แนวโน้มเศรษฐกิจโลกปี 2562

แนวโน้มเศรษฐกิจโลกปี 2562

เศรษฐกิจโลกที่เริ่มต้นได้ดีในปี 2561 กลับชะลอตัวลงหลังไตรมาสที่ 1 จากแรงฉุดของเศรษฐกิจ ยุโรป ญี่ปุ่นและจีน

แต่ในทางกลับกันเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปรับตัวดีขึ้นผ่านมาตรการทางการคลังที่กระตุ้นอย่างต่อเนื่องจนทำให้เกิดคำถามว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2562 จะมีแนวโน้มเป็นอย่างไร ซึ่งอาจมองผ่าน 10 ข้อสังเกตเบื้องต้นดังต่อไปนี้ :

 เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เติบโตจากนโยบายทางการคลังผ่านการลดเพดานภาษีและการใช้จ่ายภาครัฐเมื่อต้นปี 61 จะยังคงอานิสงส์นี้ต่อไปถึงปี 62 และทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโตประมาณ 2.6%

  1. ยุโรปจะมีอัตราการเติบโตที่ลดลงจากปี 61 ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยลบด้าน นโยบายด้านสินเชื่อที่ตึงตัวขึ้น การชะลอตัวของการค้าโลก เงินยูโรที่แข็งค่าและความเสี่ยงทางการเมืองของประเทศอิตาลี ฝรั่งเศส อังกฤษและเยอรมัน
  2. เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังเปราะบางถึงแม้มีนโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายอย่างมาก โดยปัจจัยลบมาจากการค้ากับประเทศจีนที่ชะลอตัวลงและการติดร่างแหสงครามทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ซึ่งถึงแม้จะมีตัวช่วยจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการแข่งขันโอลิมปิกในปี 63 แต่แรงผลักดันนี้ก็จะอยู่ในวงและเงื่อนเวลาที่จำกัด
  3. เศรษฐกิจจีนยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่องโดยเติบโตที่ 6.3% ในปี 62 แต่อย่างไรก็ตามรัฐบาลจีนมักจะตอบโต้สถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัวอย่างรวดเร็วผ่านมาตรการทางการเงินและการคลังเพื่อประคองการเติบโตจึงไม่น่าเป็นห่วง
  4. การเติบโตในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจะลดระดับลงจาก 4.8% เหลือ 4.6% ในปี 62 ซึ่งในปีหน้านี้จะมีความท้าทายหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วที่ชะลอตัวและฉุดบรรยากาศโดยรวม สภาพคล่องทางการเงินทั่วโลกที่ตึงตัวขึ้น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีความผันผวน รวมทั้งสถานการณ์การเมืองของหลายประเทศไม่ว่าจะเป็นบราซิลหรือเม็กซิโกที่อาจทำให้การลงทุนตรงจากประเทศพัฒนาแล้วลดลง อย่างไรก็ตามกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีเศรษฐกิจที่เติบโตโดยมีหนี้สาธารณะที่ไม่สูงจนเกินไปในเอเซียเช่น ไทย ยังน่าจะประคองอัตราการเติบโตไว้ได้
  5. ความผันผวนในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์จะมีต่อไป บนความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่โตช้าลงและค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้นแต่ภาพรวมคงไม่ต่างจากปี 61 มากนัก
  6. อัตราเงินเฟ้อโลกจะไม่แตกต่างจากปีที่ผ่านมาโดยในปี 59 อยู่ที่ 2% และในปี 61 อยู่ที่ 3% ซึ่งปัจจัยหลักในการขยับของเงินเฟ้อมาจากกลุ่มประเทศพัฒนาที่ปรับตัวจากเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ติดลบมาเป็นบวก และจะทยอยขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในกรอบประมาณ 2%
  7. นโยบายธนาคารกลางของกลุ่มประเทศหลักจะดำเนินนโยบายตามสถานการณ์ตน โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 3 ครั้งในปี 62 ส่วนธนาคารกลางอังกฤษน่าจะขึ้นดอกเบี้ยหลังกระบวนการ Brexit จบลง ส่วนธนาคารกลางแคนาดาและกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เช่น บราซิล อินเดีย รัสเซีย ก็จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีหน้าเช่นกัน ส่วนธนาคารกลางยุโรปและญี่ปุ่นจะยังไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจนกระทั่งปี 63 และ 64 ตามลำดับส่วนธนาคารกลางจีนจะยังคงรักษาอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับที่ต่ำเพราะกังวลอัตราการเติบโตเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
  8. ดอลลาร์สหรัฐฯ จะยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินอื่นในโลกโดยอัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์สหรัฐฯ น่าจะคงในระดับเดียวกันกับปัจจุบันตลอดปี 62 แต่อย่างไรก็ตามความตึงเครียดทางการเมืองในกลุ่มประเทศยุโรปและอังกฤษจะส่งผลเชิงลบกับอัตราแลกเปลี่ยนของสกุลเงินยูโรและปอนด์สเตอร์ลิง โดยคาดว่าอัตราแลกเปลี่ยนยูโรต่อดอลลาร์ช่วงปลายปี 62 จะอยู่ประมาณ 1.10 ส่วนอัตราแลกเปลี่ยน ดอลลาร์ต่อหยวนจะอยู่ประมาณ 7.0
  9. ความเสี่ยงในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจะเพิ่มขึ้นแต่จะยังไม่ถึงระดับที่ทำให้เกิดเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของธนาคารกลางกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ถือเป็นความเสี่ยงหลักในปี 62 ซึ่งเป็นผลจากแรงกดดันหลายด้านไม่ว่าจะเป็นระดับหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้น การขาดดุลทางการค้าของสหรัฐฯ ยุโรปและญี่ปุ่น รวมถึงสงครามทางการค้าซึ่ง ณ ปัจจุบันถึงแม้ยังไม่ส่งผลเชิงลบโดยตรงแต่ได้ส่งผลทางจิตวิทยาซึ่งความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นหากมีการตอบโต้ไปมาจนควบคุมสถานการณ์ไม่อยู่

 โดยสรุปคาดว่าเศรษฐกิจโลกปี 2562 จะเติบโตลดลงจาก 3.2% เหลือ 3%  ซึ่งความเสี่ยงของสงครามการค้าที่ยังคงอยู่ อาจทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวเพิ่มขึ้นบนการปรับตัวลงของตลาดหุ้นและสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลก ขณะที่ธนาคารกลางในหลายประเทศลดการกระตุ้นเศรษฐกิจและทยอยขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนทำให้การปล่อยสินเชื่อตึงตัว เมื่อพิจารณาปัจจัยทั้งหมดรวมกับความเสี่ยงของภูมิรัฐศาสตร์โลก อาจเชื่อได้ว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) จะเกิดขึ้นใน 2 ถึง 3 ปี ข้างหน้าครับ