เลือกตั้ง โอกาสในการพัฒนากฎหมายเพื่อประชาชน

เลือกตั้ง โอกาสในการพัฒนากฎหมายเพื่อประชาชน

ในเวลาไม่นานจากนี้ คนไทยจะมีโอกาสเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) เพื่อไปทำหน้าที่แทนตน ในการเลือก ส.ส. ผู้ลงคะแนนเสียงอาจมีแนวทางการพิจารณา

เลือกผู้สมัครเข้ารับการเลือกตั้งได้หลายแนวทางตามความคิด ความเชื่อ หรือความต้องการของแต่ละคน เช่น อาจจะเลือกผู้สมัครที่เป็นคนดี ผู้สมัครที่พูดจาในการหาเสียงได้ถูกใจ ผู้สมัครที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองที่ตนชื่นชอบ หรือผู้สมัครของพรรคการเมืองที่มีแนวนโยบายดีหรือถูกใจมากที่สุด เป็นต้น

การเลือกตั้ง ส.ส. นี้มีส่วนเกี่ยวข้องและเป็นโอกาสในการพัฒนากฎหมายไทยอย่างสำคัญ โดยเฉพาะเป็นโอกาสที่จะทำให้กฎหมายพัฒนาไปในทิศทางที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน จึงอยากจะชักชวนผู้ที่จะไปเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกๆ ท่านผ่านบทความกฎหมายกับการพัฒนานี้ถึงสิ่งที่ควรคำนึงในการเลือกตั้งว่า เราจะเลือกผู้แทนราษฎรเพื่อไปปฏิบัติภารกิจสำคัญอะไรแทนเรา

สัตว์สังคมล้วนมีกฎเกณฑ์ในการอยู่ร่วมกันทั้งสิ้น กฎเกณฑ์การอยู่ร่วมกันของสัตว์สังคมทั้งหลายเริ่มจากสัญชาตญาณของสิ่งมีชีวิต เช่น สัญชาตญาณเพื่อการอยู่รอด เพื่อการดำรงเผ่าพันธุ์เป็นต้น บรรพบุรุษของมนุษย์ก็เป็นเช่นเดียวกัน

มนุษย์ได้สร้างและพัฒนากฎเกณฑ์การอยู่ร่วมกันขึ้นมาหลายชนิด เช่น มารยาทสังคม วัฒนธรรมหรือวิถีชีวิต จารีตประเพณี กฎเกณฑ์ทางศาสนา และกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายเป็นกฎเกณฑ์ทางสังคมชนิดหนึ่งซึ่งเป็นกฎเกณฑ์การอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างเป็นทางการ กำหนดหรือบังคับการกระทำของสมาชิกสังคมและจะฝ่าฝืนไม่ได้ เป็นกฎเกณฑ์ที่มีสภาพบังคับ และมีกระบวนการในการบังคับให้เป็นไปตามสภาพบังคับอย่างอย่างชัดเจนแน่นอนด้วย

ความเชื่อเกี่ยวกับพัฒนาการของกฎเกณฑ์การอยู่ร่วมกันของมนุษย์ตั้งแต่อดีต จนมีกฎหมายอย่างในปัจจุบันอาจมีความหลากหลาย แต่พัฒนาการของกฎหมายโดยแนวคิดตามทฤษฎีกฎหมาย 3 ชั้นของ ศ.ดร.ปรีดี เกษมทรัพย์นั้น ถือว่ากฎหมายได้มีพัฒนาการแบ่งเป็น 3 ยุคคือ

ยุคแรกเป็นยุคกฎหมายชาวบ้าน ซึ่งมนุษย์อาศัยร่วมกันเป็นสังคมขนาดเล็กทุก ๆ คนมีสถานะเป็นสมาชิกคนหนึ่งของสังคมไม่มีใครมีสถานะเป็นพิเศษ ได้มีพัฒนาการสำคัญจากการที่มนุษย์มีความเฉลียวฉลาด มีสติปัญญา สามารถใช้เหตุผลอย่างลึกซึ้งและซับซ้อนกว่าสิ่งมีชีวิตอื่น จึงมีสามารถในการแบ่งแยกว่าสิ่งใดผิด สิ่งใดถูก การกระทำอย่างใดเป็นความชั่ว การกระทำอย่างใดเป็นความดี ความสามารถในการแบ่งผิดถูกชั่วดีนี้ทำให้มนุษย์สร้างหลักศีลธรรมขึ้นเป็นกฎเกณฑ์ของสังคมดั้งเดิมที่กำหนดให้มนุษย์ ไม่ทำความชั่ว ห้ามทำสิ่งที่ผิด และให้ทำเรื่องที่ดี เรื่องที่ถูก และคนในสังคมก็ใช้กฎเกณฑ์นี้สืบทอดกันมาตามคำสั่งสอนของบรรพบุรุษจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่งเรื่อยมา การปฏิบัติซ้ำ ๆ กันมาเป็นเวลานานเกิดเป็นจารีตประเพณีที่คนในสังคมปฏิบัติและยึดถือ เป็นกฎเกณฑ์สังคมที่สมาชิกสังคมได้ร่วมกันสร้างขึ้น และสมาชิกในสังคมร่วมกันบังคับใช้ เป็นกฎเกณฑ์ที่มีเหตุผลทางศีลธรรมของชาวบ้าน เป็นกฎเกณฑ์ที่สังคมสร้างขึ้นเพิ่มเติมจากการกฎเกณฑ์ที่เกิดจากสัญชาตญาณ เช่น กฎหมายห้ามทำร้ายผู้อื่น กฎหมายครอบครัว กฎหมายเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของทรัพย์สินเป็นต้น

ยุคต่อมาเป็นยุคกฎหมายของนักกฎหมาย เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่มีขนาดใหญ่ขึ้นสมาชิกในสังคมมีมากขึ้นเกิดการแบ่งหน้าที่กันทำตามความชำนาญของแต่ละคน มีผู้ทำหน้าที่ตัดสินคดีโดยเฉพาะทำหน้าที่ตัดสินข้อขัดแย้งของสมาชิกสังคมซึ่งเป็นการใช้อำนาจทางตุลาการ โดยในเบื้องต้นก็ใช้กฎหมายชาวบ้านหรือเกณฑ์ที่ใช้เหตุผลทางศีลธรรมและจารีตประเพณีของสังคมเป็นหลักในการตัดสิน แต่เมื่อเกิดปัญหาที่มีลักษณะซับซ้อนและไม่มีหรือไม่สามารถใช้ศีลธรรมหรือจารีตประเพณีในการตัดสินได้ ผู้ตัดสินก็จะใช้เหตุผลทางกฎหมายที่ลึกซึ้งในการสร้างและกำหนดกฎเกณฑ์ที่เหมาะสมเพื่อใช้ในการตัดสินข้อขัดแย้งของสมาชิกในสังคม กฎเกณฑ์นี้จึงเป็นกฎเกณฑ์ที่สร้างขึ้นโดยผู้ตัดสินคดีจากการใช้เหตุผลที่ลึกซึ้งในการปรุงแต่งให้เกิดกฎหมาย เช่น กฎเกณฑ์การครอบครองปรปักษ์ทรัพย์ของผู้อื่น กฎเกณฑ์เกี่ยวกับอายุความ กฎเกณฑ์เกี่ยวกับการกระทำความผิดเนื่องจากความจำเป็น เป็นต้น

ยุคที่สาม ยุคกฎหมายบัญญัติ เกิดจากการการมีสังคมขนาดใหญ่มากเป็นรัฐเป็นประเทศ ปัญหาสังคมสลับซับซ้อนมาก และเกิดมีการปกครองอย่างสมบูรณ์ มีผู้ใช้อำนาจในการปกครอง มีบุคคลหรือองค์กรที่มีอำนาจออกกฎเกณฑ์ของสังคมดำเนินการตามกระบวนการนิติบัญญัติ ออกกฎหมายบังคับใช้กับสมาชิกในสังคม มีเจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินการหรือบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายที่บัญญัติขึ้น กฎหมายบัญญัตินี้ทำให้มีกฎหมายใหม่ ๆ ขึ้นได้อย่างรวดเร็ว โดยใช้เหตุผลทางเทคนิคเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม หรือเพื่อการจัดการสังคมในด้านต่าง ๆ เช่น กฎจราจร กฎหมายป่าไม้ กฎหมายเกี่ยวกับพลังงาน กฎหมายการจัดการทรัพยากร กฎหมายเหมืองแร่ กฎหมายสวัสดิการสังคม กฎหมายเกี่ยวกับเศรษฐกิจ เป็นต้น

เมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งจะเป็นสมาชิกรัฐสภา ซึ่งเป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุดในการบัญญัติกฎหมายทำหน้าที่บัญญัติกฎหมายแทนประชาชน กฎหมายที่บัญญัติขึ้นโดยกระบวนการนี้ส่วนใหญ่เป็นกฎหมายที่ใช้เหตุผลทางเทคนิคที่มีขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาที่สลับซับซ้อนของสังคม และมีผลกระทบอย่างสำคัญต่อวิถีชีวิตของทุก ๆ คน

การบัญญัติและพัฒนากฎหมายโดยมุ่งประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญจึงเป็นภารกิจของผู้แทนราษฎรที่เราจะมอบให้ผู้แทนของเราไปดำเนินการแทนเรา เพราะการบัญญัติ การแก้ไข เปลี่ยนแปลงกฎหมายโดยผู้แทนประชาชนที่แท้จริงจะเป็นการพัฒนากฎหมายเพื่อประโยชน์ของประชาชน

การที่เราจะพิจารณาเลือกผู้สมัครเข้ารับการเลือกตั้งเราจึงควรให้ความสำคัญต่อคุณสมบัติของผู้ที่จะไปเป็นตัวแทนของเราในรัฐสภาด้วยว่ามีทักษะชีวิต มีความสามารถ และความมุ่งมั่นที่จะไปบัญญัติ แก้ไข เปลี่ยนแปลงกฎหมายเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนเป็นสำคัญหรือไม่ เพราะการบัญญัติกฎหมายในปัจจุบันซึ่งเป็นกฎหมายเทคนิคนั้นต้องอาศัยความรู้ความสามารถที่หลากหลายและซับซ้อนซึ่งกฎหมายที่ออกมาก็จะมีผลถึงวิถีชีวิต และคุณภาพชีวิตของเราต่อไป

โดย... 

ธรรมรักษ์ จิตตะเสโน

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์