อียูและอาเซียนโฉมใหม่ในปี 2562

อียูและอาเซียนโฉมใหม่ในปี 2562

สหภาพยุโรปหรืออียูกับกลุ่มประเทศอาเซียน จริงๆ ในปีใหม่ 2562 นี้ต้องฉลองความสัมพันธ์ครบรอบ 42 ปี ถือว่าเป็นพันธมิตรที่คบหากันมานานมาก

แม้ความสัมพันธ์ดูเหมือนจะราบรื่นดี แต่ในความจริงแล้วอียูและอาเซียนยังคงมองต่างมุม และหาจุดยืนร่วมกันยาก

แต่ในยุคที่ภูมิศาสตร์การเมืองโลก (Geopolitics) ปรับเปลี่ยนขั้วอำนาจเอนเอียงมาทางเอเชียมากขึ้น ทำให้ยุโรปไม่สามารถละเลยที่จะต้องปรับยุทธศาสตร์กับเอเชีย โดยเฉพาะหันมาให้ความสัมพันธ์กับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และกลุ่มประเทศอาเซียนมากขึ้น

ปีใหม่ เปิดศักราชใหม่ ความสัมพันธ์เดิม แต่ต้องยอมรับว่าหลายปีที่ผ่านมายุโรปปรับเปลี่ยนมุมมองและท่าทีในการดำเนินความสัมพันธ์กับอาเซียน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และที่สำคัญปรับมุมมองด้านสังคมและวัฒนาธรรม โดยพยามจะเข้าใจแนวทางและวิธีคิดแบบเอเชียมากขึ้น ทำให้ความสัมพันธ์อียูและอาเซียนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ส่วนประเทศสมาชิกอาเซียนก็ยินดียอมรับกับท่าทีใหม่ของยุโรป และพร้อมร่วมกันพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสองภูมิภาคให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น

ในปี 2562 นี้ จึงเป็นโอกาสทองของไทยในฐานะประธานอาเซียน ที่จะแสดงบทบาทนำในการส่งเสริมความสัมพันธ์อียูและอาเซียน และผลักดันการเป็น ฮับของอาเซียนอย่างที่หวัง

เรามาดูว่าในปี 2562 อียูสนใจประเด็นอะไร และอียูกับอาเซียนมีโอกาสความร่วมมือด้านใดบ้างที่ไทยควรจับตาและดูว่าจะสอดรับกับท่าทีและผลประโยชน์ของไทยในฐานะประธานอาเซียนมากน้อยแค่ไหน

อียูสนใจเรื่องการเมืองและความมั่นคง โดยเฉพาะเรื่องความมั่นคงทางทะเลมากขึ้น

อียูและอาเซียนโฉมใหม่ในปี 2562

เรื่องหลักที่อียูต้องการกระชับความสัมพันธ์กับอาเซียนเห็นจะเป็นด้านการเมืองและความมั่นคง โดยเฉพาะเรื่องความมั่นคงทางทะเล ในแถวทะเลจีนใต้ อียูต้องการเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในภูมิภาค

สำหรับอียูแล้ว อาเซียนถือเป็นจุดเชื่อมต่อสู่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็ว และอียูกำลังจับตาเพื่อสร้างฐานอำนาจทั้งทางเศษฐกิจ การเมือง และความมั่นคง ในยุคที่จีนและรัสเซียมีอิทธิพลการขึ้นเรื่อยๆ ในภูมิภาค และสหรัฐฯ ก็ยังมีฐานอำนาจที่แข็งแกร่งกว่าในภูมิภาคนี้ อียูจึงไม่สามารถละเลยบทบาทของอาเซียนและไทยในภูมิภาคไปได้ แม้ในช่วงหลังๆ รู้สึกว่า อียูจะหันไปให้ความสำคัญในการดำเนินความสัมพันธ์ระดับทิวภาคีกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ หรือเวียดนาม

การต่อสู้กับการทำประมงผิดกฎหมาย หรือไอยูยู แม้หลักๆ จะเกี่ยวกับเรื่องการรักษาทรัพยากรปลาและทรัพยากรทางทะเล แต่อีกด้านหนึ่งมีความเกี่ยวพันกับเรื่องความมั่นคงทางทะเล ที่ไทยควรผลักดันให้มีบทบาทนำในภูมิภาคให้ได้ เพราะในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ไทยได้ลงทุนไปกับการปฏิรูประบบการบริหารจัดการทะเลไปก้าวหน้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านหลายเท่า และสามารถตรวจเรือไอยูยูไม่จะเรือไทยหรือเรือต่างประเทศไม่ให้ทำประมงในน่านน้ำไทยได้ การสร้างบทบาทนำเรื่องไอยูยูในภูมิภาคจึงควรเป็นประเด็นหลักหนึ่งในการเป็นประธานอาเซียนของไทย

ด้านเศรษฐกิจ ผลักดันกาเจรจาเอฟทีเอ หรือเขตการค้าเสรีระหว่างอียูและอาเซียนให้เกิดขึ้นจริง

สถิติทางการค้าและการลงทุนแสดวว่า อียูเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 2 สำหรับอาเซียน และการค้าระหว่างสองภูมิภาคคิดเป็นมูลค่าถึง 226.8 พันล้านยูโร ในปี 2560 เพิ่มขึ้น 9.1% (แบบ year-on-year) สำหรับการลงทุน อียูเป็นนักลงทุนอันดับแรก ด้วย FDI flow จากอียูมาอาเซียนมากถึง 26.3 พันล้านยูโร

หากจะมองดูศักยภาพและความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ รวมทั้งวิเคราะห์ความต้องการของภาคธรุกิจของทั้งสองภูมิภาค ความตกลงเขตการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ ระหว่างอียู-อาเซียนถือได้ว่าเป็น win-win หากแต่หลายปีที่ผ่านมา มีประเด็นการเมืองมาสกัดกั้นความคืบหน้าเอาไว้ ปีนี้ ไทยเป็นประธานอาเซียนควรสานต่อการเจรจาเอฟทีเอในระดับภูมิภาคกับอียูให้สำเร็จ

มองอีกมุมหนึ่ง อียูไม่ได้ละเลยที่จะช่วยอาเซียนในการเดินหน้าบูรณาการทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ในอาเซียนให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น เพราะทั้งนี้ทั้งนั้น เพราะหากอาเซียนเข้มแข็งก็จะเป็นผลดีแก่นักลงทุนและนักธุรกิจยุโรปในการเข้าตลาดเอเชีย คือเปิดตลาดทีเดียว เข้าได้ทุกประเทศ

สุดท้าย เน้นการเชื่อมต่อระหว่างประชาชนให้แน่นแฟ้นขึ้น กลุ่มเยาวชนสองภูมิภาคได้นำเสนอนโยบายอย่างสร้างสรรค์ไว้เมื่อ ก.พ. ปีนี้ในการประชุม EU-ASEAN Young Leader Forum อาทิ ควรให้มีกีฬาระหว่างภูมิภาคโดยไม่มุ่งเน้นนักกีฬาระดับชาติและให้รวม E-sport เข้าเป็นหนึ่งในชนิดกีฬาที่จัดการแข่งขัน เพื่อส่งเสริมและขยายโอกาสการเชื่อมต่อให้ถึงประชาชนในวงกว้างมากขึ้น ประเด็นที่สอง เยาวชนเสนอให้มีการสร้างเวทีและโครงการเแลกเปลี่ยนศิลปินระหว่างสองภูมิภาค เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและส่งเสริมความเข้าใจด้านความต่างทางวัฒนธรรมของกันและกันอีกด้วย 

ทั้งยังเสนอการจัดโครงการแลกเปลี่ยนในภาคประชาชน ที่มากไปกว่าการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ หรือนักเรียนแลกเปลี่ยน โดยเยาวชนเสนอให้ภาครัฐสนับสนุนการเคลื่อนย้ายของคนระหว่างภูมิภาคผ่านโครงการทำงานระยะสั้น (work and travel) และการแลกเปลี่ยนอาสาสมัคร คิดว่าอยากฝากไว้ หลายโครงการน่าสนใจ และไทยในฐานะประธานอาเซียนอาจลองนำไปผลักดันเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของไทยในช่วงปี 2562 ได้เลย

อียูและอาเซียนเองก็ตระหนักถึงศักยภาพอันน่าส่งเสริมนี้ และกำลังหารือถึงการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างสองภูมิภาคให้เป็นระดับ strategic partnership ในอนาคต ไม่น่าจะนานเกินรอ

โดย... 

ดร.อาจารี ถาวรมาศ

ผู้บริหารบริษัทที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และนโยบายเกี่ยวกับสหภาพยุโรป 

สำหรับภาครัฐและเอกชนไทยที่สนใจเปิดตลาดยุโรป

www.access-europe.eu หรือ www.facebook.com/AccessEuropeCoLtd