ลูกค้าของชุมชน คือคนทั้งโลก

ลูกค้าของชุมชน คือคนทั้งโลก

เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้มีโอกาสเดินทางไปยังหมู่บ้านวัวขาว (ไป๋หนิว) เมืองหลินอัน ประเทศจีน ซึ่งแต่เดิมนั้น

หมู่บ้านนี้มีวอลนัทลูกเล็กพันธุ์พื้นเมืองเป็นสินค้าชุมชนท้องถิ่นคล้ายกับสินค้า OTOP ในบ้านเรา  จากหมู่บ้านเล็กๆที่ต้องพึ่งพาวอลนัทเพียงอย่างเดียว ทุกวันนี้หมู่บ้านวัวขาวได้พัฒนาผลิตภัณฑ์และการค้าขายผ่านช่องทาง E-Commerce ทำให้เศรษฐกิจในชุมชนแข็งแกร่งขึ้นอย่างมาก

หมู่บ้านเถาเป่า (TaoBao Village) เป็นชุมชนผู้ประกอบการออนไลน์ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างอาลีบาบาและรัฐบาลท้องถิ่น เพื่อพัฒนาชนบทของประเทศจีน  โดยโครงการนี้มีหมู่บ้านที่เข้าร่วมโครงการประมาณ 3,200 หมู่บ้าน

จากเดิมก่อนหน้านี้หมู่บ้านวัวขาวมีแบรนด์สินค้าของตัวเองที่ขายเฉพาะวอลนัทเท่านั้น เมื่อมีหน้าร้านออนไลน์เป็นของตัวเองผ่าน TaoBao Village ทำให้มีคนรู้จักร้านและแบรนด์ของชุมชนมากขึ้น  ทางหมู่บ้านจึงได้มีการนำเข้าของจากที่อื่นเข้ามาแปรรูปและพัฒนาผลิตภัณฑ์ขายด้วย ตัวอย่างเช่น นำเข้าเมล็ดสนจากบราซิล และแมคคาดิเมียจากฮาวาย นำมาแปรรูป คั่ว ปรุงรสและขายภายใต้แบรนด์ของตัวเอง จากตัวอย่างดังกล่าวนี้ทำให้เห็นว่ามีการพัฒนาสินค้าชุมชนเหนือขึ้นไปจากสินค้า OTOP แบบที่เราคุ้นเคยอีกขั้นหนึ่ง เพราะมีการนำเข้าวัตถุดิบจากทั่วโลกมาต่อยอดและขาย E-Commerce จึงไม่ใช่แค่เพียงช่องทางเพื่อ “ขาย” เท่านั้น แต่ยังเป็นช่องทางที่สร้างโอกาสให้ชุมชน “ซื้อ” สินค้าแล้วนำมาแปรรูปขายเพิ่มมูลค่าได้อีกด้วย

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือการมีหน้าร้านผ่าน E-Commerce นั้นทำให้แบรนด์มีความแข็งแกร่งขึ้น ชุมชนจึงมีลูกค้าเพิ่มและสามารถพัฒนาความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ได้มากยิ่งขึ้นด้วย  ในหมู่บ้านวัวขาวประกอบไปด้วยกลุ่มวิสาหกิจชุมชน 68 กลุ่ม ซึ่งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเหล่านี้มีบทบาทในห่วงโซ่มูลค่า (value chain) แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นปลูกวอลนัท การคั่ววอลนัท หรือทำในส่วนบรรจุภัณฑ์ และการขาย วิสาหกิจชุมชนต่างๆในหมู่บ้านพัฒนาแบรนด์สินค้าเป็นของตัวเองหลายแบรนด์ ทำให้มีทั้งการสนับสนุนกันและการแข่งขันกันไปในตัวซึ่งนับเป็นเรื่องที่ดี

การที่ชุมชนมีแบรนด์สินค้าเป็นของตัวเอง สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน  ทำให้คนวัยหนุ่มสาวที่เคยออกจากชุมชนไปหางานในเมือง ได้กลับมาอยู่ที่บ้าน ที่ผ่านมาคนอาจจะมองเรื่องการค้าขายบนโลกออนไลน์หรือ E-Commerce นี้เป็นโลกเสมือนจริง (Virtual World) ที่จับต้องไม่ได้ แต่จากตัวอย่างนี้เรากลับเห็นว่าโลกเสมือนจริงกลับกลายเป็นสิ่งที่มาช่วยพัฒนาโลกความเป็นจริง (Real World)เกิดประโยชน์กับท้องถิ่นได้จริง ช่วยสร้างให้ท้องถิ่นชุมชนมีเศรษฐกิจฐานรากที่เข้มแข็งคนมีรายได้มีงานทำ ผู้คนได้อยู่กันเป็นครอบครัวไม่ต้องทิ้งบ้านไปหางานในเมืองทำ

สำหรับบทบาทของอาลีบาบานั้นนับว่ามีความสำคัญหลายประการ เช่น

- พัฒนาแพลตฟอร์มกลางและ E-Commerce ให้เป็นมิตรกับผู้ใช้ เกิดความสะดวกสบายให้กับกลุ่มชุมชนที่อยากเข้ามาซื้อขาย

- กลุ่มวิสาหกิจชุมชนหรือ SMEs ที่จะเข้ามาขายของบนแพลตฟอร์มนี้ไม่จำเป็นต้องมีบุคลากรเป็นของตัวเองจำนวนมากเพราะว่าทางอาลีบาบาได้มีการแชร์แพลตฟอร์มดูแลกิจกรรมธุรกิจให้ เช่น มีการดูแลและบริการลูกค้าให้โดยใช้หุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ (AI)

- อาลีบาบาแนะนำการบริหารจัดการระบบจัดการโลจิสติกส์ ทำให้มีมาตรฐาน และสอนให้กับชุมชนที่ต้องการมาค้าขาย เช่น การบรรจุภัณฑ์การจัดทำรายละเอียดการจ่าหน้าซองถึงลูกค้าว่าควรประกอบด้วยข้อมูลอะไรบ้าง การใช้บาร์โคต และ QR Code ทำให้วิสาหกิจชุมชนสามารถจัดส่งสินค้าเข้าระบบได้อย่างรวดเร็ว

- อาลีบาบายังเป็นโค้ชสอนวิสาหกิจชุมชนและหมู่บ้านต่างๆ ในเรื่องการขาย และการตลาดอีกด้วยเช่น สอนให้มีวิธีการเล่าเรื่องที่มาผลิตภัณฑ์การถ่ายรูปผลิตภัณฑ์ให้สวยดึงดูดใจลูกค้าตลอดจนสอนการกำหนดราคาสินค้าแบบต่างๆ ให้เหมาะสม เป็นต้น

ทั้งนี้การที่อาลีบาบาให้ความช่วยเหลือหมู่บ้านเหล่านี้ ก็เป็นการขยายฐานจำนวนผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์มของอาลีบาบาด้วยเช่นกัน

แต่ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือบทบาทของ รัฐบาลท้องถิ่นในการขับเคลื่อนการพัฒนา ทั้งในการผลิตวัตถุดิบ การส่งเสริมให้ชาวบ้านมาร่วมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชน การสนับสนุนในเรื่องเงินทุนซึ่งมีทั้งให้เปล่าและเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การจัดตั้งหน่วยงานตรวจสอบมาตรฐานสินค้า อำนวยความสะดวกให้คนทำธุรกิจ E-Commerce สิ่งเหล่านี้ตอกย้ำให้เราเห็นว่า การพัฒนาในเชิงพื้นที่จะต้องมีหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบอย่างชัดเจน ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในระดับชุมชนท้องถิ่นขับเคลื่อนไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

บทความที่แล้วของสถาบันฯ เราได้เล่าเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดยใช้วิธีการพัฒนาพื้นที่เพื่อกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวชุมชน ดึงดูดนักท่องเที่ยวหรือผู้คนเดินทางเที่ยวในชุมชนเพื่อจับจ่ายใช้สอยสร้างรายได้ให้ชุมชน กรณีตัวอย่างที่เล่าในวันนี้เป็นกรณีตัวอย่างอีกด้านหนึ่งที่เป็นไอเดียให้กับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทยได้อีกทางหนึ่ง คือ เราสามารถเอาชุมชนหรือผลิตภัณฑ์ชุมชนออกไปสู่โลกภายนอก  สร้างรายได้ให้กับชุมชนได้ผ่านช่องทาง E-Commerce และเมื่อคนรู้จักชุมชนเรามากขึ้น ก็ทำให้ผู้คนสนใจในชุมชน และเกิดความรู้สึกอยากมาหา มาทำความรู้จักให้มากขึ้น เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก (Local Economy) ได้อีกทางหนึ่ง

โดย... 

ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์

สถาบันอนาคตไทยศึกษา

Facebook.com/thailandfuturefoundation