‘มิลเลนเนียล’ ตัวแปรเลือกตั้ง ‘อินเดีย-อินโดฯ’

‘มิลเลนเนียล’ ตัวแปรเลือกตั้ง ‘อินเดีย-อินโดฯ’

ขอเริ่มคอลัมน์แรกของปี 2562 ด้วยการเลือกตั้งครั้งสำคัญของ 2 เพื่อนบ้านเอเชียของเรา

ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ชาวเอเชีย 1,000 ล้านคนจะได้เลือกตั้งผู้นำคนใหม่ในประเทศประชาธิปไตยใหญ่ที่สุดของภูมิภาคอย่างอินเดียและอินโดนีเซีย

เกือบครึ่งหนึ่ง หรือ 400 ล้านคนในอินเดียและ 79 ล้านคนในอินโดนีเซีย เป็นกลุ่ม “มิลเลนเนียล” ที่เกิดประมาณระหว่างปี 2525-2544 ซึ่งหลายคนจะได้ใช้สิทธิออกเสียงเป็นครั้งแรกในชีวิต

แม้ภัยคุกคามจากกระแสเกลียดชังเกี่ยวกับศาสนาปรากฏให้เห็นเป็นวงกว้างทั้งการเลือกตั้งในอินเดียและอินโดนีเซีย แต่ตัวแปรสำคัญของการหาเสียงจะยังคงเป็นเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งประเด็นที่จะสะท้อนความต้องการของผู้ออกเสียงรุ่นใหม่ได้มากที่สุดคือ “การมีงานทำ”

ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด หรือ “โจโกวี” ผู้นำอินโดนีเซียจะลงชิงตำแหน่งผู้นำสมัยที่ 2 ในวันที่ 17 เม.ย.นี้ โดยเขาให้คำมั่นว่าจะใช้อุตสาหกรรมนำเศรษฐกิจอีกครั้ง

ความเฟื่องฟูของสินค้าโภคภัณฑ์ที่ช่วยปรับปรุงปัญหาการว่างงานสูงหลังวิกฤติเศรษฐกิจเอเชียในปี 2541 เข้าสู่ขาลงแล้ว หากไม่มีการผลักดันไปสู่การผลิตขนาดใหญ่และเพิ่มมูลค่าให้กับการส่งออกวัตถุดิบของประเทศ ก็เป็นเรื่องยากที่ชุมชนต่างๆ ที่มีอัตราว่างงาน 9% ขึ้นไปในจ.ชวาตะวันตก จะสามารถอุดช่องว่างนี้ได้ ในขณะที่ค่าเฉลี่ยการว่างงานทั่วประเทศอยู่ที่ราว 5%

โจโกวี ต้องการที่จะเดินหน้าลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานต่อไป ถึงแม้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) รายปีมีแนวโน้มที่จะลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เขาเข้าสู่อำนาจในปี 2557

อย่างไรก็ตาม คู่แข่งของโจโกวีอย่าง “ปราโบโว ซูเบียนโต” อดีตนายพลจากพรรคฝ่ายค้าน ชูนโยบายที่มีความเป็นชาตินิยมมากขึ้น พร้อมประกาศว่าหากเขาชนะการเลือกตั้งจะสั่งทบทวนการลงทุนที่เกี่ยวกับโครงการนำร่องเส้นทางสายไหมใหม่ของจีน ซึ่งรวมถึงโครงการทางรถไฟความเร็วสูงที่ลงนามกันไปแล้ว

ส่วนทางออกในการดึงดูดการลงทุนจากเอกชนเพิ่มขึ้น ปราโบโวเสนอให้ลดภาษีและค่าใช้จ่ายของรัฐบาลลง

ขณะที่ในอินเดีย ปัญหาว่างงานและความเดือดร้อนของเกษตรกรทั่วประเทศ ยังคงเป็นประเด็นหาเสียงหลักสำหรับ “ราหุล คานธี” ผู้นำฝ่ายค้านของอินเดีย นักการเมืองคนนี้น่าจับตา เพราะเขาตั้งเป้าที่จะโค่นนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีให้ได้

นายกฯ โมดีเองก็มีผลงานไม่ค่อยสู้ดีนักจากการเลิกใช้ธนบัตร 500 และ 1,000 รูปีและเก็บภาษีสินค้าและบริการ (จีเอสที) ซึ่งล้วนเป็นมาตรการที่สร้างความเดือดร้อนให้กับบรรดาบริษัทขนาดเล็กและแรงงานของบริษัทด้วย

เนื่องด้วยการลดเงินอุดหนุนเชื้อเพลิงในปีที่มีการเลือกตั้งนั้นถือเป็น “การฆ่าตัวตายทางการเมือง” ทั้งโมดีและโจโกวีจึงน่าจะหวังให้ราคาน้ำมันโลกอยู่ในระดับต่ำต่อไป ส่วนการแจกเงินสดช่วยคนยากจนในอินโดนีเซียน่าจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าในปีนี้ แต่เนื่องจากรัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมากจึงคาดกันว่าการขาดดุลงบประมาณของอินโดนีเซียจะอยู่ที่ไม่ถึง 2% ของจีดีพี

กลับมาที่อินเดีย คานธีซึ่งกำลังได้ใจจากการที่พรรคของเขาชนะเลือกตั้งระดับรัฐครั้งล่าสุด เดินหน้ากดดันให้โมดียกหนี้เงินกู้ให้กับเกษตรกร ขณะเดียวกัน โมดีกำลังดึงดูดกลุ่มชนชั้นกลางด้วยการลดประเภทสินค้าที่ถูกเก็บภาษีจีเอสที 28%

ต่อให้ไม่มีภาระทางการคลังเพิ่มเติม การขาดดุลงบประมาณของอินเดียในปีงบประมาณสิ้นสุดเดือนมี.ค. ก็ไม่น่าจะถึงเป้า 3.3% ของจีดีพี ขณะที่การเลือกตั้งจะจัดขึ้นในเดือนพ.ค. นี้

สำหรับทั้ง 2 ประเทศ สิ่งที่เป็นความท้าทายใหญ่ที่สุดในปีนี้คือ นโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หากเฟดพักการขึ้นดอกเบี้ยหลังปรับขึ้น 3 ครั้งในปี 2562 เงินรูปีของอินเดียและรูเปี๊ยะห์ของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็น 2 สกุลเงินที่อ่อนค่าหนักที่สุดของเอเชียในปีที่แล้ว ก็อาจตกอยู่ภายใต้แรงกดดันต่อไป