ประชาธิปไตยในถุงเงินกับควันปืน

ประชาธิปไตยในถุงเงินกับควันปืน

ไม่ต้องกังวลใจ ไม่มีการโจมตีใครหรือเมืองไทยในบทความนี้

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา รายงานของคณะกรรมาธิการด้านความปลอดภัยในโรงเรียนของรัฐบาลอเมริกัน ก่อให้เกิดการถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อน คณะกรรมาธิการชุดนี้แต่งตั้งโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หลังเหตุการณ์สยองขวัญในวันวาเลนไทน์ หรือวันแห่งความรักปีนี้ ที่โรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในรัฐฟลอริดา ผู้ก่อเหตุการณ์ได้แก่อดีตนักเรียนชายอายุ 19 ปีของโรงเรียนซึ่งบุกเข้าไปในอาคารและยิงนักเรียนและครูตาย 17 คนพร้อมกับบาดเจ็บอีก 17 คน หนึ่งในมาตรการที่คณะกรรมาธิการเสนอให้โรงเรียนทั่วสหรัฐพิจารณานำมาใช้ได้แก่ ให้ครูและบุคลากรพกปืนเข้าไปในโรงเรียน นั่นหมายความว่าในวันหนึ่งข้างหน้าโรงเรียนอเมริกันมีโอกาสเห็นการดวลปืนกันระหว่างครูกับผู้ร้ายคล้ายในภาพยนตร์คาวบอยซึ่งครั้งหนึ่งเป็นที่นิยม

สำหรับผู้ติดตามความเป็นไปในสหรัฐ เหตุการณ์สยองขวัญอันเกิดจากการใช้อาวุธปืนฆ่าคนครั้งละจำนวนมากมิใช่ของใหม่ มันเกิดขึ้นโดยเฉลี่ยมากกว่าปีละหนึ่งครั้ง และไม่เลือกสถานที่เกิดไม่ว่าจะเป็นในโบสถ์ ในมหาวิทยาลัย ในสถานบันเทิง ในงานมหกรรม ในร้านอาหาร หรือในโรงเรียน เช่น เมื่อปีที่แล้วมีผู้กราดยิงด้วยปืนยิงเร็วที่ใช้ในสงครามเข้าไปในงานแสดงดนตรีกลางแจ้งยังผลให้คนตาย 59 คนและบาดเจ็บ 851 คน เมื่อปี 2559 มีผู้บุกเข้าไปยิงในสถานบันเทิง หรือบาร์ขนาดใหญ่ยังผลให้คนตาย 50 คนและบาดเจ็บ 59 คน และเมื่อปี 2555 เด็กหนุ่มคนหนึ่งบุกเข้าไปในโรงเรียนชั้นประถมแล้วยิงเด็กและครูตาย 20 คนพร้อมกับบาดเจ็บอีก 2 คน

รายงานดังกล่าวก่อให้เกิดการถกเถียงกันมากเพราะนอกจากจะไม่เสนอให้หาทางควบคุมการซื้อขายและถือครองอาวุธปืนอย่างเข้มงวดขึ้นตามข้อเสนอของหลายฝ่ายมาเป็นเวลานานแล้ว ยังกลับเสนอให้พกปืนได้อย่างกว้างขวางรวมทั้งในสถานที่อ่อนไหวเช่นในโรงเรียน

ผู้ติดตามความเป็นไปในสหรัฐย่อมทราบดีว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้ภาครัฐไม่สามารถควบคุมการซื้อขายและการครอบครองอาวุธปืนได้รวมทั้งชนิดยิงเร็วที่ใช้ในสงครามเพราะนักการเมืองส่วนใหญ่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของสมาคมปืนแห่งอเมริกา นอกจากนั้น ยังคงทราบกันดีด้วยว่าสมาคม หรือองค์กรเอกชนที่เป็นตัวแทนบริษัทขนาดยักษ์มักมีอิทธิพลเหนือนักการเมือง ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากการสนับสนุนนักการเมืองโดยเฉพาะทางด้านการบริจาคเงินให้ใช้ในการหาเสียง สมาคมของบริษัทผลิตน้ำมัน ของบริษัทผลิตยาและของสถาบันการเงินเป็นตัวอย่างที่อ้างถึงกันบ่อย องค์กรเหล่านี้มีบุคลากรที่ใช้ในด้านการให้ข้อมูลและโน้มน้าวนักการเมืองทุกระดับ สื่อมักเรียกคนพวกนี้ว่า ลอบบี้ยิสต์ หรือนักวิ่งเต้นซึ่งมีข่าวว่านักการเมืองไทยเคยใช้บริการ ในกรุงวอชิงตันอันเป็นศูนย์กลางของอำนาจมีสำนักงานขององค์กรดังกล่าวอยู่หลายพันแห่งซึ่งจ้างนักวิ่งเต้นรวมกันนับหมื่นคน

อนึ่ง เงินที่บริจาคให้นักการเมืองนั้นมิใช่เพื่อการซื้อเสียงเช่นในเมืองไทย หากใช้เป็นค่าจ้างบริษัทโฆษณาประชาสัมพันธ์ ค่าซื้อเวลาจำพวกหน้าจอ หรือหน้ากระดาษของสื่อ ค่าการหาข้อมูลเกี่ยวกับผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งและค่าจ้างผู้ออกไปเดินหาเสียงส่งผลให้นักการเมืองที่มีองค์กรใหญ่ ๆ สนับสนุนได้เปรียบสูง ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้รอบรู้ในด้านการปกครองระบอบประชาธิปไตยมองว่า ในปัจจุบันการปกครองของสหรัฐเป็นประชาธิปไตยเพียงในนาม ซ้ำร้าย เรื่องมิได้จบแค่นั้น ความบิดเบือนยังเกิดขึ้นจากความหวังดีของกลุ่มมหาเศรษฐีที่บริจาคทรัพย์เพื่อการกุศลโดยไม่หวังผลทางการเมืองอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นบิล เกตส์ วอร์เรน บัฟเฟตต์ หรือมาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ประเด็นนี้ David Callahan ได้สาธยายไว้อย่างดีเมื่อปีที่แล้วในหนังสือเรื่อง The Givers: Wealth, Power, and Philanthropy in a New Gilded Age

เมื่อนำปรากฏการณ์ต่าง ๆ รวมทั้งตัวอย่างที่อ้างถึงมาพิจารณา น่าจะสรุปพอเชิงประจักษ์ได้ว่า สังคมใดจะใช้ระบอบประชาธิปไตยปกครองควรหาทางป้องกันมิให้มันถูกบิดเบือนไม่ว่าจะเป็นโดยถุงเงิน กระบอกปืน หรือสิ่งอื่นที่มิได้อ้างถึงในบทความนี้

ตลอดปี 2562 หวังว่าเหตุการณ์ในเมืองไทยจะเกิดจากการใช้สติบนฐานของการมีจริยธรรมของผู้กำถุงเงินและอาวุธปืน และผู้อ่านคอลัมน์นี้จะมีสุขภาพดี มีทรัพย์พอใช้และไร้ความกังวลโดยทั่วถึงกัน สวัสดี