ความมั่นคงของเกาหลีใต้และการแก้ไขรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่น

ความมั่นคงของเกาหลีใต้และการแก้ไขรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่น

ในปี 2019 ที่กำลังจะมาถึงนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะกลับมาเป็นประเด็นสำคัญทางการเมืองของญี่ปุ่นอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจาก

ชินโซ อาเบะ หัวหน้าพรรค LDP และนายกรัฐมนตรี คนปัจจุบันของญี่ปุ่นชนะการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค LDP เมื่อเดือน ก.ย.2018 ที่ผ่านมา ทำให้อาเบะมีโอกาสที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปอีกหนึ่งสมัย และในสมัยการดำรงตำแหน่งที่จะมาถึงนี้เป็นโอกาสสุดท้าย ที่อาเบะจะสามารถผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สำเร็จก่อนที่จะยุติบทบาททางการเมืองของตนเอง

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นเรื่องภายในของญี่ปุ่น แต่ด้วยความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐฯและข้อพิพาทระหว่างญี่ปุ่นกับประเทศเพื่อนบ้าน ในเอเซียตะวันออก การแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลอาเบะ ที่มีจุดมุ่งหมายสำคัญหนึ่งคือการทำให้สถานะและขอบเขตในการปฏิบัติหน้าที่ของกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นในปัจจุบัน ได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญในลักษณะเดียวกันกับกองทัพของประเทศอื่น ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่นเป็นประเด็นที่ประเทศเพื่อนบ้านของญี่ปุ่นให้ความสนใจ ในฐานะที่เป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ความมั่นคงของตนเอง

ในกรณีของเกาหลีใต้นั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะมีผลให้กองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นมีศักยภาพมากขึ้นและมีขอบเขตการปฏิบัติหน้าที่กว้างขวางมากขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ด้านความมั่นคงของเกาหลีใต้ เนื่องจากเกาหลีใต้อาศัยการเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงกับญี่ปุ่นและสหรัฐฯเพื่อปกป้องตนเองจากการคุกคามของเกาหลีเหนือ แต่ในขณะเดียวกันเกาหลีใต้ก็มีข้อพิพาทกับญี่ปุ่นทั้งในเรื่องประวัติศาสตร์และเขตแดน และที่ผ่านมาเกาหลีใต้ต้องยอมจำนนต่อแรงกดดันของสหรัฐฯที่ต้องการให้เกาหลีใต้สละข้อเรียกร้องด้านประวัติศาสตร์ที่เกาหลีใต้มีต่อญี่ปุ่นเพื่อแลกกับผลประโยชน์ด้านความมั่นคงมาโดยตลอด ดังนั้นจึงมีการคาดการณ์ว่า หากรัฐบาลอาเบะ ประสบความสำเร็จในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ญี่ปุ่นอาจเข้ามามีบทบาทด้านความมั่นคงโดยตรงในคาบสมุทรเกาหลีในอนาคต ทั้งในกรณีที่ญี่ปุ่นถูกโจมตีจากเกาหลีเหนือและในกรณีที่ญี่ปุ่นเข้าร่วมในปฏิบัติการทางการทหารกับสหรัฐฯหรือสหประชาชาติในคาบสมุทรเกาหลี

การเข้ามามีบทบาทด้านความมั่นคงโดยตรงในคาบสมุทรเกาหลีของญี่ปุ่น หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการที่ญี่ปุ่นส่งกำลังทหารเข้ามาในคาบสมุทรเกาหลีเป็นสถานการณ์ที่เกาหลีใต้ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น เพราะนอกจากจะเป็นการตอกย้ำบาดแผลทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจากการยึดครองเกาหลีโดยจักรวรรดิญี่ปุ่นในอดีตแล้ว การมีบทบาทดังกล่าวของญี่ปุ่นยังหมายถึงการเพิ่มขึ้นของอิทธิพลของสหรัฐฯในเอเซียตะวันออก ซึ่งจะส่งผลให้ดุลอำนาจระหว่างสหรัฐฯกับจีนเปลี่ยนไปในทิศทางที่อาจทำให้เกิดการเผชิญหน้ากันมากขึ้นระหว่างสองมหาอำนาจ ทำให้เกาหลีใต้มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งของสองมหาอำนาจมากขึ้น โดยเฉพาะในปัจจุบันที่เกาหลีเหนือยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงของความมั่นคงของเอเซียตะวันออกอยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลง

แต่อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่การเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของมูน แจอิน ในเดือน พ.ค.2017 นโยบายต่างประเทศของเกาหลีใต้ก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากการออกห่างจากสหรัฐฯโดยการมีนโยบายต่อเกาหลีเหนือที่ตรงกันข้ามกับญี่ปุ่นและสหรัฐฯ รื้อฟื้นข้อพิพาทด้านประวัติศาสตร์ระหว่างเกาหลีใต้กับญี่ปุ่นขึ้นมาเป็นประเด็นทางการเมือง และมีท่าทีเป็นมิตรกับจีนมากขึ้น มีนัยว่ารัฐบาลมูนเห็นว่า อิทธิพลของสหรัฐฯในเอเซียตะวันออกเป็นสาเหตุของความตึงเครียดในภูมิภาคและเป็นอุปสรรคต่อความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเกาหลีใต้และเกาหลีเหนือ รวมไปถึงการแก้ไขข้อพิพาททางประวัติศาสตร์ระหว่างเกาหลีใต้กับญี่ปุ่น

หากการเปลี่ยนจุดยืนของเกาหลีใต้ในครั้งนี้เป็นเรื่องถาวร ดุลอำนาจระหว่างสหรัฐฯและจีนในเอเซียตะวันออกจะเปลี่ยนไปในทิศทางที่จีนมีอำนาจมากขึ้น และหากสหรัฐฯยังคงต้องการรักษาผลประโยชน์ของตนเองในเอเซียตะวันออกเอาไว้ สหรัฐฯจะไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากการเรียกร้องให้ญี่ปุ่นมีบทบาทด้านความมั่นคงในภูมิภาคให้มากยิ่งขึ้นไปอีกเพื่อชดเชยช่องว่างที่เกิดขึ้นจากการถอนตัวของเกาหลีใต้

สำหรับญี่ปุ่นนั้น การเปลี่ยนจุดยืนของเกาหลีใต้คือการสร้างแรงกดดันต่อความพยายามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลอาเบะในทางอ้อม เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับบทบาททางการทหารของญี่ปุ่นเป็นประเด็นความขัดแย้งสำคัญของสังคมญี่ปุ่นมาโดยตลอด ซึ่งในระหว่างปี 2015-2016 ที่ผ่านมานั้น รัฐบาลอาเบะก็ประสบกับการต่อต้านอย่างหนักจากนักการเมืองและกลุ่มประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายความมั่นคงที่อนุญาตให้กองกำลังป้องกันตนเองสามารถให้ความช่วยเหลือกองทัพของประเทศพันธมิตรของญี่ปุ่นได้ 

ดังนั้น หากญี่ปุ่นจำเป็นจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้กองกำลังป้องกันตนเองสามารถตอบสนองต่อข้อเรียกร้องทางการทหารของสหรัฐฯได้มากยิ่งขึ้นไปอีก การเมืองภายในของญี่ปุ่นก็จะยิ่งตึงเครียดมากขึ้นจนอาจทำให้ความพยายามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลอาเบะประสบกับความล้มเหลวในท้ายที่สุด ซึ่งความล้มเหลวดังกล่าวก็เป็นประโยชน์ต่อสถานการณ์ความมั่นคงของเกาหลีใต้ด้วยเช่นกัน

[เนื้อหาของบทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่ใช่ความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดแต่อย่างใด]

โดย... 

ภาคภูมิ วาณิชกะ

ศูนย์ญี่ปุ่น-อาเซียนศึกษา สถาบันเอเซียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย