“ส่องรายได้การจ้างงานจากข้อมูลการชำระเงิน”

“ส่องรายได้การจ้างงานจากข้อมูลการชำระเงิน”

ในยุคดิจิทัล ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีส่งผลให้สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและคาดการณ์ได้ยากขึ้น

ผู้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการเงินจึงต้องแสวงหาแหล่งข้อมูลใหม่ๆ ที่ช่วยให้ประเมินภาพเศรษฐกิจได้อย่างทันกาลควบคู่ไปกับการติดตามภาวะเศรษฐกิจจากแหล่งข้อมูลแบบดั้งเดิมที่มีอยู่ ข้อมูลธุรกรรมการชำระเงินก็เป็นหนึ่งในข้อมูลระดับจุลภาคและเป็นข้อมูลเร็วที่ได้รับความสนใจในการศึกษาพัฒนาเครื่องชี้สำหรับติดตามและประเมินภาพเศรษฐกิจ

ข้อมูลการชำระเงินที่นำมาศึกษาครั้งนี้ คือ ข้อมูลธุรกรรมการโอนเงินรายย่อยครั้งละหลายรายการ (Bulk Payment) จากลูกค้าของสถาบันการเงินหนึ่งโอนไปยังลูกค้าของอีกสถาบันการเงินหนึ่ง (เช่น การโอนเงินเดือน เงินปันผล ฯ) หรือการเรียกเก็บเงินของลูกค้าสถาบันการเงินหนึ่งจากลูกค้าของอีกสถาบันการเงินหนึ่งที่ได้ยินยอมให้หักบัญชีแล้ว (เช่น การหักค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ฯ) ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้รับข้อมูลชุดนี้จาก บริษัท เนชั่ลแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด (NITMX) มีความถี่เป็นรายวัน และได้รับทุกวันต่อเนื่องมาเกือบ 10 ปี โดยข้อมูลที่ใช้ศึกษามีการปกปิดตัวตนทั้งหมด ทั้งหมายเลขบัญชีและชื่อธนาคารที่ให้บริการ

ข้อมูลชุดนี้มีการจำแนกวัตถุประสงค์การโอนเงินไว้ถึง 10 หมวด ที่สำคัญ ได้แก่ การชำระค่าสินค้าและบริการ การจ่ายเงินเดือน การจ่ายสวัสดิการภาครัฐ การจ่ายเงินปันผล เป็นต้น วัตถุประสงค์ที่สนใจนำมาศึกษาเพื่อติดตามภาวะรายได้ของภาคแรงงาน คือ การโอนจ่ายเงินเดือน ซึ่งเป็นบริการการโอนเงินที่นายจ้างนิยมใช้เพื่อจ่ายเงินเดือนให้แก่ลูกจ้างบริษัทตนเอง เนื่องจากสามารถกำหนดวัน เวลา และจำนวนเงินที่จะโอนล่วงหน้าได้ โดยมีจำนวนธุรกรรมการโอนเงินในหมวดนี้มากกว่า 5 แสนรายการต่อเดือน

“ส่องรายได้การจ้างงานจากข้อมูลการชำระเงิน”

แม้จะยังมีข้อจำกัดที่มีเพียงข้อมูลการโอนเงินเดือนระหว่างธนาคาร ซึ่งมีสัดส่วนเพียง 6.5% ของมูลค่าการโอนเงินเดือนผ่าน Bulk Payment ทั้งหมด (รวมการโอนเงินทั้งภายในธนาคารเดียวกันและระหว่างธนาคาร) แต่ผลการศึกษาก็พบข้อเท็จจริงหลายประการที่ทำให้มั่นใจได้ว่าข้อมูลนี้สามารถสะท้อนรายได้แรงงานในระบบของบริษัทต่างชาติและบริษัทไทยขนาดใหญ่ได้ อาทิ ข้อมูลบัญชีผู้โอนเงิน (หรือ “บัญชีนายจ้าง”) และบัญชีผู้รับโอน (หรือ “บัญชีลูกจ้าง”) กระจุกตัวในเขตกรุงเทพฯ เขตอุตสาหกรรมตะวันออก และตามจังหวัดหัวเมือง ซึ่งสอดคล้องกับการกระจุกตัวของสถานที่ตั้งบริษัทหรือโรงงานขนาดใหญ่ของไทย จำนวนบัญชีลูกจ้างกว่า 84% รับโอนเงินเดือนจากบัญชีนายจ้างรายใหญ่ (บัญชีนายจ้างที่มีการโอนให้บัญชีลูกจ้างเกิน 200 ราย) จำนวนบัญชีลูกจ้างที่รับโอนจากบัญชีนายจ้างที่อยู่กับธนาคารต่างชาติมีสัดส่วน 30-50%

จากข้อเท็จจริงที่พบ จึงได้นำข้อมูลการโอนเงินเดือนมาจัดทำเครื่องชี้สะท้อนรายได้การจ้างงาน หรือ Employment Revenue Index (ERI) ซึ่งประยุกต์วิธีการคำนวณจากงานศึกษาของธนาคารกลางประเทศอินเดีย และปรับให้เข้ากับบริบทของไทย โดยกำหนดให้จำนวนผู้รับโอนเงินเดือนแทนจำนวนแรงงาน และค่ามัธยฐานของมูลค่าการโอนแทนเงินเดือนที่ได้รับ พบว่าสามารถนำมาใช้ติดตามภาวะรายได้จากการจ้างงานได้ โดยบ่งชี้ถึงจำนวนแรงงานและรายได้ของแรงงานเหล่านั้นในช่วงเวลาหนึ่งเทียบกับช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา

การเคลื่อนไหวของดัชนี ERI รายเดือนจะผันผวนตามฤดูกาลการจ่ายโบนัส โดยดัชนีปรับตัวสูงขึ้นมากในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี และปรับตัวเมื่อมีปัจจัยภายนอกมากระทบต่อการปรับเงินเดือน เช่น ในช่วงปี 2555 ที่ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมให้มีการปรับฐานเงินเดือนวุฒิปริญญาตรีขั้นต่ำเป็น 15,000 บาท ทำให้ดัชนีเพิ่มขึ้นมากในช่วงเวลาดังกล่าว

นอกจากนี้ ดัชนี ERI ยังช่วยสะท้อนให้เห็นถึงพลวัตการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตลาดแรงงานที่เปลี่ยนจากการจ้างงานในกลุ่มผู้สูงวัยที่มีเงินเดือนสูง ไปสู่การจ้างงานในกลุ่มวัยเริ่มทำงานที่มีเงินเดือนต่ำกว่าได้ โดยบัญชีกลุ่มผู้เริ่มทำงานที่ยังมีเงินเดือนต่ำจะเข้ามาแทนที่บัญชีของกลุ่มรายได้สูงที่ถูกขจัดออกไปเมื่อเกษียณอายุและไม่ได้รับเงินเดือนแล้ว

การศึกษาต่อยอดไปถึงการทดลองนำดัชนี ERI ไปใช้คาดการณ์การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (Real Private Consumption Expenditure: RPCE) เนื่องจากเชื่อว่า เมื่อแรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้น ก็น่าจะนำไปจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ผลการทดสอบทางสถิติ ชี้ให้เห็นว่า ดัชนี ERI สามารถชี้นำการบริโภคได้ 6 เดือนหรือ 2 ไตรมาส โดยการนำไปใช้งานยังอยู่ระหว่างการติดตามผล อย่างไรก็ดี นอกจากปัจจัยด้านรายได้แล้ว การบริโภคภาคเอกชนยังขึ้นอยู่กับอีกหลายปัจจัย เช่น รายได้จากแหล่งอื่น (เงินปันผล ดอกเบี้ย เงินช่วยเหลือจากภาครัฐ ฯ) การเข้าถึงสินเชื่อ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เป็นต้น

โดยสรุป ข้อมูลการโอนเงินเดือนสามารถนำไปใช้ติดตามภาวะรายได้แรงงานได้ แต่ยังคงมีข้อจำกัดเรื่องความครอบคลุมที่มีเฉพาะธุรกรรมการโอนเงินระหว่างธนาคาร อย่างไรก็ดี ดัชนี ERI น่าจะเป็นประโยชน์ในแง่ของการเป็นเครื่องชี้ทางเลือกเพื่อประกอบการวิเคราะห์  ทั้งนี้ หากในอนาคตสามารถขยายขอบเขตความครอบคลุมข้อมูลถึงการโอนเงินภายในธนาคารเดียวกันได้ ก็จะทำให้การศึกษามีความครบถ้วนสมบูรณ์ และใช้ติดตามภาวะภาคแรงงานได้แม่นยำยิ่งขึ้น

[ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้วิจัย ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย]

โดย... 

เกียรติคุณ สัมฤทธิ์เปี่ยม

จารุพรรณ วานิชธนันกูล

สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย