รัฐบาลเทพารักษ์

รัฐบาลเทพารักษ์

วันที่ 26 ธันวาคม เป็นวันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่เป็นอุทยานแห่งชาติ

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ประมาณ 18% (หรือประมาณ 92,000 ตร.กม.) ของพื้นที่ประเทศทั้งหมดประมาณ 513,000 ตร.กม. ซึ่งในพื้นที่อนุรักษ์เหล่านี้ จากการสำรวจสถานภาพสัตว์ป่าของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ทั่วประเทศ ในปี 2553 พบว่ามีสัตว์ป่าสำคัญๆที่เคยมีกระจายอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ในทุกภาคของประเทศ กลับกลายเป็นพบสัตว์ป่าเหล่านั้นในพื้นที่น้อยกว่า 10% ของพื้นที่ประเทศ บางชนิดอยู่ในภาวะวิกฤติ เช่น เสือโคร่งและเสือดาว พบในพื้นที่เพียง 3% ของพื้นที่ประเทศ, วัวแดง เพียง 1%, ควายป่า เพียง 0.5%, กวางป่าและกระทิง ประมาณ 7% แม้แต่ช้างป่าเอง ก็พบในพื้นที่เพียงประมาณ 8% ของพื้นที่ประเทศ จะเห็นว่าประเทศเรา เหลือพื้นที่ที่มีความหวังของการอยู่รอดของสัตว์ป่าเหล่านี้เพียงน้อยนิดเท่านั้น

ในช่วง 4 ปี ที่รัฐบาล คสช. เข้ามาบริหารประเทศ ผมในฐานะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการระดับประเทศที่เกี่ยวข้องกับอนาคตของสัตว์ป่าไทย คือ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ และคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ได้สัมผัสกับผลงานที่สำคัญๆ ที่รัฐบาลนี้แสดงความเป็นผู้นำในการอนุรักษ์สัตว์ป่าและถิ่นอาศัย ดังจะขอยกตัวอย่างผลงานสำคัญๆ ดังนี้

รัฐบาลเทพารักษ์

1.แก้ไขกฎหมายคุ้มครองช้างอาฟริกา และบังคับใช้กฎหมายควบคุมการค้างาช้างอย่างน่ายกย่องซึ่งเรื่องนี้เป็นผลงานในช่วงแรกๆ ของรัฐบาล คสช. ในช่วงที่ประเทศไทย ถูกนานาประเทศตำหนิเรื่องการไม่ควบคุมการค้าหรือส่งผ่านงาช้างจากช้างอาฟริกา และมีส่วนให้ช้างป่าอาฟริกาถูกล่ามากกว่า 20,000-30,000 ตัวต่อปี รัฐบาล คสช. ในปี พ.ศ. 2558 ได้เร่งรัดออก พ.ร.บ.งาช้าง และเพิ่มช้างอาฟริกา ให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และควบคุมปราบปรามร้านค้างาช้างผิดกฎหมายอย่างจริงจัง จนกระทั่งร้านค้างาช้างผิดกฎหมายในกรุงเทพฯ ลดลงกว่า 90% และในที่สุดประเทศไทยได้รับการยกย่องและได้ปลดไทยพ้นจากบัญชีดำประเทศลักลอบค้างาช้าง ในการประชุมประเทศภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือ อนุสัญญาไซเตส ที่ประเทศรัสเซีย เมื่อต้นตุลาคม 2561

2.ยุติโครงการเขื่อนแม่วงก์ซึ่งหากเกิดขึ้น จะทำลายป่าที่ราบผืนสุดท้ายในผืนป่าตะวันตก ถึงประมาณ 20 ตร.กม. และเกิดผลร้ายต่อสัตว์ป่าอย่างชัดเจน โดยที่โครงการนี้มีการต่อสู้ ประท้วง คัดค้าน และเสนอทางเลือกต่างๆ จากสังคมในหลายภาคส่วนตั้งแต่ก่อนรัฐบาล คสช. โดยมีองค์กรแกนนำคือมูลนิธิสืบนาคะเสถียร แต่ในที่สุดกรมชลประทาน ได้ตัดสินใจถอนเรื่องรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมออกจากการพิจารณา เพื่อหาแนวทางเลือกที่เหมาะสม เมื่อปลายปี 2560 อันถือว่าเป็นการยุติความขัดแย้ง ซึ่งในขบวนการนี้ รัฐบาลชุดนี้ได้พยายามคัดสรร ผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ เข้าบริหารจัดการแก้ปัญหาการจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ จึงทำให้อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ยังเป็นความหวังในการฟื้นฟูเสือโคร่ง ซึ่งเป็นสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ของโลกในอนาคต

3.สร้างแนวเชื่อมต่อสัตว์ป่า ผืนป่าดงพญาเย็น เขาใหญ่หลังจากอนุมัติให้มีการขยายถนนทางหลวงหมาย 304 รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณ กว่า 1,300 ล้านบาท ให้กรมทางหลวง สร้างแนวเชื่อมต่อผืนป่า (Corridor) ระหว่างอุทยานแห่งชาติทับลาน และอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยถือเป็นแนวเชื่อมต่อป่าที่ได้มาตรฐานสูง เป็นที่ยอมรับในระดับสากลแห่งแรกในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งหากแล้วเสร็จในต้นปี 2562 จะทำให้สัตว์ป่า เช่นเสือโคร่ง กวางป่า เลียงผา ได้มีโอกาสเคลื่อนย้ายหากิน ขยายพันธุ์ เพื่อฟื้นฟูผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ให้สมบูรณ์สมเป็นมรดกโลกอย่างแท้จริง

4.ระงับโครงการขยายถนนทางหลวง สาย12 ในอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว โครงการนี้กรมทางหลวงขอขยายถนน จาก 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่อง ช่วงผ่านอุทยานแห่งชาติน้ำหนาวกว่า 70 กม. แต่เมื่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งมีหน้าที่พิจารณาโครงการขั้นสุดท้าย รับทราบข้อมูลเรื่องมีช้างป่า และกระทิง เดินข้ามถนนเส้นนี้เป็นประจำ ได้ลงมติระงับโครงการ และให้กรมทางหลวงกลับไปหาแนวทางเลือกอื่น

5ปรับโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำลำสะพุง ชาวบ้านได้น้ำ สัตว์ป่าภูเขียวปลอดภัยโครงการนี้ มีความขัดแย้งมากว่า 20 ปี ระหว่างหน่วยงานป่าไม้กับชลประทาน แต่เมื่อคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ โดยมี พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธาน รับทราบข้อมูลว่า อ่างเก็บน้ำจะท่วมพื้นที่ป่าไม้ ที่มีต้นไม้ขนาดใหญ่กว่าหมื่นต้น และยังเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าหลากหลายชนิด ท่านได้ลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานราชการ และประชาชน ปรับแบบโครงการโดยการขยับแนวสันเขื่อนลงล่างประมาณ 5 กม. ให้อ่างเก็บน้ำมีขนาดใหญ่ขึ้น และน้ำไม่ท่วมผืนป่าสมบูรณ์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว สัตว์ป่าได้รับการคุ้มครองอย่างเข้มแข็ง โดยมีชุมชนเป็นรั้ว และความสำเร็จตามแนวทางนี้ ได้ใช้กับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอื่นๆ ของประเทศ

6.ตัดตอนการคอร์รัปชั่นเงินรายได้อุทยานแห่งชาติ เพิ่มรายได้กว่าเท่า เรื่องนี้ดูเผินๆ แล้วไม่เกี่ยวข้องกับสัตว์ป่า แต่ที่จริงแล้วเกี่ยวข้องอย่างยิ่ง ตั้งแต่ พล.อ.สุรศักดิ์ฯ เข้าบริหารกระทรวงฯ และได้แต่งตั้งอธิบดีธัญญา เนติธรรมกุล บริหารกรมอุทยานฯ ปรากฏว่าสามารถจัดการปัญหาคอรัปชั่นเงินรายได้อุทยานแห่งชาติอย่างน่าประหลาดใจ โดยสามารถเพิ่มการจัดเก็บ จากเดิม 400-500 ล้านบาทต่อปี เป็น 2,000-2,400 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเงินรายได้ส่วนนี้ สามารถนำไปใช้ในการปฏิรูประบบสวัสดิการ และงานลาดตระเวนป้องกันรักษาสัตว์ป่าและป่าไม้ ในพื้นที่อนุรักษ์อย่างจริงจัง

ที่ยกตัวอย่างมานี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ที่ผมค่อนข้างประหลาดใจ คือ ผู้บริหารชุดนี้ส่วนใหญ่เป็นทหาร หลายครั้งผมตั้งข้อสังเกตุว่าทหารเหล่านี้ ช่างแตกต่างจากทหารในยุคอดีตที่ชอบเข้าป่าล่าสัตว์ จับจองที่ดินป่าไม้เป็นของตัวเอง จนบางรายกลายเป็นคดีดังหลายคดี บางคดีก็มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทำให้ผมอดคิดไม่ได้ว่า หรือว่าพวกเค๊าเคยเป็นทหารเสือราชินีฯ ที่เคยสนองงานภายใต้สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ในรัชการที่ 9 พระผู้ทรงเป็นมิ่งขวัญให้กับคนทำงานอนุรักษ์สัตว์ป่าและป่าไม้และทรงสร้างสรรโครงการอนุรักษ์สัตว์ป่าและป่าไม้นานับประการ จึงทำให้ทหารกลุ่มนี้มีวิสัยทัศน์ สามารถวางกรอบและแนวทางที่เป็นคูณานุปการ สำหรับคนทำงานรักษาสัตว์ป่าและป่าไม้ และเป็นตัวอย่างแก่หน่วยงานที่มีภารกิจสร้างโครงการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะกรมชลประทาน กรมทางหลวง และสังคมไทยโดยส่วนรวมในอนาคต จึงขอถือโอกาสเนื่องในวันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ 26 ธันวาคม 2561 นี้ ระลึกถึงผลงานที่น่ายกย่องของรัฐบาล คสช. ที่ได้ทำหน้าที่สมดังเป็น เทพารักษ์ รักษาสัตว์ป่า อย่างแท้จริง

โดย... 

ดร.อนรรฆ พัฒนวิบูลย์

ผู้อำนวยการสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า WCS ประเทศไทย