(1)*

ความเชื่อมั่น หรืออาจเรียกว่าความเชื่อถือไว้วางใจ เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการทำงาน โดยเฉพาะความเชื่อถือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

หรือประชาชนต่อการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ ย่อมส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการ เนื่องจากหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือประชาชนขาดความเชื่อมั่นในหน่วยงานภาครัฐแล้ว หน่วยงานภาครัฐนั้นก็จะไม่มีความสำคัญและขาดการสนับสนุน นอกจากนี้จะส่งผลกระทบต่อการให้ความร่วมมือ การประสานงาน การร่วมปฏิบัติงาน ดังนั้น การสร้างความเชื่อมั่นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชนไว้วางใจจึงเป็นปัจจัยสำคัญ อันจะส่งผลต่อการทำงานของหน่วยงานภาครัฐเป็นอย่างมาก

หน่วยงานที่ดำเนินการเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งจำเป็นต้องให้ความสำคัญต่อองค์ประกอบของการทุจริต ในการกระทำทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐมีอยู่ สามประการ ซึ่งมีความสัมพันธ์เกื้อกูลซึ่งกันและกัน หากขาดองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งก็จะไม่มีการกระทำการทุจริตเกิดขึ้น ได้แก่ ความไม่ซื่อสัตย์(Dishonesty) โอกาส(Opportunity) และการจูงใจ (Motive) แน่นอนว่าปัจจุบันเป็นที่ยอมรับว่าปัญหาการทุจริตหรือคอร์รัปชั่น เป็นปัญหาที่สำคัญของทุกประเทศ การกระทำความผิดนี้เป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติของสังคม ในขณะเดียวกันก็เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องดำเนินการ เพื่อให้มีหน่วยงานที่จะคอยควบคุมให้การกระทำความผิดอยู่ในขอบเขตที่ไม่ก่อให้เกิดภยันตรายต่อสังคมหรือประเทศชาติหน่วยงานดังกล่าวส่วนหนึ่งคือหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม สำหรับการป้องกันและปรามปรามทุจริตนั้น มีแนวคิดและทฤษฎีที่สำคัญๆ คือ ทฤษฎีการควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ทฤษฎีการบังคับใช้กฎหมาย ทฤษฎีการดำเนินคดีอาญาโดยรัฐและระบบการค้นหาความจริง

แนวความคิดเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ การออกแบบกลไก หรือองค์กรที่จะมาทำหน้าที่สนับสนุนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ที่เป็นเรื่องของความร่วมมือกันของคน 2 ฝ่าย ที่ต่างมีผลประโยชน์ร่วมกัน ไม่มีผู้เสียหายแน่นอนที่จะนำเรื่องดังกล่าวมาร้องเรียนกล่าวหาอย่างคดีอาญาทั่วไป ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาการดำเนินการกับกรณีการทุจริตจึงจำเป็นต้องพัฒนาการดำเนินการหรือกลไกที่แตกต่างจากคดีอาญาทั่วไป ซึ่งผลประโยชน์ของรัฐหรือการบริหารราชการที่ต้องรักษาผลประโยชน์ของรัฐ เมื่อการดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไม่รอบคอบหรือขาดความระมัดระวังตามสมควรแห่งการค้นหาความจริงก็ย่อมส่งผลต่อการบริหารราชการ และอาจเกิดความไม่ไว้วางใจหรือไม่เชื่อมั่นกับหน่วยงานในการตรวจสอบ

การที่ภาคประชาสังคมเฝ้ามองการดำเนินงานตามภาระกิจหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 28 

(1) ไต่สวนและมีความเห็นกรณีมีการกล่าวหาผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อํานาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐาน ทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง 

(2) ไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ กระทําความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม โดยหน้าที่ๆ สังคมให้ความสนใจอยู่ในปัจจุบันคือ... 

(3) กําหนดให้ผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ และเจ้าหน้าที่ของรัฐยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ รวมทั้งตรวจสอบและเปิดเผยผลการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของบุคคลดังกล่าว 

ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หมายความว่า นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎา สมาชิกวุฒิสภา... ส่วนคำว่า “ร่ำรวยผิดปกติ” หมายความว่า การมีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ หรือการมีหนี้สินลดลงมากผิดปกติ หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่มีมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมายสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามหน้าที่หรือใช้อํานาจในตําแหน่งหน้าที่ รวมทั้งกรณีมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติสืบเนื่องจาก การเปรียบเทียบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วย

(อ่านต่อ ตอน 2)

โดย... 

รศ.กรกฎ ทองขะโชค

คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยลัยทักษิณ