ตลาดหุ้นไทย กับ Election Rally

 ตลาดหุ้นไทย กับ Election Rally

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่านทุกท่าน ก่อนอื่นดิฉันขอสวัสดีปีใหม่ผู้อ่านทุกท่านนะคะ เรากำลังเข้าสู่ปี 2019

ซึ่งภาพรวมตลาดการเงินการลงทุนทั่วโลก มีแนวโน้มคาดการณ์ได้ยากขึ้น และน่าจะผันผวนมากกว่าในปีที่ผ่านมา เนื่องจากความไม่แน่นอนจากผลกระทบของหลากหลายปัจจัยด้วยกัน ซึ่งบางปัจจัยเสี่ยงยังคงยืดเยื้อต่อเนื่องจากปีที่แล้วมายังปีนี้ ไม่ว่าจะเป็น ข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะจีน ความผันผวนจากการดำเนินนโยบายการเงินเชิงเข้มงวดของธนาคารกลางหลักๆ ทั่วโลก

รวมถึงการทยอยดึงสภาพคล่องออกจากระบบ ความเสี่ยงจากประเด็นการแยกตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของ สหราชอาณาจักร (Brexit) และแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก จากการที่เศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงปลายวัฎจักรเศรษฐกิจ (Late Cycle) เป็นต้น

แม้ว่าตลาดการเงินการลงทุนทั่วโลกในปี 2019 มีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน จากหลายปัจจัยที่ได้กล่าวข้างต้น แต่สำหรับตลาดหุ้นไทย คาดว่า ปัจจัยภายในประเทศจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักที่จะมาแทนที่ปัจจัยจากต่างประเทศ ในช่วงปีที่ผ่านมาภาคการส่งออก และท่องเที่ยว เคยเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย

แต่ในช่วงปีนี้ ดิฉันคาดว่า เราคงต้องกลับมาพึ่งพาปัจจัยการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาครัฐบาลและเอกชน โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รวมไปถึง การลงทุนในเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการลงทุนในตลาดหุ้นไทย

สำหรับประเด็นที่นักลงทุนทั้งรายใหญ่และรายย่อยให้ความสนใจเป็นพิเศษ คือ การเลือกตั้งของไทย ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้อย่างเร็วที่สุดในช่วงเดือน ก.พ. 2019 จะเป็นสิ่งที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในช่วงก่อนการเลือกตั้ง ทั้งนี้ ข้อมูลในอดีต จาก Bloomberg บ่งชี้ว่า ข้อมูลการเลือกตั้ง 10 ครั้งหลังสุด ตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 5.14% ในการลงทุนช่วง 3 เดือนก่อนการเลือกตั้ง โดย 6 ใน 10 ครั้ง ให้ผลตอบแทนที่เป็นบวก

สำหรับหุ้นกลุ่มที่มักจะปรับเพิ่มขึ้นในช่วงก่อนการเลือกตั้ง (Election Rally) ได้แก่ หุ้นกลุ่มสื่อ และกลุ่มค้าปลีก ซึ่งส่วนมากมักจะมีการใช้มาตรการกระตุ้นการบริโภคก่อนการเลือกตั้ง นอกจากนี้ หุ้นกลุ่มที่จะได้รับประโยชน์จากการลงทุนภาครัฐบาลและเอกชน ได้แก่ กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งภาครัฐฯ มักเร่งประมูลงานก่อนการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลการเลือกตั้ง 10 ครั้งหลังสุดในอดีต จาก Bloomberg พบว่า การลงทุนในช่วง 3 เดือนหลังการเลือกตั้ง ตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนเฉลี่ย -6.7% โดยมีเพียง 1 ใน 10 ครั้งเท่านั้น ที่ดัชนีฯ ให้ผลตอบแทนที่เป็นบวก

สำหรับในไตรมาส 1 ปี 2019 ดิฉันเห็นว่า บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยอาจยังไม่ได้สดใสมากนัก แม้ว่าราคาหุ้นไทยจะมีการปรับตัวลดลงมาค่อนข้างมากแล้วก็ตาม โดยในปี 2018 ดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดอยู่ที่ 1,563.88 จุด หรือลดลง 10.82%YoY โดย Forward P/E ลดลงอยู่ที่ 13.53 เท่า และนักลงทุนต่างชาติมีสถานะถือหุ้นไทยอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์แล้วก็ตาม

แต่ดิฉันมองว่า ผลตอบแทนของหุ้นไทยในไตรมาส 1 ยังคงจำกัดและมีความผันผวน จากปัจจัยภายนอกที่ยังมีความเสี่ยงอยู่มาก ทั้งเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยังมีความไม่แน่นอน และประเด็น Brexit ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศ อย่างเรื่องการเลือกตั้งนั้น ยังคาดการณ์ทิศทางการเมืองไทยหลังการเลือกตั้งได้ค่อนข้างยาก การลงทุนในหุ้นไทยจึงยังควรเป็นแบบระมัดระวัง เน้นเลือกหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี และเน้นลงทุนในหุ้นที่มีการจ่ายเงินปันผลสูงอย่างสม่ำเสมอ

ทั้งนี้ บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS) มีการแนะนำกลยุทธ์การลงทุนในไตรมาส 1 ว่า หุ้นกลุ่มที่มีแนวโน้ม Outperform ตลาด ได้แก่ กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม จากวัฏจักรทางการลงทุน และเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่มีแนวโน้มฟื้นตัว กลุ่มธนาคาร จากแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและความต้องการสินเชื่อที่เพิ่มมากขึ้น และ กลุ่มอาหาร เป็นต้น