จาก CSR สู่ Corporate Social Innovation(2)

จาก CSR สู่ Corporate Social Innovation(2)

สวัสดีปีใหม่ 2562 ค่ะ หวังว่าในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา หลายท่านคงมีโอกาสได้ใช้วันหยุดยาวและเทศกาลดีๆ เช่นนี้อยู่กับครอบครัว คนที่รักนะคะ

ฉบับนี้เรามาว่ากันต่อเรื่องของการพัฒนาจาก CSR สู่ Corporate Social Innovation กันค่ะ ดังที่ได้กล่าวไปในตอนก่อนว่า กรอบความมุ่งมั่นและความรับผิดชอบที่มีต่อสังคมไปสู่ การสร้างคุณค่าร่วมหรือCreating shared value ซึ่งหมายถึงการที่องค์กรจะต้องสามารถสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการสร้างคุณค่าทางสังคมและมุ่งแก้ไขปัญหาทางสังคมอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงโครงการ CSR ที่ทำควบคู่ไปกับธุรกิจ ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า Corporate Social Innovation ที่หมายถึงการพัฒนาโมเดลธุรกิจที่มีการแลกเปลี่ยนคุณค่าร่วมกัน โดยที่คุณค่าทางสังคมจะถูกนำไปรวมอยู่ในการดำเนินงานทางธุรกิจขององค์กร

มาเรียนา อิสทูริซได้เขียนในเวบไซต์ของ CMI Universal ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยแห่งหนึ่งในสเปนไว้ว่า ต่อไปนี้ สถาบันการเงินและนักลงทุนต่างๆ จะให้ความสนใจองค์กรหรือกิจการที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกให้แก่สังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ถือหุ้นได้ ซึ่งเป็นกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจที่มีความยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายขององค์กรต่างๆ ในเวลานี้คือการหาวิธีการและกลยุทธ์ในการสร้างคุณค่าร่วมที่ว่ามานี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังทำให้เกิดความได้เปรียบทางการแข่งขันได้

โดยองค์กรต่างๆ ต้องปรับปรุงหรือ Streamline กระบวนการทางธุรกิจด้วยแนวทางใหม่และชุดความคิดใหม่ๆ รวมถึงต้องมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชนที่ดำเนินการอยู่ให้มากขึ้น

โดยไม่ใช่เพียงแค่การเติมเต็มความต้องการของคนในชุมชนและลูกค้าเท่านั้น แต่ต้องตอบโจทย์และความคาดหวังของ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” หรือStakeholders ให้ได้ทุกกลุ่ม ซึ่งหมายถึงกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานต่างๆ ขององค์กร เช่น พนักงาน คู่ค้า ตัวแทนจำหน่าย องค์กรทางสังคมและสิ่งแวดล้อม หน่วยงานภาครัฐ ฯลฯ ดังนั้นการจะตอบโจทย์คนทุกกลุ่มได้ องค์กรจึงต้องคำนึงถึงกลุ่มคนเหล่านั้นในทุกมิติ

องค์กรที่สามารถสร้างคุณค่าร่วมให้เกิดขึ้นได้ จะนำไปสู่การสร้าง Corporate Social Innovation ซึ่งเป็นการร่วมมือและแก้ปัญหาของสังคม และบทบาทขององค์กรในการช่วยเหลือชุมชนในรูปแบบต่างๆ โดยไม่จำกัดว่าธุรกิจหลักขององค์กรคืออะไร โดยองค์กรที่จะสร้างCorporate Social Innovationได้จะต้องมี Commitment หรือความมุ่งมั่นจากผู้บริหารระดับสูง มีเป้าหมายร่วมกันที่ชัดเจน สามารถระบุความต้องการหลักของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียได้ และต้องมีความร่วมมือกับกลุ่มภายนอก กลุ่มบุคคล กิจการต่างๆ และกลุ่มพนักงาน เพื่อสร้างคุณค่าร่วมกัน

นอกจากนี้องค์กรควรทดลองเพื่อเรียนรู้และค้นหาวิธีการสร้างคุณค่าร่วมที่มีประสิทธิภาพหลายๆ ครั้ง เช่น อาจเริ่มจากโครงการเล็กๆ และค่อยๆ ขยายขึ้น และควรหาวิธีวัดผลของคุณค่าร่วมที่ได้สร้างขึ้น และค่อยๆ สร้างนวัตกรรมที่เป็นคุณค่าร่วมนี้ขึ้นมาในองค์กร และบ่มเพาะให้กลายเป็นวัฒนธรรมขององค์กรต่อไป

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าต่อไป Corporate Social Innovation จะกลายเป็นโอกาสธุรกิจที่สำคัญให้แก่องค์กรต่างๆ ที่นำไปปฏิบัติ แต่ในขณะเดียวกันอาจต้องพึงตระหนักว่า วิธีการสร้างคุณค่าร่วมนี้อาจไม่ได้เหมาะกับองค์กรที่ยังยึดติดอยู่กับแนวทางการดำเนินธุรกิจแบบเดิม หรือยังอยู่ในComfort zoneและไม่แสวงหานวัตกรรมใหม่ๆ หรือเปิดรับฟังความเห็นจากภายนอก เพราะการสร้างคุณค่าร่วมจำเป็นต้องมีการปรับแนวทางการบริหารจัดการธุรกิจ ที่ผนวกเอามุมมองด้านสังคมเข้าไปด้วย

เชื่อว่าต่อไปแนวทางของการสร้างคุณค่าร่วม จะนำไปสู่ Corporate Social Innovation หรือการสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคม จะเป็นแนวทางที่องค์กรต่างๆ ให้ความสำคัญและนำไปปฏิบัติกันมากขึ้นค่ะ