เมื่อแคลิฟอร์เนียออกกฎหมายบังคับให้บ้านสร้างใหม่ต้องมีโซลาร์

เมื่อแคลิฟอร์เนียออกกฎหมายบังคับให้บ้านสร้างใหม่ต้องมีโซลาร์

เมื่อวันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมา มลรัฐแคลิฟอร์เนียได้ผ่านข้อกำหนดเกี่ยวกับอาคาร (California Building Code) ให้บ้านสร้างใหม่

 ให้บ้านสร้างใหม่ทุกหลังต้องมีแผงโซล่าร์เซลล์ โดยมาตรการนี้เป็นการปรับปรุงข้อกำหนดเกี่ยวกับอาคารในเรื่องมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานในอาคารแห่งแคลิฟอร์เนีย ค.ศ. 2019 บรรพ 24 บท 6 (California 2019 Title 24, Part 6, Building Energy Efficiency Standards) ซึ่งได้พยายามแก้ไขมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม แต่ข้อกำหนดดังกล่าวเพิ่งได้รับมติเห็นชอบจากคณะกรรมการมาตรฐานอาคารแห่งแคลิฟอร์เนีย (California Building Standards Commission)

ข้อกำหนดนี้จะมีผลบังคับใช้ในปี ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) ซึ่งจะส่งผลให้พลังงานแสงอาทิตย์ได้รับความนิยมมากขึ้น มลรัฐแคลิฟอร์เนียนั้นถือเป็นมลรัฐที่มีการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์เกินกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณการผลิตของทั้งประเทศสหรัฐ มลรัฐแคลิฟอร์เนียมีพันธกิจที่จะลดการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงลงและผลิตพลังงานจากแหล่งพลังงานทดแทนให้ได้เกินครึ่งภายในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ.2573) การผ่านข้อกำหนดดังกล่าวนี้ถือเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ครั้งนึง เนื่องจากรัฐบาลของประเทศสหรัฐไม่ได้ให้การสนับสนุนนโยบายใดๆ ในเรื่องภาวะโลกร้อน ทั้งนี้ทั้งนั้น ในช่วงของการร่างข้อกำหนดดังกล่าวก็มีข้อโต้แย้งมากมายถึงผลดีและผลเสียของข้อกำหนดนี้ โดยเหตุผลหลักๆ คือ การบังคับให้ติดตั้งโซลาร์เซลล์นั้นเป็นความสิ้นเปลืองและความไม่คุ้มค่าต่อการประหยัดพลังงาน

โดยข้อกำหนดดังกล่าว มีหลักการดังต่อไปนี้

1.ไม่จำเป็นว่าบ้านใหม่ทุกหลังจะต้องมีการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา บ้านใดที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่ได้รับแสงอาทิตย์อย่างพอเพียง จะได้รับการยกเว้น โดยคณะกรรมการมาตรฐานอาคารแห่งแคลิฟอร์เนียจะตั้งคณะทำงานขึ้นมาสำรวจและประเมินพื้นที่ต่าง ๆ นอกจากนี้ อาจจะไม่จำเป็นต้องติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาทุกหลัง หากแต่สามารถร่วมกันติดตั้งโซลาร์เซลล์ในชุมชนได้ เช่น กรณีหมู่บ้านจัดสรรสามารถแบ่งพื้นที่ให้มีโซลาร์เซลล์ของหมู่บ้านโดยลูกบ้านแต่ละคนสามารถเฉลี่ยค่าใช้จ่ายและค่าตอบแทนจากการขายพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตขึ้นได้

2.โซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งนั้นจะไม่สามารถครอบคลุมความต้องการใช้พลังงานภายในครัวเรือนได้ทั้งหมด หากแต่ยังต้องอาศัยพลังงานจากบริการไฟฟ้าในพื้นที่อยู่ นอกจากนี้ พลังงานที่ผลิตขึ้นจากโซลาร์เซลล์นั้นจะต้องถูกใช้ทันที หรือเก็บไว้ในแบตเตอรี่ทันที และส่วนเกินก็จะสามารถถูกส่งไปยังสายไฟฟ้าเพื่อจ่ายให้กับอาคารบ้านเรือนใกล้เคียง โดยสามารถเก็บพลังงานไฟฟ้าไว้ในแบตเตอรี่เพื่อใช้ในตอนกลางคืนที่ไม่มีแสงอาทิตย์ได้ นอกจากนี้บริการไฟฟ้าในแคลิฟอร์เนียมีโปรแกรมเรียกว่า มิเตอร์สุทธิ (Net Metering) ซึ่งกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้และถูกส่งไปขายในสายไฟของบริการไฟฟ้าจะผ่านมิเตอร์ออกไปเป็น “เครดิตไฟฟ้า” เพื่อเอาไว้หักลบกับปริมาณกระแสไฟฟ้าของบริการไฟฟ้าที่ใช้ได้

3.ผู้ติดตั้งโซลาร์เซลล์ประเภทครัวเรือนจะได้รับเครดิตภาษีการลงทุน (Investment Tax Credit) 30% ของราคาการลงทุนติดตั้งโซลาร์เซลล์ในปีแรกของการติดตั้งเพื่อหักลบกับภาษีครัวเรือนตามมาตรา 25D และภาษีอาคารพาณิชย์ตามมาตรา 48 ของประมวลภาษีเงินได้ (The Internal Revenue Code) ทั้งนี้ การติดตั้งโซลาร์เซลล์ในแคลิฟอร์เนียนั้นถูกประมาณราคาไว้ที่ $9,500 (ประมาณ 320,000 บาท) และในปีแรกที่ทำการติดตั้งนั้น ผู้ติดตั้งที่เป็นประเภทครัวเรือนจะได้รับเครดิตภาษี จำนวน $2850 (ประมาณ 96,000 บาท) ซึ่งสามารถใช้หักออกจากจำนวนภาษีเงินได้ที่ต้องจ่ายได้ โดยมาตรการสนับสนุนเชิงภาษีนี้มีผลต่อผู้ติดตั้งโซลาร์เซลล์ก่อนปี ค.ศ. 2020 เท่านั้น หลังจากนั้น เครดิตภาษีจะลดลงเหลือ 26% และในปี ค.ศ. 2022 นั้นเครดิตภาษีจะลดลงเหลือ 0%

สำหรับการติดตั้งโซลาร์เซลล์ในครัวเรือนในประเทศไทยนั้น มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ กฎกระทรวงฉบับที่ 65 ออกตามความในพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 โดยเพิ่มเติมข้อ (6) ของข้อ 1 แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2528) ความว่า “การติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ของระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาอาคารอยู่อาศัยที่มีขนาดพื้นที่ติดตั้งไม่เกิน 160 ตารางเมตร และมีน้ำหนักรวมไม่เกิน 20 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ต้องมีผลการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงที่กระทำและรับรองโดยวิศวกรโยธาตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกรว่าสามารถติดตั้งได้อย่างปลอดภัย และแจ้งให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นทราบก่อนดำเนินการ” จากกฎกระทรวงดังกล่าว การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่ไม่เกิน 160 ตารางเมตรและน้ำหนักไม่เกิน 20 กิโลกรัมต่อตารางเมตรนั้นไม่ถือเป็นการดัดแปลงอาคารและสามารถทำได้โดยต้องมีวิศวกรโยธาควบคุมและตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความปลอดภัย โดยเจ้าของอาคารมีหน้าที่แจ้งให้พนักงานท้องถิ่นทราบก่อนดำเนินการเท่านั้น โดยอาคารที่อยู่อาศัยนี้มิได้หมายความถึงบ้านเดี่ยวเพียงอย่างเดียว หากแต่หมายถึงอาคารซึ่งโดยปกติบุคคลใช้อยู่อาศัยได้ทั้งกลางวันและกลางคืน ดังนั้น ตึกแถว อาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยด้วย ก็ถือว่าเป็นอาคารที่อยู่อาศัยตามกฎกระทรวงข้อนี้เช่นกัน

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่บังคับให้ติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อเป็นมาตรการสนับสนุนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เหมือนมลรัฐแคลิฟอร์เนีย หรือไม่มีการจูงใจในด้านภาษีเฉกเช่นเครดิตภาษีของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย หากแต่มีมาตรการการสนับสนุนในเชิงราคารับซื้อกระแสไฟฟ้าจากผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดเล็กมากโดยอยู่ที่ 8 บาทต่อหน่วย ทั้งนี้ ปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่ขายเข้าระบบจะต้องไม่เกิน 10 เมกะวัตต์

ในแง่ของมาตรการการส่งเสริมการลงทุนในโซลาร์เซลล์นั้น ได้มีมาตรการส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์เซลล์ โดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้ออกประกาศฉบับที่ 9/2560 และฉบับที่ 10/2560 ประกอบกับประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนฉบับที่ 1/2557 โดยกำหนดให้การลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตซึ่งจะต้องเป็นการลงทุนที่ไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาทในกรณีผู้ประกอบกิจการทั่วไป และ 500,000 บาทสำหรับผู้ประกอบกิจการวิสาหกิจขนาดย่อม (SMEs) โดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน โดยสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับแบ่งเป็นสองกรณี ดังนี้

1.มาตรการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร โดยโซลาร์เซลล์และอุปกรณ์จากต่างประเทศ จะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า 10% และภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7%

2.มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคล 3 ปี ในสัดส่วนร้อยละ 50 ของเงินลงทุนในโซลาร์เซลล์เพียงอย่างเดียว ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า ในขณะที่มลรัฐแคลิฟอร์เนียพยายามทำให้โซลาร์เซลล์และพลังงานทางเลือกเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วมโดยมีมาตรการจูงใจและกฎหมายบังคับใช้ดังกล่าว ประเทศไทยกลับใช้มาตรการจูงใจที่ยังจำกัดอยู่เพียงผู้ประกอบการเท่านั้น และเห็นได้ว่าความพยายามส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกในทางกฎหมายของประเทศไทยยังไม่เป็นรูปธรรมเท่าที่ควร

โดย... 

ดร.สรรเพชุดา ครุฑเครือ

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์