พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปในปี 2561

พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปในปี 2561

สวัสดีปีใหม่ 2562 ครับ ท่านผู้อ่านทุกท่าน ในช่วงวันหยุดยาวนี้ ขอพาผู้อ่านกลับไปทบทวนถึงการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในสังคมไทย รอบปี

ในรอบปี 2561 ที่ผ่านมา โดยพฤติกรรมเหล่านี้ผมรวบรวมมาจากข้อสังเกตของตนเองและบุคคลรอบๆ ตัว ไม่ได้มุ่งไปที่บรรดาแนวโน้มหรือ Trend ทั้งหลาย ที่ผ่านมาแล้วก็อาจจะผ่านไป แต่จะเน้นในพฤติกรรมใหม่ๆ ของคนไทย โดยกระแสเหล่านี้อาจจะเกิดขี้นมาก่อนระยะหนึ่ง แต่จะสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนมากขึ้นในปี 2561 ที่ผ่านมา และเชื่อว่าจะยังคงอยู่คู่พฤติกรรมคนไทยจำนวนหนึ่งในปีต่อๆ ไป

เริ่มจากความสำคัญของ Google Map ต่อการเดินทางของคนในเมืองใหญ่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ที่ต้องขับรถหรือเดินทางเป็นประจำ Google Map กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่นักเดินทางไม่สามารถที่จะขาดได้ สำหรับผู้ที่คุ้นเคยต่อเส้นทางต่างๆ อยู่แล้ว เมื่อขึ้นหลังพวงมาลัยรถยนต์ก็ยังอดที่จะเปิด Google Map ไม่ได้ เพื่อที่จะดูเส้นทางว่ารถติดมากน้อยแค่ไหนและหาเส้นทางที่รถติดน้อยสุด สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับถนนหนทาง ก็เหมือนจะไม่สนใจที่จะจดจำต่อเส้นทางการเดินทางต่างๆ อีกต่อไปแล้ว เพราะ Google Map สามารถให้คำตอบได้ในทุกสถานการณ์ คุณพ่อบ้านท่านหนึ่งเคยเล่าให้ฟังว่า เนื่องจากเชื่อ Google Map มากเกินไป จนถึงขั้นที่ถูกคุณแม่บ้านขู่ไว้เลยว่า “ตกลงจะเชื่อ Google หรือ เชื่อฉัน”

จาก Google Map ก็ขยับมาที่บริการ Subscription Streaming ที่คนไทยหันมาใช้บริการกันมากขึ้น โดยหลักการของ Subscription Streaming นั้นคือการบริโภคต่อเนื้อหาต่างๆ โดยไม่ต้องเป็นเจ้าของเนื้อหา และสามารถที่จะเลือกเสพเนื้อหาต่างๆ ตามที่ต้องการ ในเวลาที่ต้องการ และในสถานที่ใดก็ได้ในโลกนี้ ตัวอย่างของ Subscription Streaming ที่เราคุ้นเคยก็อาทิเช่น การดูหนังผ่านทาง Netflix การฟังเพลงผ่านทาง Spotify หรือ Joox การอ่านหนังสือผ่านทาง Blinkist เป็นต้น

อีกพฤติกรรมหนึ่งที่เห็นถึงการเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนมากขึ้นในรอบปีที่ผ่านมาคือ เรื่องของการ Check in ตามกิจกรรมหรือสถานที่สำคัญต่างๆ เมื่อมีกิจกรรมหรือการเกิดขึ้นของสถานที่แห่งใหม่ที่น่าสนใจ พฤติกรรมหนึ่งที่จะเกิดขึ้นคือการเข้าไป Check in ในสถานที่หรือกิจกรรมเหล่านั้น ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ เหมือนกับประกาศให้คนอื่นได้ทราบว่า ตนเองก็ได้มาแล้ว

เมื่อเขียนถึงสื่อสังคมออนไลน์นั้น ก็จะเห็นอีกกระแสพฤติกรรมหนึ่งที่เกิดมากขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา นั้นคือการใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นเครื่องเตือนความทรงจำถึงเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในFacebook ที่จะชอบเตือนความทรงจำว่าวันนี้ในอดีตแต่ละคนได้โพสต์อะไรไว้บ้าง ทำให้เริ่มเห็นกระแสมากขึ้นว่าในหลายๆ โพสต์ของหลายๆ ท่านมักจะจั่วหัวในทำนองว่า โพสต์ไว้เพื่อให้เฟสบุ๊คเตือนขึ้นมาในปีหน้า” ทำให้เห็นอีกหนึ่งประโยชน์ของสื่อสังคมออนไลน์ว่ากลายเป็นที่เก็บรวบรวมและเตือนความทรงจำกัน

นอกจากนี้แนวโน้มที่สังเกตพบได้ในปีที่ผ่านมาเกี่ยวกับการลงข้อความหรือรูปใดๆ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์นั้น ยังแบ่งได้ตามวัยอีกต่างหาก ผู้ใหญ่จำนวนมากที่หันมาใช้สื่อสังคมออนไลน์ เวลาจะลงรูปนั้น ก็มักจะลงเป็นจำนวนมาก โดยอาจจะไม่ได้สนใจที่จะแต่งรูป หรือ เลือกรูปที่ตนเองดูดีที่สุด เป็นลักษณะของการลงรูปเพื่อแจ้งหรือบอกกล่าวให้คนอื่นทราบว่ากำลังทำอะไรอยู่ แต่ถ้าเป็นคนรุ่นใหม่นั้นจะพบว่าการลงรูป จะมีการเลือกที่พิถีพิถันมากกว่า มีการแต่งรูปและเลือกรูปที่ดีหรือเหมาะสมที่สุด โดยมีจุดมุ่งหมายเรื่องของภาพลักษณ์ มากกว่าเพียงบอกว่ากำลังทำอะไรอยู่

การเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมต่างๆ ข้างต้นอาจจะไม่ได้เป็นสิ่งที่สะท้อนต่อคนส่วนใหญ่ในประเทศไทย เพียงแต่เป็นสิ่งที่ผมสังเกตเห็นจากคนรอบๆ ตัวเป็นหลักนะครับ ท่านผู้อ่านก็ลองสังเกตดูได้นะครับ ว่าคนรอบๆ ตัวท่านเป็นดังตัวอย่างข้างต้นหรือไม่