โครงการบัลลังก์เมฆ...ทำไม ปชช. 28 ล้านคน ไม่ได้เงินรายหัว***

โครงการบัลลังก์เมฆ...ทำไม ปชช. 28 ล้านคน ไม่ได้เงินรายหัว***

รัฐบาลสมัยเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ประกาศใช้นโยบายบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค คนทั้งประเทศแซ่ซร้อง สรรเสริญสนับสนุน

มีทั้งรัฐมนตรีสาธารณสุข แพทย์ผู้ใหญ่ระดับที่เรียกตัวเองว่าราษฎรอาวุโส ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาด กูรูจากองค์กรพัฒนาเอกชนที่โด่งดังและอีกมากมาย เข้าร่วมผลักดันโครงการนี้ ก็คิดว่าจะเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์กับประชาชนถ้วนหน้าจริงๆ

ที่บ้านมีสมาชิกครอบครัว พ่อ แม่ ลูกสองคน รวมเป็น 4 คน ตลอดเกือบ 15 ปีที่ผ่านมา ที่ประเทศไทยมีระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ แจกบัตรทองพร้อมรับรองเป็นมั่นเป็นเหมาะว่า จ่ายแค่ 30 บาทรักษาทุกโรค พวกเราทั้ง 4 คนได้รับบัตรทอง แต่ไม่มีใครได้ใช้สิทธิจากกองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติ และไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ใดๆ จากรัฐบาล แต่รัฐบาลกลับบอกว่าได้จัดสรรเงินค่ารายหัวให้คนละประมาณ 3,000 บาทต่อคนต่อปี (เฉลี่ย 15 ปี แม้ว่าปัจจุบันจะประมาณ 3,400 บาท) สำหรับทุกคนที่ไม่ได้รับสวัสดิการข้าราชการและสวัสดิการประกันสังคม ได้ให้เงินก้อนนี้ผ่าน สปสช. บริหารจัดการเพื่อเป็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่เรียกว่า Universal Coverage (UC)

โดยหลักการประกันสุขภาพถ้วนหน้า ย่อมเป็นที่เข้าใจว่าทุกคนจะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลจากรัฐ ประมาณ 3,000 บาทตามค่ารายหัวเมื่อเข้ารับการรักษาพยาบาลยามเจ็บป่วย และถ้าใครไม่มีการเบิกจ่าย เงินค่ารายหัวนี้ก็จะต้องส่งคืนให้เราหรือประชาชนแต่ละคน เพราะรัฐบาลได้จัดสรรให้ทุกคนอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม ไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไร เพราะเป็นเรื่องถ้วนหน้า แต่เราไม่เคยได้รับเงินค่ารายหัวปีละ 3,000 บาทตั้งแต่เริ่มต้นเมื่อ 15 ปีที่แล้วแม้แต่บาทเดียว เคยคิดเล่นๆว่าถ้าเราได้คนละ 3,000 บาทรวม 4 คนจะได้เงิน 12,000 บาท คูณด้วย 15 ปี เราก็น่าจะได้เงินค่ารายหัวสะสมเป็นเงินประมาณ 180,000 บาท โดยประมาณ แต่ถ้าคิดในภาพรวมที่มีคนอีกประมาณ 30 ล้านคนที่ไม่ได้เงินนี้จาก สปสช. ก็จะเป็นเงินถึง 1.35 ล้านล้านบาท แต่ในความเป็นจริง เราไม่เคยได้รับ เพราะองค์กร สปสช. เสนอของบประมาณจากรัฐบาลเป็นรายหัว แต่ไม่ได้จ่ายเงินให้ประชาชนเป็นรายหัว เงินนี้จึงเหมือนเงินที่ลอยอยู่กับเมฆบนท้องฟ้า ไม่เคยตกมาถึงมือจริง เป็นเงินบน บัลลังก์เมฆ

ถามว่า แบบนี้มันเป็นธรรมหรือไม่กับคนเกือบ 30 ล้านคนที่ควรได้เงินจากรัฐบาลทุกปี ถ้าเขาเป็นคนหนุ่มสาว ดูแลตัวเองดี มีสุขภาพดี ไม่เจ็บไม่ป่วย ไม่ต้องเข้ารักษาพยาบาล ทำประกันชีวิตและสุขภาพเองกับบริษัทประกันภาคเอกชน แล้วทำไม สปสช. ไม่จ่ายเงินค่ารายหัวคืนให้เขา เพื่อที่เขาเหล่านั้นจะได้เอาไปทำประโยชน์อื่นๆที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต หรือนี่เป็นการลงโทษ ที่พวกเขามีสุขภาพดี ไม่เจ็บป่วย อย่างนั้นหรือ

เคยพูดและเขียนบทความเรื่องนี้หลายต่อหลายครั้งว่า มันไม่เป็นธรรม เพราะเมื่อรัฐบาลให้เงินเป็นค่ารายหัวทุกคนเสมอภาคกันแล้ว ทำไม สปสช. จึงไม่คืนเงินให้ผู้ที่ไม่ได้ใช้สิทธิ เพราะถ้าเป็นเช่นนี้มันไม่ใช่เรื่องถ้วนหน้า แต่เป็นเรื่องบางคน ยิ่งไปกว่านั้น หลักการของประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ Universal Coverage นอกจากจะครอบคลุมทุกคนแล้ว ยังควรครอบคลุมทุกโรค ไม่ใช่มีข้อจำกัดโรคนั้นโรคนี้ โรคนี้ได้อย่างนั้นโรคนั้นได้อย่างนี้ จำกัดเพดานโรคนี้อย่างนั้นเพดานโรคนี้อย่างนี้ เพราะการรักษาพยาบาลผู้ป่วยแต่ละคนผู้ที่รักษาคือแพทย์เป็นผู้ใช้ดุลพินิจการรักษา องค์กรจะไปรู้ได้อย่างไร แบบนี้มันไม่ใช่ Universal แล้ว งบประมาณแบบเหมารวมของ สปสช. จึงไม่ได้สะท้อนความเป็นจริง 

วิธีการของบประมาณของ สปสช. นับว่าแปลกประหลาดมหัศจรรย์ยิ่งนัก ลักษณะการของบประมาณกับการใช้งบประมาณมันไม่ได้สะท้อนกัน เพราะเวลาตั้งงบประมาณตั้งเป็นรายหัวกวาดมาทั้งหมดเกือบ 50 ล้านคน ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วหมุนเวียนใช้กับคนประมาณ 20 ล้านคน ที่มาใช้บริการในแต่ละปี แล้วก็ใช้วิธีเกลี่ยกันไปเกลี่ยกันมา ไม่เคยเห็นที่ประเทศไหนเขาทำกันแบบนี้เลย มันวัดผลกันไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นวิธี cost/benefit, cost/effectiveness, cost sharing, interest sharing, benefit sharing เหมารวมๆกัน ทำให้เกิดคำถามมากมายเกี่ยวกับประสิทธิภาพประสิทธิผล ผลิตภาพ ประโยชน์ที่ได้รับ วัดไม่ได้เลย รัฐบาลน่าจะมีวิธีคิดที่ตรงไปตรงมามากกว่านี้ แบบนี้มันง่ายเกินไป การตั้งงบประมาณแบบเหมารวมนี้ไม่ต่างกับแนวทางประชานิยม เพราะเหวี่ยงแหให้ประชาชนทุกคนรู้สึกว่า...คุณก็ได้ ฉันก็ได้...ทั้งๆที่บางคนเขาไม่อยากได้ เพราะเขามีอยู่แล้วที่ดีกว่า

ระบบประกันสุขภาพภาคเอกชนของเราเติบโตแข็งแกร่ง และดูแลประชาชนได้ประมาณ 20% ของประชากรทั้งประเทศ รัฐบาลก็ส่งเสริมสนับสนุน ใครซื้อประกันชีวิตประกันสุขภาพ และแม้แต่ซื้อประกันสุขภาพให้บิดามารดา ก็ได้รับค่าลดหย่อนภาษี ไม่ต่างกับที่ตั้งงบประมาณในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่เปรียบเสมือนการร่วมจ่ายแฝง โดยรัฐบาลร่วมจ่ายเหมือนภาคประกันสังคมที่รัฐบาลสมทบให้ผู้ประกันตน บริษัทประกันชีวิตประกันสุขภาพก็ได้รับเบี้ยประกันมหาศาลปีละกว่าแสนล้านบาท สร้างผลกำไรกันถ้วนหน้า รัฐบาลก็ได้ดีด้วย เพราะเงินเบี้ยประกันชีวิตต้องอยู่กับบริษัทยาวนานเป็นสิบๆปี สามารถเอาไปลงทุนพัฒนาประเทศได้อีกต่อหนึ่ง แต่ที่สำคัญคือระบบประกันชีวิตประกันสุขภาพของภาคเอกชนนี้ไม่มีเรื่องการเหมาจ่าย แต่ละคนที่ทำประกันจะเป็นคู่สัญญาเฉพาะราย การเปลี่ยนแปลงแก้ไขสัญญาประกันทำได้ตลอดเวลา แบบนี้ประสิทธิภาพการบริหารจัดการก็ต้องดีกว่าแบบเหมารวม สามารถลงในรายละเอียด ชัดเจนว่าเจ็บป่วยอะไรได้ค่าชดเชยเท่าไร คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของทุนประกัน ไม่ต้องมาใช้ดุลยพินิจ เศรษฐานะ ความเดือดร้อน เพราะมันวัดกันไม่ได้

ถามว่า ถ้ารัฐบาลทำแบบนี้ได้หรือไม่ ก็ต้องตอบว่าน่าจะทำได้ เพราะตอนนี้เราเริ่มต้นที่ดูแลผู้ได้รับสวัสดิการจากรัฐแล้ว ทุกคนขึ้นบัญชี และรัฐบาลได้ออกบัตรสวัสดิการให้กับทุกคนแล้ว 11 ล้านคน กำหนดได้เลยว่าบริการสุขภาพจะได้เท่าไรในแต่ละปี โรงพยาบาลก็เบิกจ่ายตัดบัญชีกับรัฐได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านคนกลาง ส่วนคนที่เหลือที่คิดว่าน่าจะได้รับสวัสดิการจากรัฐเช่นกัน แต่ไม่มีคุณสมบัติครบ รัฐบาลก็ต้องออกแนวทางช่วยเหลือเป็นลำดับ มากน้อยตามเศรษฐานะของประชาชน ถ้าใครไม่ลงทะเบียน ก็แสดงว่าดูแลตัวเองได้ ไม่ต้องการรับบริการจากรัฐ ไม่ต้องไปตั้งค่าหัวเอามาเหมาจ่าย ถ้ารัฐบาลเริ่มคิดเรื่องนี้จริงๆ จังๆ เรื่องวิธีงบประมาณแบบเหมารวมก็น่าจะเลิกได้

ขอย้ำว่า ไม่ได้ให้เลิกหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรายังต้องมีอยู่ ประเทศไทยยังมีคนยากคนจนที่ต้องดูแล ไม่ให้เกิดปัญหากับสังคม แต่มาตรการดูแลต้องปรับเปลี่ยนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตรวจสอบได้มากขึ้น และช่วยเหลือตรงจุดได้มากขึ้นและที่สำคัญคือช่วยให้สังคมเป็นธรรมมากขึ้นด้วย เพราะเงินทั้งหมดมาจากภาษีประชาชน

 

*** ชื่อเต็ม : โครงการบัลลังก์เมฆ...ทำไมประชาชน 28 ล้านคน ไม่ได้เงินค่าใช้จ่ายรายหัวจาก สปสช.

โดย... ดร.เฉลิมพล ไวทยางกูร