ลงทุนบอนด์&หุ้นเซกเตอร์ใดดี เมื่อดบ.ขึ้น

ลงทุนบอนด์&หุ้นเซกเตอร์ใดดี เมื่อดบ.ขึ้น

ในช่วงที่บรรยากาศการลงทุนค่อนข้างมืดครึ้ม ลองหายใจลึกๆ แล้วกลับมาหาแนวทางการลงทุนในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นกันก่อน

บทความนี้ จะขอพูดถึงว่าถ้าดอกเบี้ยขึ้นจะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์หลักๆ สูงขึ้นหรือลดลง มากน้อยเพียงใด รวมถึงดอกเบี้ยลง จะส่งผลเป็นเช่นไร

โดยเรื่องนี้ ทางเครดิต สวิส ได้ทำการศึกษา 2 ช่วงเวลา ได้แก่ หนึ่ง ช่วงที่ธนาคารกลางทำการขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบต่อเนื่อง และ สอง ช่วงที่ธนาคารกลางทำการลดอัตราดอกเบี้ยแบบต่อเนื่อง

ในที่นี้ การลงทุนหลังอัตราดอกเบี้ยขึ้นหมายถึง ซื้อสินทรัพย์หลังจากแบงก์ชาติประกาศขึ้นดอกเบี้ย (อาทิ เฟดขึ้นดอกเบี้ยในเดือนธันวาคม 2015) ทำการลงทุนตราบเท่าที่อัตราดอกเบี้ยยังขึ้นหรืออย่างน้อยก็คงที่ และทำการขายสินทรัพย์เมื่อแบงก์ชาติลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก ส่วนการลงทุนหลังจากอัตราดอกเบี้ยลดลงหมายถึงการซื้อสินทรัพย์เมื่ออัตราดอกเบี้ยลดลง แล้วถือสินทรัพย์ดังกล่าวจนกระทั่งอัตราดอกเบี้ยขึ้นในครั้งถัดไป

จากการศึกษาข้อมูลสหรัฐ ระหว่างปี 1913 ถึงปี 2015 ตลาดสหรัฐอยู่ภายใต้โหมดอัตราดอกเบี้ยขึ้น 44% ของช่วงเวลาทั้งหมด ส่วนอยู่ภายใต้โหมดอัตราดอกเบี้ยลง 56% ของช่วงเวลาทั้งหมด

พบว่ามีความแตกต่างของผลตอบแทนระหว่างช่วงอัตราดอกเบี้ยขึ้นและอัตราดอกเบี้ยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หุ้นและตราสารหนี้ โดยที่ตราสารทุนให้ผลตอบแทนที่แท้จริงแบบรายปีในช่วงเวลาดังกล่าวที่ 6.2% ทว่าในช่วงอัตราดอกเบี้ยขึ้น ให้ผลตอบแทนเพียง 2.3% เมื่อเปรียบเทียบกับในช่วงเวลาที่อัตราดอกเบี้ยลดลงที่ 9.3% สำหรับตราสารหนี้ของสหรัฐ ให้ผลตอบแทนที่แท้จริงที่ 2.2% ในช่วงเวลาทั้งหมด โดยที่ในช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ให้ผลตอบแทนที่แท้จริงที่ 0.3% เมื่อเปรียบเทียบกับในช่วงเวลาที่อัตราดอกเบี้ยลดลงที่ 3.6% ส่วนตราสารหนี้ระยะสั้น ให้ผลตอบแทนที่ไม่แตกต่างกันมากนักในทั้ง 2 ช่วงเวลา

สำหรับ อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐ ถือว่าเป็นไปตามคาด ที่ช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น มีอัตราเงินเฟ้อที่ 4.3% ส่วนในช่วงผ่อนคลายนโยบายการเงินที่ 2.2% โดยทั่วไป ช่วงที่ขึ้นดอกเบี้ย มักจะมาจากความกลัวว่าจะเกิดอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ซึ่งโดยทั่วไป แบงก์ชาติมักจะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งและมักจะต้องใช้เวลากว่าผลของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะมีต่อระดับอัตราเงินเฟ้อ จึงไม่น่าแปลกใจที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มจะสูงขึ้นในช่วงนโยบายการเงินตึงตัวมาถึงการหาผลตอบแทนเพิ่มเติมจากการขึ้นและลงของอัตราดอกเบี้ยว่าจะมีผลต่อเซกเตอร์ต่างๆของตลาดหุ้นอย่างไร?

โดยทั่วไปแล้ว เซกเตอร์ต่างๆ ของตลาดหุ้นจะสามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่มีราคาขึ้นหรือลงไปพร้อมกับวัฏจักรทางเศรษฐกิจ ขอเรียกหุ้นกลุ่มนี้ว่า cyclical

โดยทั่วไป กลุ่มที่เป็น cyclical จะประกอบด้วย เซกเตอร์ที่เป็นบริษัทที่ผลิตหรือขนส่งสินค้าที่ผู้บริโภคต้องการซื้อเมื่อรู้สึกรวยขึ้นและจะลดการซื้อลงเมื่อรู้สึกว่าตัวเองจนลง ธุรกิจดังกล่าว ได้แก่ บริษัทผลิตรถยนต์ สายการบิน โรงแรม ภัตตาคารระดับหรูหรา สินค้าฟุ่มเฟือย สินค้าแนวไฮเทค และเครื่องจักรขนาดใหญ่รวมถึงวัตถุดิบต่างๆ

ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งเป็น กลุ่มที่มีราคาขึ้นหรือลงโดยไม่เกี่ยวข้องกับวัฏจักรทางเศรษฐกิจ หรือ non-cyclical โดยไม่ว่าจะรวยหรือจน ผู้บริโภคก็ยังซื้อหาสินค้าและบริการดังกล่าวอยู่ดี อาจจะเรียกว่า เป็นกลุ่มเชิงรับหรือ Defensive ก็ว่าได้ ธุรกิจดังกล่าว ได้แก่ สินค้าแนวปัจจัยสี่ อาหารที่เป็นระดับบ้านๆ เครื่องนุ่งห่มแบบพื้นๆ ยารักษาโรค ของใช้ที่จำเป็นในบ้าน อย่างสบู่ ยาสีฟัน เป็นต้น ไฟฟ้า/ ประปา หรือประกันภัยพื้นฐาน อย่างรถยนต์

ถามว่าช่วงที่อัตราดอกเบี้ยขาขึ้นและขาลง ควรจะลงทุนในกลุ่ม Cyclical หรือ Defensive ดี คำตอบคร่าวๆ จากการสังเกตผลตอบแทนของสองกลุ่มดังกล่าวในสหรัฐ ปรากฎว่า เมื่ออยู่ในช่วงที่เป็นอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ควรจะลงทุนในกลุ่ม Defensive เนื่องจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ย จะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง

ยกตัวอย่าง เช่นในสหรัฐ ระหว่างปี 1926-2015 ในช่วงเวลาที่เป็นอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น กลุ่มที่เป็นเซกเตอร์ Defensive อาทิ สาธารณูปโภค ไฟฟ้า/ประปา โทรคมนาคม พลังงาน อุปกรณ์สำหรับธุรกิจ และ Healthcare จะมีอัตราผลตอบแทนเป็นบวกเฉลี่ย ระหว่าง 1.1-4.5% โดยที่สูงกว่าเพื่อนได้แก่ Healthcare และพลังงาน โดยในช่วงเวลาที่เป็นอัตราดอกเบี้ยขาลง อัตราผลตอบแทนที่ติดลบสูงสุด ได้แก่ สาธารณูปโภค ไฟฟ้า/ประปา และ โทรคมนาคม

สำหรับระหว่างปี 1926-2015 ในช่วงเวลาที่เป็นอัตราดอกเบี้ยขาลง กลุ่มที่เป็นเซกเตอร์ Cyclical อันประกอบด้วย เซกเตอร์การเงิน เคมี การค้าส่ง และสินค้าคงทน มีผลตอบแทนเป็นบวกเฉลี่ย ระหว่าง 0.7-4.1% โดยที่เซกเตอร์การค้าส่ง และสินค้าคงทน มีความชัดเจนระหว่างอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นและขาลงที่เป็นลบและบวกอย่างชัดเจน โดยมีผลต่างที่ 5.1% และ 8.5% ตามลำดับ

โดยสรุป

1.ช่วงเวลาที่เป็นอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น กลุ่มที่เป็นเซกเตอร์ Defensive อาทิ สาธารณูปโภค ไฟฟ้า/ประปา โทรคมนาคม พลังงาน อุปกรณ์สำหรับธุรกิจ และ Healthcare จะมีอัตราผลตอบแทนเฉลี่ย เป็นบวก

2.ช่วงเวลาที่เป็นอัตราดอกเบี้ยขาลง กลุ่มที่เป็นเซกเตอร์ Cyclical อันประกอบด้วย เซกเตอร์การเงิน เคมี การค้าส่ง และสินค้าคงทน มีผลตอบแทนเฉลี่ย เป็นบวก

3.เซกเตอร์การค้าปลีกและค้าส่ง และสินค้าคงทน มีความชัดเจนระหว่างอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นและขาลงที่เป็นลบและบวกอย่างชัดเจน โดยมีผลต่างที่ 5.1% และ 8.5% ตามลำดับ

4.ในช่วงเวลาที่เป็นอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น อัตราผลตอบแทนที่ก้าวกระโดดขึ้นจากช่วงขาลงมากที่สุด ได้แก่ สาธารณูปโภค ไฟฟ้า/ประปา และ โทรคมนาคม

5.ช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ลงทุนในหุ้นกู้ระยะสั้นดีกว่าหุ้นกู้ระยะยาว

ขอให้ทุกท่านโชคดี สำหรับการลงทุนปี 2019 ครับ

หมายเหตุ : ท่านที่สนใจงานสัมมนาคอร์ส เจาะลึก Next Crisis? วิกฤตหนี้โลก: โอกาสในความเสี่ยงของนักลงทุน” พร้อมมุมมองการลงทุนปี 2019 ในวันเสาร์ที่ 19 และ 26 ม.ค.2562 สามารถติดตามรายละเอียดได้ทาง facebook.com/MacroView