เราควรแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างไร?

เราควรแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างไร?

วันนี้ 31 ธันวาคม เป็นวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ซึ่งหมายความว่า บทความวันนี้เป็นบทความสุดท้ายของปี 2561 ก่อนที่เราจะเริ่มปีใหม่ 2562

 ในวันพรุ่งนี้ ก็ต้องขอบคุณแฟนคอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต และผู้อ่านทุกท่านที่สนับสนุนงานเขียนของผมในคอลัมน์นี้เป็นอย่างดีมาตลอด พลาดไปอย่างไร หรือผิดอะไรไปก็ต้องขออภัยด้วย เพราะความตั้งใจก็เพียงต้องการใช้ข้อเขียนนี้แสดงความคิดเห็นและให้ความรู้ในประเด็นที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านและประเทศของเรา เท่าที่จะทำได้ เป็นตัวอย่างของการมีส่วนร่วมของประชาชนในอนาคตของประเทศ

ประเด็นหนึ่งที่สำคัญต่อประเทศเรามากขณะนี้ เป็นที่ตระหนักและพูดถึงกันมากก็คือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นผลผลิตของการทำงานของระบบเศรษฐกิจจากโครงสร้างเศรษฐกิจที่ประเทศมีอยู่ ช่วงสิบปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเติบโตในอัตราที่ต่ำ ระหว่าง 2-4 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ทำให้รายได้ในระบบเศรษฐกิจไม่โตมาก แต่ภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจที่เรามีอยู่ การจัดสรรรายได้ที่เกิดขึ้นระหว่างกลุ่มคนต่างๆ เหลื่อมล้ำมาก คือ คนจำนวนน้อยได้ประโยชน์มากจากการขยายตัวของเศรษฐกิจขณะที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้ประโยชน์ ทำให้รายได้ของคนส่วนใหญ่ไม่เพิ่มอย่างที่ควร มาตรฐานความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่จึงไม่ดีขึ้น แม้เศรษฐกิจจะขยายตัว นี่คือปัญหาที่ประเทศเรามีขณะนี้ ที่ไม่ว่าจะพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวมากเท่าไร ความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ดีขึ้นอย่างที่ควร ประโยชน์จากการขยายตัวของเศรษฐกิจตกอยู่กับคนส่วนน้อย ชี้ว่าโครงสร้างการกระจายรายได้ในประเทศเรามีปัญหามาก

ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข และจุดเริ่มต้นในการแก้ไขปัญหาต้องมาจากความเข้าใจที่ถูกต้องในสามเรื่อง 

หนึ่ง ต้องยอมรับว่า ปัญหาการกระจายรายได้ของประเทศขณะนี้รุนแรง ตัวเลขล่าสุดของธนาคารเครดิต สวิสฯ ชี้ว่า คนที่รวยที่สุดหนึ่งเปอร์เซนต์แรกในประเทศไทยมีทรัพย์สินรวมกันมากกว่า 66 เปอร์เซนต์ของทรัพย์สินทั้งหมดที่ประเทศมี ชี้ถึงความรุนแรงของปัญหาการกระจายรายได้ สภาพัฒน์โต้แย้งข้อมูลชุดนี้และชี้แจงว่า ความเหลื่อมล้ำในประเทศไม่ได้แย่ลงแต่ดีขึ้น ซึ่งฟังแล้วดูจะเชื่อยาก ตัวเลขของธนาคารเครดิส สวิสฯ น่าจะมีเหตุผลกว่าเนื่องจากตัวเลขของสภาพัฒน์ฯวัดความเหลื่อมล้ำเฉพาะจากรายได้ที่เกิดขึ้นในแต่ละปี เป็นตัวเลข flow แต่ไม่รวมความแตกต่างของปริมาณทรัพย์สินที่คนในประเทศมี ซึ่งเป็นตัวเลขสต๊อกและตัวเลขของธนาคารเครดิต สวิสฯ สอดคล้องกับตัวเลขความเป็นเจ้าของที่ดินในประเทศไทยที่มีการประมาณว่า มีประชากรเพียง 3 ล้านคนในประเทศที่เป็นเจ้าของที่ดินร้อยละ 80 ของที่ดินทั้งหมดของประเทศ ขณะที่คนไทยอีก 45 ล้านคน ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง นี่คืออีกนัยหนึ่งของความรุนแรงของปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ประเทศมี

สอง ความรู้สึกของคนไทยต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำ นับวันจะมีมากขึ้น เป็นผลจากแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นต่อมาตรฐานความเป็นอยู่ของคนไทยที่ชัดเจนว่า คนส่วนใหญ่มีฐานะความเป็นอยู่ที่ลำบาก ตัวอย่างเช่น ตัวเลขธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานว่า มีเพียงร้อยละ 5 ของผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณในประเทศที่มีความเป็นอยู่ดีและสามารถดูแลตนเองได้ ขณะที่อีกร้อยละ 95 ของผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณไม่สามารถช่วยตัวเองได้ มีเงินเก็บออมไม่พอ ยังต้องทำงานหรือต้องพึ่งพาลูกหลาน ญาติพี่น้องและสวัสดิการของรัฐเพื่อให้มีรายได้ประทังชีวิต ความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่อ่อนไหวง่ายต่อการแจกเงิน หรือนโยบายประชานิยมของพรรคการเมือง

สาม ปัญหาความเหลื่อมล้ำของประเทศ ไม่เคยมีการดำเนินการแก้ไขอย่างจริงจัง เพราะรัฐบาลจะมองปัญหาความเหลื่อมล้ำและปัญหาความยากจนเป็นปัญหาเดียวกัน ซึ่งไม่ถูกต้อง นำไปสู่การใช้วิธีแจกเงินแก้ปัญหา โดยอธิบายว่าเป็นการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำซึ่งไม่ถูกต้อง รัฐบาลปัจจุบันก็เช่นกัน ใช้วิธีแจกเงิน แจกประโยชน์ให้แก่คนที่ถือบัตรคนจน โยงว่าเป็นความพยายามแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำซึ่งไม่ถูกต้อง เราทราบกันดีว่าการแจกเงินทำให้คนมีรายได้เพิ่มขึ้นชั่วคราวตอนได้รับเงิน แต่เมื่อเงินที่ได้รับแจกถูกใช้หมด ความยากจนก็มีเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ชัดเจนว่า การแจกเงินไม่ใช่วิธีแก้ทั้งปัญหาความยากจนและปัญหาความเหลื่อมล้ำ การแจกเงินจึงถูกวิจารณ์ว่าเป็นนโยบายประชานิยมเพื่อซื้อเสียง ซื้อแรงสนับสนุนจากประชาชนบางกลุ่มอย่างที่เป็นข่าว ในลักษณะนี้ การแก้ปัญหาแบบรัฐสวัสดิการที่พรรคการเมืองบางพรรคมีนโยบายที่จะประกันรายได้ขั้นต่ำให้กับประชาชน ก็เป็นการซื้อเสียงเหมือนกัน เพียงแต่ปรุงแต่งให้คำพูดดูดี ที่น่าห่วงคือการให้เปล่าโดยรัฐมากๆ จะสร้างปัญหาการคลังให้กับประเทศแน่นอน เพราะไม่ชัดเจนว่า รัฐจะหาเงินมาชดเชยค่าใช้จ่ายของรัฐสวัสดิการนี้อย่างไร

แล้วเราจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างไร ในทางเศรษฐศาสตร์ ความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจจะมาจากสององค์ประกอบ หนึ่ง ความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่เดิมในระบบเศรษฐกิจ ณ จุดเริ่มต้น ที่เป็นผลผลิตจากอดีต(Initial Inequality) ตัวอย่างเช่น คนเราเกิดมาก็มีความเหลื่อมล้ำตั้งแต่เกิด เพราะเกิดในครอบครัวที่มีฐานะต่างกัน สอง ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงในช่วงต่อมาเป็นผลจากการทำงานของระบบเศรษฐกิจ ดังนั้นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากอย่างเช่น ประเทศไทย จะเป็นผลจากความเหลื่อมล้ำในอดีตที่มีอยู่เดิม บวกกับความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นจากการทำงานของระบบเศรษฐกิจ

ความคิดดั้งเดิมของนักเศรษฐศาสตร์ เชื่อว่าภายใต้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม การเติบโตของเศรษฐกิจควรทำให้ความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจลดลง เพราะระบบเศรษฐกิจมีกลไก หรือ equalizing factor ที่จะลดความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจพร้อมการเติบโตของเศรษฐกิจ กลไกเหล่านี้ก็เช่น หนึ่ง นโยบายเศรษฐกิจที่เปิดเสรีที่นำไปสู่การแข่งขันที่เปิดโอกาสให้ทุกคน ไม่ว่ารวยหรือจนได้ประโยชน์ สอง ระบบภาษีของประเทศจะเก็บภาษีคนรวยมากกว่าคนจน รวมทั้งมีภาษีที่เก็บจากทรัพย์สิน เช่น บ้าน ที่ดิน หุ้น ที่จะช่วยให้ความเหลื่อมล้ำลดลง สาม นโยบายของภาครัฐเปิดโอกาสให้คนรายได้น้อยสามารถเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจเพื่อยกระดับฐานะของตน เช่น เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ การมีงานทำ สินเชื่อของสถาบันการเงิน นำมาสู่การเติบโตของรายได้และฐานะ สี่ ความเข้มแข็งของการบังคับใช้กฎหมายที่จะทำให้การแข่งขันในระบบเศรษฐกิจมีความเป็นธรรม ไม่ใช่ความร่ำรวยจากการทำผิดกฎหมาย เช่น การทุจริตคอร์รัปชัน เพราะสังคมมีการตรวจสอบที่เข้มแข็ง นี่คือ สี่กลไกที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำพร้อมการเติบโตของเศรษฐกิจ

ดังนั้น ในประเทศที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำรุนแรง เช่น กรณีของประเทศไทย ก็ชัดเจนว่า กลไกหรือ equalizing factor เหล่านี้ไม่ทำงานหรือทำงานในทิศทางตรงกันข้าม ทำให้ความเหลื่อมล้ำยิ่งมีมากขึ้นพร้อมการเติบโตของเศรษฐกิจ ดังนั้น การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำก็คือต้องทำให้กลไกลดความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันที่เป็นธรรม ไม่ใช่การผูกขาดตัดตอนโดยบริษัทใหญ่ อย่างในปัจจุบัน ระบบภาษีที่ต้องเก็บภาษีคนรวยมากกว่าคนจน มีการเก็บภาษีทรัพย์สิน นโยบายรัฐเปิดโอกาสให้ประชาชนมีโอกาสทางเศรษฐกิจในแง่การศึกษา การมีงานทำ และการเข้าถึงสินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพ มีการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันจริงจัง สนับสนุนให้มีความโปร่งใสในการทำหน้าที่ของภาครัฐ และลดปัญหาผลประโยชน์ขัดแย้ง นี่คือ สิ่งที่พรรคการเมืองและรัฐบาลควรต้องทำเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่การแจกเงิน แจกสวัสดิการ ต้องแก้ความสามารถในการหารายได้ของประชาชน ซึ่งเป็นหัวใจของปัญหาความเหลื่อมล้ำ ในแง่นี้ ประเทศไทยจึงมีเรื่องที่สามารถทำได้และต้องทำอีกมากในการแก้ความเหลื่อมล้ำ

ก็ขอฝากข้อคิดไว้แค่นี้สำหรับสิ้นปีนี้ ขออวยพรให้ผู้อ่านทุกท่านมีความสุขในช่วงวันหยุดปีใหม่ และมีความสุขและความเจริญรุ่งเรืองในปีหน้า เพื่อช่วยกันสร้างอนาคตที่ดีขึ้นให้กับประเทศไทยของเรา